วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับจักรพรรดิจีน

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับจักรพรรดิจีน

ต้วน ลี เชิง เขียน

ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี แปล

เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและสัมพันธภาพระหว่างพระองค์กับจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชอาณาจักรจีน ที่ปรากฎในเอกสารของจีนแต่เดิมมีการอ้างอิงกันน้อย ทั้งนี้ คงจะเนื่องจากยังขาดการค้นคว้าและการแปลถ่ายทอดเป็นภาษาไทย ความจริงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และสัมพันธภาพระหว่างพระองค์กับจักรพรรดิเฉียนหลงได้รับการบันทึกในเอกสารของจีน อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในหลายกรณี และน่าจะเป็นประโยชน์พอสมควรแก่การพิจารณาใช้ประกอบการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี ทั้งในด้านพระราชประวัติส่วนพระองค์ และประวัติศาสตร์กรุงธนบุรี รวมทั้งสัมพันธภาพระหว่างกรุงธนบุรีกับราชวงศ์ชิงแห่งอาณาจักรจีนด้วย

บทความเรื่องนี้ จะเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในส่วนพระองค์เกี่ยวกับกรุงธนบุรี รวมทั้งสัมพันธภาพระหว่างพระองค์กับจักรพรรดิเฉียนหลง ตามที่ปรากฎในเอกสารของจีนประเภทต่าง ๆ อันได้แก่ จดหมายเหตุราชวงศ์ชิง และสำนวนเอกสารราชการในราชสำนักชิง รวมทั้งข้อเขียนของเอกชน
พระชาติภูมิของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ใน จดหมายเหตุราชวงศ์ชิง ได้บันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “…แต่เดิมเป็นคนมีฐานะต่ำต้อย ซึ่งอยู่ในชนบท ต่อมาระหกระเหินไปย่านทะเลอันไกลโพ้น และเป็นหัวหน้าของชนเผ่าท้องถิ่นที่นั่น” ( 1 ) และในหนังสือ กุ่ยซื่อเล่ยเก่า ซึ่งเป็นข้อเขียนของเอกชนชื่อ หยูเจิ้งเซี่ย ก็กล่าวว่า “อันเจิ้งเจา (หมายถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี – ผู้แปล) ก็คือชาวจีนนั่นเอง” ( 2 ) ข้อความที่ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นชาวจีนที่อพยพไปจากเมืองจีน ปรากฎว่าขัดแย้งกับเอกสารอื่นซึ่งระบุว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชบิดาเป็นชาวจีนที่อพยพไปจากเมืองจีนและมาอยู่อาณาจักรอยุธยา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงมีพระชาติกำเนิดเป็นชาวไทย เชื้อสายจีน รายละเอียดในประเด็นนี้จะได้กล่าวในโอกาสต่อไป

พระนามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ปรากฎในเอกสารจีนมีการกล่าวถึงหลายอย่างต่างกัน ในจดหมายเหตุราชวงศ์ชิง มีว่า “ผี่เอียซิน” (หมายถึงพระยาสินหรือพระยาตากสินอันเป็นคำแปลทับศัพท์) บ้าง และมีว่า “กันเอินซื่อ” บ้าง (คงจะหมายถึงพระยากำแพงเพชร ซึ่งอาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า “กันเฉิง” ในภาษาแต้จิ๋ว ซึ่งอ่านว่า “กังเซี้ย” เพราะว่าชาวจีนในอยุธยาสมัยนั้นเรียกชื่อเมืองกำแพงเพชร เช่นนั้น ปัจจุบันชาวจีนมักจะเรียกเมืองกำแพงเพชรว่า “หันอิ่ง” ซึ่งอ่านเป็นภาษาแต้จิ๋วว่า “หั่มเท่ง”) สำหรับชาวจีนในเมืองไทยได้เรียกว่า “เจิ้งเจา” (อ่านเป็นแต่ภาษาแต้จิ๋วว่า “แต้เจียว”) มาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งแปลว่า กษัตริย์เจิ้ง เพราะคำว่า “เจา” มาจากคำว่า “เจ้า” ในภาษาไทย ส่วน จดหมายเหตุดานัง (เอกสารของเวียดนาม) เรียกพระนามสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “เจิ้งกั๋วอิง” (อ่านออกเสียงเป็นภาษาจีนกลาง)
เอกสารจีนบางชนิด กล่าวถึงภูมิลำเนาเดิมของพระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าอยู่ในเมืองจีน หากถือตามข้อมูลซึ่งเชื่อถอกันแพร่หลายมากที่สุด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีย่อมทรงมีพระราชกำเนิดเป็นคนไทยเชื้อสายจีน

ภูมิลำเนาเดิมดังกล่าวอ้างถึงไม่ตรงกัน บ้างก็ว่าอยู่ที่ “หุ้ยโจว” บ้างก็ว่าอยู่ที่ “ไห่เฟิง” (หมายถึงไฮฟิง – ผู้แปล) บ้างก็ว่าอยู่ที่ “เฉิงไห่” โดยที่ทั้งสามแห่งนี้ต่างก็เป็นอำเภอในมณฑลกวางตุ้งทั้งสิ้น

ตามผลการสำรวจของผู้เขียน น่าเชื่อว่าพระบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่หมู่บ้านหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ มณฑลกวางตุ้ง เพราะว่าปัจจุบัน ณ ที่หมู่บ้านดังกล่าวซึ่งเรียกว่า “อูเอียตี้” ยังปรากฎสุสานสัญลักษณ์ซึ่งบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ไม่ปรากฎปีที่สร้าง ในหนังสือเรื่อง ประวัติเจิ้งเจา (ประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี – ผู้แปล) ของ ซื่อสือเอ้อเหมยจีซื่อ (เป็นนามปากกา – ผู้แปล) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “บ้านของข้าพเจ้าอยู่ที่หนานเอี๋ยง ห่างจากหมู่บ้านหัวฟู่เป็นระยะทางเพียงไม่กี่ลี้ สมัยเมื่อข้าพเจ้ายังเยาว์วัยเคยไปดูสุสานของเจิ้งเจา ปรากฎว่ามีสภาพปรักหักพังอย่างมากครอบครัวจำนวนไม่กี่ครอบครัวของทายาทตระกูลนี้ ก็มีฐานะยากจนเหลือประมาณ เมื่อคราวต้นศักราชแห่งสาธารณรัฐจีน (ปีแรกของศักราชแห่งสาธารณรัฐจีนเท่ากับ ค.ศ. ๑๙๑๑ หรือ พ.ศ. ๒๔๕๔ -ผู้แปล) ชาวหมู่บ้านเดียวกันได้ช่วยเหลือบูรณะขึ้นใหม่ ปัจจุบันจึงยังแลดูสวยงามเรียบร้อย” ( 3 ) พอจะประมาณได้ว่า สุสานสัญลักษณ์ ซึ่งบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคงจะมีขึ้นก่อนปีศักราชแห่งสาธารณรัฐจีน
น่าสังเกตว่า ตาม บันทึกความทรงจำแห่งแม่น้ำอานเจียง ซึ่งเป็นเอกสารท้องถิ่นของอาณาบริเวณแต้จิ๋ว (อำเภอเฉิงไห่ ก็เป็นอำเภอหนึ่งในแต้จิ๋ว – ผู้แปล) อ้างว่า ชาวแซ่เจิ้ง (แซ่แต้ – ผู้แปล) ในเฉิงไห่ได้อพยพจากอำเภอผูเถียน มณฑลฮกเกี้ยน เมื่อนับถึงสมัยพระบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คงจะเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว ปัจจุบัน ณ ที่หมู่บ้านหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ ยังปรากฎศาลเจ้าประจำตระกูลเจิ้งแห่งหนึ่ง ตามศิลาจารึกแผ่นเล็ก ๆ ซึ่งประดิษฐานข้างประตูศาลเจ้าได้จารึกว่าศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นในปีที่ ๑๑ แห่งศักราชสาธารณรัฐจีน (พ.ศ. ๒๔๖๕ - ผู้แปล) ตามผลการสำรวจปรากฎว่าตระกูลเจิ้งในหมู่บ้านหัวฟู่นี้ไม่ใช่ตระกูลใหญ่โต และส่วนมากมีฐานะยากจนคงจะไม่มีกำลังทุนทรัพย์พอที่จะสามารถสร้างศาลเจ้าประจำตระกูลแห่งนี้ขึ้นได้ จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นกำลังทุนทรัพย์ของทายาทตระกูลเจิ้ง ซึ่งอยู่ต่างประเทศ

นอกจากนั้น สำหรับสุสานสัญลักษณ์ซึ่งบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี น่าเชื่อว่าคงจะมิได้รับการดูแลปฎิสังขรณ์จากสำนักชิง ทั้งนี้ เพราะว่าราชสำนักชิงดูแคลนชาวจีนโพ้นทะเลว่า เป็นบุคคลที่สละละทิ้งฐานะที่เป็นบุคคลของราชสำนัก และเรียกสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าเป็น “หัวหน้าเผ่าชน” อย่างไรก็ดี เนื่องจากชาวหมู่บ้านมีความเคารพสักการะสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังนั้น สุสานนี้จึงดำรงคงอยู่ตลอดถึงปัจจุบัน
สำหรับพระบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี น่าเชื่อว่าได้อพยพมาอยุธยาในต้นรัชสมัยยงเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิง โดยเรือสำเภาแต้จิ๋ว ซึ่งหัวเรือทาสีแดง ในสมัยนั้นลงเรือที่ท่าเรือจังหลิน อำเภอเฉิงไห่ ในหนังสือ ประวัติเจิ้งเจา ของซื่อสือเอ้อเหมยจีซื่อ ได้เล่าว่า “บิดามีนามว่า ต๋า เป็นนักเลงใจคอกว้างขวางนอกรีตนอกรอย ชาวบ้านตั้งสมญานามว่า ต๋านักเลง (คำเดิมไต๋จื่อต๋า แปลว่า ต๋านักเลงในความหมายเป็นคนไม่ดี – ผู้แปล) คำว่า นักเลง หมายถึงนักเที่ยวเตร่ ไม่ประกอบสัมมาอาชีวะ ดังนั้น ด้วยความมีฐานะยากจนไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ประกอบกับชาวบ้านมีความรังเกียจด้วย จึงอาศัยเรือล่องทะเลมาทางใต้” ( 4 )

สาเหตุที่พระบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยสารเรือทะเลอพยพมาใต้ตามที่อ้างถึงในหนังสือดังกล่าว ไม่น่าจะเป็นสาเหตุโดยตรง เพราะว่าในปลายรัชสมัยชิง ชาวอำเภอเฉิงไห่ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่อยุธยากันเป็นจำนวนมากมาย ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุหลายประการที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ดังนั้น พระบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงน่าจะอพยพโดยสาเหตุทำนองเดียวกับชาวอำเภอเฉิงไห่ทั้งหลายที่ทำการอพยพในสมัยเดียวกันนั้น
อาณาบริเวณของอำเภอเฉิงไห่เป็นพื้นที่ซึ่งมีประชากรหนาแน่น แต่ที่ทำกินมีจำนวนน้อย “ที่ดินเพื่อการทำนามีน้อยประกอบกับน้ำทะเลที่ขึ้นลงไอน้ำจากน้ำเค็มที่แผ่กระจายไปทั่วเมื่อปะทะกับลำต้นข้าวกล้า ก็จะทำให้ต้นกล้าเฉาตาย ผลการทำนาจึงแตกต่างกันอย่างมากกับที่ดินซึ่งอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นชาวนาจึงได้ผลเก็บเกี่ยวน้อย แต่ขณะเดียวกันต้องทำงานมาก “ ( 5 ) ผลได้จากการทำนาไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงชีพในระยะเวลาสามเดือน” ( 6 ) ภายใต้สภาวะที่ประชากรมากขึ้น แต่พืชพันธุ์ธัญญาหารและทรัพยากรน้อยลงเช่นนี้ ชาวอำเภอเฉิงไห่จำนวนมากต้องอาศัยการหาเลี้ยงชีพทางทะเลเป็นสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น “อำเภอเฉิ่งไห่ตั้งอยู่ ณ ปลายแม่น้ำหันเจียง พื้นดินต่ำแฉะจึงเกิดอุทกภัยเกือบทุกปี” ( 7 ) ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านอำเภอเฉิงไห่ต้องประสบกับชะตากรรมจากภัยธรรมชาติเป็นนิตย์เช่นนี้ จึงทำให้ขาวนาจำนวนมากตกอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว และเป็นบุคคลไร้อาชีพ บุคคลเหล่านี้มีความจำเป็นต้องทิ้งถิ่นไปยังดินแดนอันไกลโพ้นเพื่อความอยู่รอด นี่เป็นสาเหตุประการแรกที่ทำให้ชาวอำเภอเฉิงไห่ อพยพข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังดินแดนทางทะเลใต้
นอกจากนั้น ในต้นรัชสมัยชิง ทางราชสำนักห้ามประชาชนออกทะเลอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ เนื่องจากกองทัพต่อต้านราชวงศ์ชิงของเจิ้งเฉิงกง ได้อาศัยเกาะไต้หวันและแนวฝั่งทะเลทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานทัพ กระทำการด้วยกำลังทางทหาร เพื่อล้มล้างราชวงศ์ชิงและฟื้นฟูราชวงศ์หมิง กองทัพนี้ครั้งหนึ่งได้ตีถึงอำเภอเฉิงไห่ พู่หนิง และจี๋เอี๋ยง กระเทือนราชบัลลังก์ของราชวงศ์ชิงไม่ใช่น้อย ดังนั้น ราชสำนักชิงในรัชกาลคังซีปีที่ ๑ มีคำสั่งให้ประชาชนตามฝั่งทะเลอพยพให้ห่างจากชายฝั่งทะเลถึง ๕๐ ลี้เข้าสู่พื้นที่ลึกเข้าไป และยกเลิกเขตการปกครองของอำเภอเฉิงไห่ นอกจากนั้น ยังมีบทกฎหมายกำหนดไว้ว่า “บุคคลผู้ใดไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ทหารและประชาชรก็ตาม หากออกทะเลทำการค้าโดยพลการ และอพยพไปพำนักและปลูกพืชไร่ทำกินตามเกาะแก่งต่าง ๆ ให้รู้ถือว่าสมรู้ร่วมคิดกับโจรผู้ร้ายต้อง ระวางโทษประหารชีวิต” ( 9 ) นโยบายห้ามติต่อทางทะเลและอพยพประชาชนเข้าสู่พื้นที่ลึกเข้าไป ได้ดำเนินการอยู่ตลอดระยะเวลา ๒๒ ปี ผลแห่งการนี้ปรากฎว่าเศรษฐกิจตามชายฝั่งทะเลซบเซาและประชาชนฝืดเคืองยิ่งขึ้น ดังนั้น หลังจากที่บุคคลผู้เป็นหลานของเจิ้งเฉิงกงซึ่งมีชื่อว่าเจิ้งเค้อส่วนได้ยอมจำนนต่อราชสำนักชิงในปีที่ ๒๒ แห่งรัชกาลคังซี (พ.ศ. ๒๒๒๖) แล้ว ทางราชสำนักชิงจึงได้เริ่มเปิดด่านศุลกากรอนุญาตให้ประชาชนออกทะเลทำการค้าได้นับแต่นั้นเป็นต้นมา “อาณาเขตทางทะเลมีความสงบสุขสันติประชาชนกับพ่อค้าต่างก็ได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบังเกิดแก่ประโยชน์แก่ประชาชนชาวกวางตุ้ง และฮกเกี้ยนอย่างมาก” ( 9 ) นี่เป็นสาเหตุประการที่สองแห่งการอพยพของประชาชนอำเภอเฉิงไห่
อนึ่ง ปรากฎว่าชาวอำเภอเฉิงไห่ซึ่งอพยพออกนอกประเทศนั้น ส่วนมากได้อพยพมายังอาณาจักรอยุธยาในสมัยนั้น ทั้งนี้เป็นผลจากพัฒนาการทางการค้าข้าวระหว่างไทยกับจีน กล่าวคือเมื่อปีที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๒๖๕) แห่งรัชกาลคังซี จักรพรรดิคังซีทรงรับทราบจากทูตบรรณาการของสยามว่า “ดินแดนแห่งนั้นข้าวอุดมสมบูรณ์มาก ราคาก็ถูกด้วย เงินน้ำหนักประมาณ ๒ - ๓ สลึง สามารถซื้อข้าวได้ถึง ๑ สือ” ( 10 ) (แต้จิ๋วอ่านว่า เจี๊ย – ผู้แปล) ราชสำนักชิงจึงได้ประกาศส่งเสริมการค้าข้าวระหว่างไทยกับจีน เพื่อแก้ไชปัญหาการขาดแคลนข้าวในมณฑลกวางตุ้งและฮกเกี้ยน อำเภอเฉิงไห่ขาดแคลนข้าวในขณะเดียวกันก็มีความชำนาญในการเดินเรือทะเล จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่อำเภอเฉิงไห่ได้สร้างสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นกับอาณาจักรสยาม “พ่อค้าประชาชนชาวอำเภอเฉิงไห่ ซึ่งขอรับใบอนุญาตไปทำการค้าข้าวกับอาณาจักรสยามเพื่อบรรเทาความขาดแคลนของประชาชนนั้น ความจริงได้ดำเนินการมาแล้ว ๔๐ กว่าปี แต่ปรากฎว่าเรือค้าข้าวดังกล่าว ทราบว่าเมื่อเดินทางไปแล้ว จำนวนที่กลับมาอีกมีเพียงห้าถึงหกคนในจำนวนสิบคนเท่านั้น” ( 11 )
กรณีการอพยพมาอาณาจักรสยามของพระบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี น่าเชื่อว่าได้กระทำภายใต้สภาวะดังกล่าวในยุคนั้น ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังไม่ปรากฎข้อมูลมากกว่านี้ แต่ก็สามารถสันนิษฐานว่า พระบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นชาวนาที่แร้นแค้นในสมัยนั้น และการอพยพคงจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับภัยธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันหลายปีในอำเภอเฉิงไห่เมื่อยุคต้นของรัชกาลยงเจิ้งแต่สาเหตุทางอ้อมคงจะเกี่ยวกับการเติบโตทางการค้าข้าวระหว่างไทยกับจีน และนโยบายการผ่อนคลายให้ชาวจีนออกนอกประเทศ รวมทั้งความตื่นตัวของชาวจีนแต้จิ๋วในการอพยพมาพำนักอาศัยในอาณาจักรสยามสมัยนั้น ในต้นยุคแห่งราชวงศ์ชิง
สัมพันธภาพระหว่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับราชสำนักชิง

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้สถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว ทรงมอบหมายให้เฉิยเหม่ยเซิง ซึ่งเป็นพ่อค้าทางเรือชาวจีนนำสาสน์ไปเมืองกวางโจว เสนอขอสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับราชสำนักชิง การที่พระองค์ทรงดำเนินการเช่นนี้คงจะเนื่องจากสาเหตุหลายประการ ประการแรก เนื่องจากสมัยนั้นอยุธยากับจีนอยู่ในสถานะสงครามกับพม่า กล่าวคือทางหนึ่งพม่าลงใต้ตีอยุธยา อีกทางหนึ่งก็ขึ้นเหนือก่อกวนจีน ดังนั้น คงจะมีพระราชประสงค์ให้สงครามต่อต้านพม่าของพระองค์กับสงครามรุกพม่าของจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง มีลักษณะสนับสนุนซึ่งกันและกันการร่วมมือกับจีนอาจมีผลสกัดกั้นการขยายแสนยานุภาพของพม่า ประการที่สอง พระองค์คงจะมีพระราชประสงค์ให้ราชสำนักชิงรับรองทางการทูต เพื่อให้การเสวยราชสมบัติของพระองค์มีความชอบธรรม และได้รับการยอมรับรวมทั้งเพื่อใช้อำนาจการปกครองในฐานะเจ้าประเทศราชต่อเขมรและลาวด้วย ประการสุดท้าย เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าพระองค์คงจะมีพระราชประสงค์ฟื้นฟูการค้าในระบบบรรณาการระหว่างสยามกับจีน ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาช้านาน ทั้งนี้ทางหนึ่งจะได้ซื้อยุทธปัจจัยซึ่งกรุงธนบุรีมีความจำเป็นอย่างมากโดยวิธีทางปกติจากจีน เช่น กำมะถัน เหล็ก ทองแดง เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะได้ขายสินค้าที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของตนเอง อันได้แก่ข้าวและเครื่องเทศด้วย
ส่วนทางราชสำนักชิง ก็ปรากฎว่ามีความใส่ใจอย่างมากในสถานการณ์ของอาณาจักรสยาม จึงแสดงออกถึงความกังวล เมื่อพม่ารุกรานกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ ย่อมจะสืบเนื่องมาแต่ทางจีนก็ทำสงครามกับพม่าด้วย ท่าทีของราชสำนักชิงต่อประเทศต่าง ๆ ในอาณาบริเวณเอเชียอาคเนย์ในสมัยนั้น คือ “ไม่เคยมีความประสงค์เข้าครองครองดินแดนย่านนี้อย่างใดเลย” ( 12 ) อันที่จริงสมรรถนะในการขยายอำนาจไปยึดครองโดยตรงก็คงไม่เพียงพอด้วย จึงมุ่งหวังให้ดินแดนแถบนี้ ดำรงรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจทางการเมือง และปราศจากมหาอำนาจอื่นมาครอบงำ

ข้าหลวงประจำมณฑลยูนนานและกุ้ยโจวมีนามว่าหยางอิ้งจี้ได้กราบบังคมทูลเมื่อเดือน ๔ แห่งปีที่ ๓๒ (พ.ศ. ๒๓๑๐) ของรัชกาลเฉียนหลง เสนอขอให้ร่วมมือกับสยามตีกระหนาบพม่า แต่จักรพรรดิเฉียนหลงไม่ทรงเห็นชอบ พระองค์เห็นว่า “ส่วนการที่จะนัดหมายกับสยามตีกระหนาบนั้นก็ยิ่งจะเป็นเรื่องไร้สาระซึ่งน่าขบขัน การทำสงครามโดยอาศัยกำลังจากประเทศราช นอกจากจะไร้ประโยชน์แล้ว ยังรังแต่จะทำให้ดินแดนในอาณัติเกิดความดูแคลนด้วย จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำเป็นอันขาด” ( 13 ) อย่างไรก็ดี เข้าใจว่าถึงแม้พระองค์จะทรงแสดงว่าไม่เห็นพ้องด้วย แต่ก็ทรงติดใจเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย เพราะว่าทรงรับสั่งให้ข้าหลวงประจำมณฑลกวางตุ้งและกว่างซีซื่อหลี่ซื่อเหยาให้ติดตามสืบเสาะเรื่องราวภายในอาณาจักรสยามอย่างใกล้ชิด แล้วรายงานราชสำนักทางปักกิ่ง
เมื่อเดือนเก้าของปีที่ ๓๒ (พ.ศ. ๒๓๑๐) แห่งรัชกาลเฉียนหลง หลี่ซื่อเหยาทราบข่าวว่าสยาม “ถูกเผ่าท้องลาย (หมายถึงพม่า) ตีเมืองแตก กษัตริย์ของอาณาจักรนั้นหลบหนีหายสาบสูญไป” “แต่เนื่องจากเป็นข่าวเล่าลือ จะเชื่อเสียทีเดียวยังไม่ได้” จึงได้มอบหมายให้นายทหารตำแหน่งอิ๋วจี๋ (คงจะเทียบเท่าผู้บังคับกองพัน – ผู้แปล) ชื่อสี่หยวน โดยสารเรือพาณิชย์ไปสยาม “เพื่อสืบเสาะว่าเท็จจริงเป็นประการใด” ปรากฎว่าสี่หยวนถึงแก่กรรมที่ลิ่วคุร (นครศรีธรรมราช – ผู้แปล) นายทหารผู้ติดตามชื่อม่ายเซินได้กลับถึงเมืองกวางโจว เมื่อวันที่ ๑๑ เดือน ๗ ปีที่ ๓๓ (พ.ศ. ๒๓๑๑) แห่งรัชกาลเฉียนหลง นอกจากนั้น ยังมีบุคคลอื่นที่เดินทางมาถึงพร้อมกันในเรือลำเดียวด้วย คือ อำมาตย์ตำแหน่งชากวนชื่อหลินอี้ และตำแหน่งท่องสื่อชื่อม่อหยวนเกา แห่งเมืองเหอเซียน (พุทไธมาศหรือบันทายมาศหรือฮาเตียน) ซึ่งมีม่อซื่อหลินเป็นเจ้าครองนคร ทั้งนี้ได้นำแผนที่ของสยามมาด้วย ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วันมีพ่อค้าทางเรือคนหนึ่งชื่อเฉินเหม่ยเซิง ซึ่งได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เดินทางมาถึงกวางโจว โดยนำพระราชาสาสน์ขอให้จักรพรรดิเฉียนหลงรับรอง หลี่ซื่อเหยาผู้เป็นข้าหลวงที่ “มีความสามารถและหลักแหลมรอบรู้” “ดำเนินการเรื่องเกี่ยวกับเสียนหลอ (สยาม) ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม” สมดังที่จักรพรรดิเฉียนหลงทรงชมเชย เขาสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วนต่อหน้าบุคคลทั้งหลายที่เกี่ยวข้องพร้อมกัน และทำการวิเคราะห์วิจัยแล้ว ประมวลเรื่องราวเป็นเอกสารแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ของเสียนหลอ (สยาม) นำทูลเกล้าฯ ถวายราชสำนัก ณ กรุงปักกิ่ง ( 14 ) ราชสำนักชิงจึงได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสยามโดยยึดถือตามข้อมูลของหลี่ซื่อเหยา

สัมพันธภาพระหว่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับราชวงศ์ชิงอาจจำแนกได้เป็น๓ ระยะเวลา ตามกาลเวลาและพัฒนาการของเหตุการณ์ ดังนี้

1 ระยะเวลาที่ราชสำนักชิง ปฏิเสธการรับรองสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ( ตั้งแต่เดือน 7 ของปีที่ 32 ( พ.ศ. 2310) แห่งรัชกาลเฉียนหลง ถึงเดือน 7 ของปีที่ 35 ( พ.ศ. 2313 ) แห่งรัชกาลเฉียนหลง

ราชสำนักชิงกับราชสำนักกรุงศรีอยุธยา มีความสัมพันธ์อันดีกันตลอดมา เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตกแล้วแต่ปรากฏว่า “ หัวหน้าชนเผ่าต่างๆ ในอาณาจักรแทนที่จะยกย่องเชิดชูรัชทายาทของกษัตริย์เพื่อคิดการกอบกู้ฟื้นฟู กลับต่างแบ่งแยกกันยึดครองแผ่นดิน ตั้งตนเป็นกษัตริย์อย่างผิดวรรณะ ผิดทำนองคลองธรรม ( 15 ) ราชสำนักชิงจึงไม่พอใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์เช่นนั้น สำหรับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ราชสำนักชิงก็เห็นว่า “ มีความสัมพันธ์ฉันกษัตริย์กับข้าราชบริพารต่อกษัตริย์เสียนหลอ ( สยาม ) ปัจจุบันเมื่อตัวเขาตาย เมืองวายวอด ก็บังอาจฉวยโอกาสแห่งวิกฤติการณ์โดยไม่คำนึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งเจ้านายเก่า แทนที่จะเชิดชูยกย่อรัชทายาททำการกอบกู้เอกราชและแก้แค้นทดแทนกลับตั้วต้นเป็นอิสระไม่หยุดย่อน รวมทั้งเพ้อฝันที่จะให้ได้รับการแต่งตั้งรับรอง เพื่ออ้างเอาความเป็นใหญ่ ดังนี้ จึงถือเป็นเรื่องผิดทำนองคลองธรรมและชาติชั้นวรรณะโดยแท้ ( 16 ) “ ด้วยเหตุนี้ นอกจากจะคืนพระราชสาสน์แล้ว จักรพรรดิเฉียนหลงยังมีพระบัญชาให้สภาองคมนตรีร่างหนังสือตอบฉบับหนึ่งในนามของหลี่ซื่อเหยา ตำหนิติเตียนอย่างรุนแรงแล้วให้เฉินเหม่ยเซิงนำกลับ
ในระยะเวลาดังกล่าว ราชสำนักรับทราบเหตุการณ์ต่าง ๆ ของสยาม โดยอาศัยจากม่อซื่อหลินแห่งเหอเซียน (พุทไธมาศ) เป็นสำคัญ แต่ม่อซื่อหลินกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีความขัดแย้งกันอยู่ กล่าวคือเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว พระราชนัดดาแห่งกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีพระนามว่าเจาจุ้ย (หรือเจ้าจุ้ย) เจ้าซื่อชัง (หรือเจ้าศรีสังข์) ทรงหลบไปเหอเซียน (พุทไธมาศ) ม่อซื่อหลินจึงคิดการฉวยโอกาสยามสยามมีความยุ่งยากเดือดร้อน หวังเข้ามาชิงความเป็นใหญ่ในสยาม โดยตั้งเจาจุ้ย (เจ้าจุ้ย) เป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองม่อซื่อหลินเข้าใจความคิดของราชสำนักชิงที่ยึดมั่นในทำนองคลองธรรมของการสืบทอดราชบัลลังก์ ที่ต้องการให้รัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเป็นกษัตริย์จึงใช้กุศโลบายแสดงตนเป็นผู้สนับสนุนเจาจุ้ย (เจ้าจุ้ย) ในการสืบทอดสันติวงศ์ ทำให้ราชสำนักชิงไว้วางใจตน ในขณะเดียวกัน ก็ใส่ความสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเหตุให้ราชสำนักชิงไม่ยอมรับรองกรุงธนบุรี และเหินห่างกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
เมื่อเดือน ๑๐ ของปีที่ ๓๓ (พ.ศ. ๒๓๑๑) แห่งรัชกาลเฉียนหลง จักรพรรดิเฉียนหลงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้หลี่ซื่อเหยา “ให้คัดเลือกนายทหารข้าราชบริพารที่ปรีชาสามารถและซื่อสัตย์เดินทางไปเหอเซียน (พุทไธมาศ) โดยด่วนเพื่อสอบถามม่อซื่อหลิน ถึงสภาพการณ์ที่แท้จริงระยะนี้ของเสียนหลอ (สยาม) ขอให้เขาตอบมาอย่างละเอียดด้วย ดำเนินการโดยด่วนแล้วกราบบังคมทูลเพื่อทราบ” ( 17 ) เมื่อหลี่ซื่อเหยาได้รับพระบรมราชโองการแล้วก็สั่งให้นายทหารตำแหน่งอิ๋วจี๋ประจำจั๋วอี๋เจิ่งชื่อเจิ้งยุ่ย และนายทหารตำแหน่งตูซือประจำซุ่งเต๋อเสีย อาศัยเรือพาณิชย์ของม่อกว่างอี้แล่นไปยังเหอเซียน (พุทไธมาศ) ครั้นล่วงมาแล้วเพียงเดือนเศษจักรพรรดิเฉียนหลงก็ทรงติดตามสอบถามถึงข่าวคราวของบุคคลที่สั่งให้เดินทางไปสืบหาข่าวสาร หลี่ซื่อเหยากราบบังคมทูลตอบว่า “จากทางตะวันออกของกวางตุ้งเดินทางไป ณ ที่นั่น เป็นย่านทะเลนอกเขตแคว้น จำต้องคอยถึงลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ในเดือน ๓ ปีหน้า เรือจึงจะสามารถแล่นกลับมาได้ ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดเวลาแน่นอนในการทราบข่าวคราว ( 18 ) ” ครั้นล่วงมาถึงเดือน ๖ ของปีถัดมา ล่วงเวลาที่เรือแล่นกลับตามที่หลี่ซื่อเหยากล่าวเป็นเวลาหลายเดือนแต่ยังไม่มีข่าวคราวแต่อย่างใด ปรากฎว่าจักรพรรดิเฉียนหลงทรงตำหนิและรับสั่งให้หลี่ซื่อเหยา “ต้องพยายามแก้ไขปรับปรุงการทำงาน” ( 19 ) ในที่สุด เจิ้งยุ่ยกับม้อเหวินหลงซึ่งเป็นขุนนางของม่อซื่อหลินก็เดินทางกลับโดยเรือเดิมมาถึงกว่างโจวเมื่อวันที่ ๒๗ เดือน ๖ หลี่ซื่อเหยาจึงนำความที่ได้รับรายงานกราบบังคมทูลจักรพรรดิเฉียนหลง
สาเหตุที่จักรพรรดิเฉียนหลงทรงกระหายร้อนรนที่จะรับทราบสถานการณ์ของสยาม ก็เพราะว่าหลังจากที่ไม่ประสบผลสำเร็จในการโจมตีพม่าเมื่อปี ๓๒ (พ.ศ. ๒๓๑๐) แห่งรัชกาลเฉียนหลงแล้ว เมื่อปี ๓๔ (พ.ศ. ๒๓๑๒) แห่งรัชกาลเฉียนหลงก็ทำการโจมตีพม่าอีกระลอกหนึ่ง ดังนั้น จึงมีความต้องการให้สยามสกัดจับทหารพม่าที่แตกทัพหนีสภาองคมนตรีแห่งราชวงศ์ชิงได้แต่งหนังสือฉบับหนึ่ง และสั่งให้หลี่ซื่อเหยาประทับตราเพื่อถวายกษัตริย์สยาม “ หากสืบทราบแน่ชัดว่า ทายาทของตระกูลเจา ( หมายถึงรัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ) ได้รับการสถาปนาสืบทอดราชสมบัติขึ้นมาใหม่ ก็ให้นำส่งโดยด่วนโดยทางเรือทะเลในช่วงที่ทางมณฑลยูนานเริ่มเดินทัพเข้าโจมตี ( พม่า ) แต่ปรากฏว่าพวกกันเอินซื่อ ( หมายถึง พระเจ้ากรุงธนบุรี ) ยังคงแอบอ้างตั้งตนยึดครองซึ่งเป็นความกระหายอันไม่ชอบธรรม แสดงว่าอาณาจักรนั้นยังปราศจากผู้มีอำนาจปกครองโดยชอบธรรม ก็ไม่ต้องส่งมอบให้และให้กราบบังคมทูลคืน ( 20 )
เมื่อหลีซื่อเหยาได้รับหนังสือที่สภาองคมนตรียกร่างให้เพื่อส่งสยามแล้ว ได้พิจารณาเห็นว่า “ถึงแม้ว่าทายาทตระกูลเจา (หมายถึง รัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา) ยังมิได้รับการสถาปนาขึ้นมาใหม่ แต่ม่อซื่อหลินผู้เป็นหัวหน้าเหอเซียน (พุทไธมาศ) โดยปกติ ก็มีความนบนอบและเชื่อฟังอยู่ ขณะนี้ได้นัดหมายกับหัวหน้าเผ่าชนเมืองต่าง ๆ แถบชายฝั่งทะเลของเสียนหลอ (สยาม ใช้กำลังโจมตีกันเอินซื่อ หมายถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) หากจะขอให้ช่วยสกัดจับโจรพม่า ก็คงจะดำเนินการให้อย่างดี จึงเลียนแบบหนังสือดังกล่าว ทำหนังสือแจ้งเรื่องราวในนามของตนเอง มอบหมายให้ไช่ฮั่นผู้มีตำแหน่งจั่วอี้เจิ้น โดยสารเรือพาณิชย์นำหนังสือดังกล่าวไป ณ ที่นั่น” ( 21 ) ไช่ฮั่นได้รับคำสั่งให้เดินทางตั้งแต่เดือน ๗ ของปีที่ ๓๔ (พ.ศ. ๒๓๑๒) แห่งรัชกาลเฉียนหลง แต่ถึงเหอเซียน (พุทไธมาศ) เมื่อวันที่ ๒๙ เดือนอ้ายของปีถัดไป ใช้เวลาเดินทางถึงครึ่งปี ไช่ฮั่นอ้างว่า “เมื่ออยู่กลางทะเลถูกลมพัดเสากระโดงขาด หางเสือเรือหัก ( 22 ) ”
จึงเสียเวลาการเดินทาง หลี่ซื่อเหยาจึงเรียกบรรดาลูกเรือ และทหารติดตามมาสอบสวนลับปรากฎว่าได้เบิกความถึงไช่ฮั่นว่า “มีความหวาดกลัวการท่องทะเล เริ่มตั้งแต่วันที่ออกเดินทางจากกวางตุ้ง ก็อ้างว่าเกิดลมพายุ ซึ่งเป็นเท็จเพื่อหาเหตุพัก หลังจากนั้นก็แวะจอดพักตลอดทาง แม้กระทั่งขึ้นฝั่งพักแรมชั่วคราวก็มี จึงทำให้เสียเวลา ( 23 ) ” ไช่ฮั่นจึงต้องโทษจำคุกเพราะเหตุนี้ แต่การเดินทางครั้งนี้ ไช่ฮั่นโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ระเบียบของราชสำนักชิงที่ไม่ยอมมีความสัมพันธ์โดยตรงกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเลิกไปโดยปริยาย กล่าวคือ เมื่อไช่ฮั่นส่งมอบสาสน์ของราชสำนักชิงให้แก่ทางฝ่ายเหอเซียน (พุทไธมาศ) ม่อซื่อหลินเห็นว่า ต้องนำเรื่องนี้แจ้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงจะสามารถบรรลุถึงภารกิจในการ “สกัดจับกุมโจรพม่า” แต่เนื่องจากม่อซื่อหลินกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีเรื่องบาดหมางกันเกรงว่าพระองค์จะไม่เชื่อ จึงขอให้ไช่ฮั่นมีหนังสือประกอบไปด้วย เขารับภาระในการร่างหนังสือให้ เมื่อไช่ฮั่นเห็นชอบแล้วก็จัดส่งไป เอกสารนี้จึงเป็นเอกสารราชการฉบับแรกที่มีถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในนามของสำนักชิง เรื่องนี้ราชสำนักชิงไม่ทราบมาก่อน เมื่อไช่ฮั่นกลับกวางตุ้งแล้วอาจหลงลืมก็มิได้รายงาน ตราบจนถึงเดือน ๘ ของปีที่ ๓๕ (พ.ศ. ๒๓๑๓) แห่งรัชกาลเฉียนหลง เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชสาสน์ตอบ หลี่ซื่อเหยาจึงเบิกตัวไช่ฮั่นเพื่อสอบสวนเรื่องราวทั้งหลายจึงเป็นอันกระจ่าง หลี่ซื่อเหยามีความเห็นว่าไช่ฮั่น “แต่งสารโดยพลการไปที่อื่น เห็นได้ว่าทำไปเพราะเชื่อฟังคำพูดของม่อซื่อหลิน จึงมีการส่งเอกสารถึงกันและกันหลายครั้งหลายคราวกับผู้ช่วงชิงราชสมบัติแห่งสยาม กรณีเช่นนี้ถึงแม้ว่ามิได้บกพร่องเสียหายแก่ทางราชการแต่อย่างใด แต่ก็ถือว่าทำการด้วยความโฉดเขลาเบาปัญญา อย่างไรก็ดี ได้จำคุกไว้เพื่อรอการพิจารณา ซึ่งมีโทษประหารชีวิตในความผิดครั้งก่อนเรื่องฝ่าฝืนหมายกำหนดแล้ว ( 24 ) ” เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นความมีอคติและความดื้อดึงของผู้กำหนดนโยบายทางราชสำนักชิงต่อเรื่องของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
2 ระยะเวลาที่ราชสำนักชิงเริ่มเปลี่ยนแปลงทัศนะที่มีต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ( ตั้งแต่เดือน 7 ของปีที่ 35 ( พ.ศ. 2313 ) แห่งรัชกาลเฉียนหลง ถึงเดือน 8 ของปีที่ 36 ( พ.ศ. 2314 ) แห่งรัชกาลเฉียนหลง )

ในช่วงนี้ ถึงแม้ว่าราชสำนักชิงยังคงยืนกรานไม่รับรองพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่มีทัศนะที่เปลี่ยนไป โดยเริ่มประจักษ์ว่า “ รัชทายาทของตระกูลเจา ( กษัตริย์อยุธยา ) ตกต่ำถดถอยอย่างที่สุด และสถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างสิ้นเชิงของกันเอินซื่อ ( พระเจ้ากรุงธนบุรี ) ( 25 ) สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ทางราชสำนักชิงต้องบททวนท่าทีที่มีเปลี่ยนต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียใหม่ เมื่อเดือน ๘ ของปีที่ ๓๖ (พ.ศ. ๒๓๑๔) แห่งรัชกาลเฉียนหลง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ปฏิบัติตามคำขอที่ปรากฎในสาสน์ของไช่ฮั่น โดยการนำส่งเชลยศึกพม่าซึ่งมีชื่อว่าเซี่ยตูเอี้ยนและบุคคลอื่น ๆ ถึงกรุงปักกิ่ง เรื่องนี้ปรากฎว่าจักรพรรดิเฉียนหลงมีกระแสรับสั่งต่อหลีซื่อเหยาว่า “ อย่าได้เฉยเมยเย็นชาเสียทุกกรณี อันจะเป็นการตัดเยื้อใยอย่างสิ้นเชิงกันเลย จึงสมควรใช้ดุลยพินิจในนามของข้าหลวงนั้นเองให้รางวัลเป็นแพรต่วนตามสมควร ( 26 ) หลี่ซื่อเหยาเองก็เริ่มรู้สึกแล้วถึงเบื้องหลังของม่อซื่อหลินแห่งพุทไธมาศ ที่ใส่ความสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “พินิจพิจารณาเบื้องหน้าเบื้องหลังของเรื่องนี้ คงจะเป็นว่าเมื่อสยามกรุงแตก เจาจุ้ย (เจ้าจุ้ย) พระราชนัดดาอันเป็นรัชทายาทได้หลบไปถึงเมืองนั้น (หมายถึงพุทไธมาศ – ผู้แปล) มีหรือที่ม่อซื่อหลินจะไม่ฉวยโอกาสเพื่อคิดการใหญ่ ( 27 ) ดังนั้น จึงเริ่มต้นมิได้เชื่อถือถ้อยคำของม่อซื่อหลินดังเช่นแต่ก่อนนั้น ราชสำนักชิงเริ่มเปลี่ยนแปลงท่าทีต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มิได้เย็นชาเมินเฉยเช่นแต่กาลก่อน และมิได้ก้าวก่าย ในกรณีความขัดแย้งกันระหว่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับม่อซื่อหลิน ดังที่จักพรรดิเฉียนหลงมีกระแสรับสั่งว่า “ อันสยามตั้งอยู่ ณ ทะเลอันไกลโพ้น มีระยะทางห่างไกลย่อมจะยากลำบากต่อการใช้กำลัง เมื่อผิ่เอียซิน ( พระยาสิน ) ใช้พลังอันดุดันเข้าช่วงชิงราชบัลลังก์และเกิดการรบพุ่งแย่งชิงกัน ก็สมควรที่จะถือว่าเป็นเรื่องของนอกแคว้น ถ้าหากว่าม่อซื่อหลินซึ่งเป็นเมืองเหอเซียน ( พุทไธมาศ ) มีความประสงค์จะช่วยฟื้นฟูราชบัลลังก์ ก็ชอบที่จะปล่อยให้กระทำการตามกำลังความสามารถตามลำพัง โดยไม่จำเป็นที่จะไปยุ่งเกี่ยวด้วยเลย ( 28 )
ระยะเวลาที่ราขสำนักชิง ให้การรับรองอย่างเป็นทางการต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ( ตั้งแต่เดือน 8 ของปีที่ 36 ( พ.ศ. 2314 ) แห่งรัชกาลเฉียนหลง ถึงเดือน 2 ของปีที่ 47 ( พ.ศ. 2325 ) แห่งรัชกาลเฉียนหลง )

นับแต่ท่าทีของราชสำนักชิงต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น พระองค์จึงอาศัยจังหวะ อันเป็นประโยชน์นี้เป็นฝ่ายริเริ่มดำเนินการในทางเสริมสร้างสัมพันธภาพระหว่างอาณาจักรทั้งสอง กล่าวคือ เมื่อปีที่ ๓๗ (พ.ศ. ๒๓๑๕) ได้จัดส่งจังจุ่นชิงกับพวก ซึ่งเป็นชาวอำเภอไฮ่เฟิง (เดิมเคยอ่านว่าไหฮอง – ผู้แปล) มณฑลกวางตุ้ง กลับคืนภูมิลำเนา ( 29 ) ปีที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๓๑๘) ได้จัดส่งเจ้าเฉิงจังกับพวกจำนวน ๑๙ คน ซึ่งเป็นทหารยูนนานที่ตกเป็นเชลยศึกพม่าปีที่ ๔๑ (พ.ศ.๒๓๑๙) ได้จัดส่งหยางเฉาพิ่งกับพวก จำนวน ๓ คน ซึ่งเป็นพ่อค้ายูนนานกลับคืนภูมิลำเนา ( 31 ) ปีที่ ๔๒ (พ.ศ. ๒๓๒๐) คุมตัวอ่ายเฮอกับพวกจำนวน ๖ คน ซึ่งเป็นเชลยพม่านำส่งถึงกวางตุ้ง ( 32 )
ในระยะเวลานี้ ราชสำนักชิงคงจะเห็นว่ากรุงธนบุรีภายใต้การปกครองของพระเจ้ากรุงธนบุรี มีความเป็นปึกแผ่นแล้ว นอกจากนั้น พระราโชบายในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับราชวงศ์ชิง ก็คงจะได้ก่อให้เกิดบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อกันด้วย ดังนั้น จักพรรดิเฉียนหลง จึงทรงแสดงออกซึ่งท่าที่ที่เปลี่ยนไปอย่างชัดแจ้งว่า

“ การแย่งชิงแผ่นดินแล้วเปลี่ยนราชสกุล เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ เช่น ราชสกุลเฉิน ม่อ หรือหลีแห่งอ่ณาจักรอันหนัน ( อันนัมหรือ เวียดนาม ) ก็เปลี่ยนแปลงประมุขอยู่หลายครั้งหลายคราวเหตุการณ์เช่นนี้จึงหาได้เกิดขึ้นแก่สยามแต่เพียงแห่งเดียวไม่นอกจากนั้น เมื่อครั้งโจรพม่าตีสยามแตกจนแตก ผี่เอียซิน ( พระยาสิน ) ทำการโดยมุ่งหมายตอบโต้เป็นสำคัญ แต่โอกาสอำนวยให้บังเกิดประโยชน์ ร่องรอยแต่น้อยนิดแห่งการทรยศแย่งชิงบัลลังก์ก็หาประจักษ์แต่อย่างใดไม่ ฯลฯ ส่วนความเป็นมาแห่งการผลัดแผ่นดินแล้วสถาปนาตั้งตนเป็นกษัตริย์นั้นก็หาจำเป็นต้องเคร่งครัดในฐานุศักดิ์ไม่ จึงไม่สมควรที่จะก่าวก่าย ผี่เอียซิน ( พระยาสิน ) เพิ่งแรกตั้งมีฐานโดดเดี่ยวบอบบาง จึ่งมุ่งหมายขอพึ่งพิงอาศัย หากอาณาจักรจีนเมินเฉยและปฏิเสธการยอมรับ ฝ่ายนั้น ( พระยาตาก ) อาจประหวั่นพรั่นพรึงแล้วหันกลับไปพักพิงอ่อนน้อมต่อโจรพม่า ดังนี้จะไม่ใช่วิเทโศบายอันพึงปราถนา “ ฉะนั้นจึงมีกระแสรับสั่งแก่หลี่ซื่อเหยาว่า “ ภายหน้าหากทางผี่เอแยซิน ( พระยาสิน ) ไม่มีผู้ใดมาอีกก็แล้วไปแต่ถ้าส่งทูตมาอีกเพื่อขอพระราชทานแต่งตั้ง และประสงค์จะมีสัมพันธภาพทางราชบรรณาการ ก็อย่าได้ยืนกรานปฏิเสธเช่นกาลก่อน ให้พิจารณาถึงว่าหากเป็นความจริงที่มาอย่างจริงใจ ก็ให้กราบบังคมทูล เพื่อจะได้พระราชทานแต่งตั้ง ( 33 )
น่าสังเกตว่า นับแต่เดือน ๘ ของปีที่ ๓๗ แห่งรัชกาลเฉียนหลง (พ.ศ. ๒๓๑๕) เป็นต้นมา ในเอกสารราชการของราชสำนักชิงได้เปลี่ยนการกล่าวอ้างพระนามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กล่าวคือ มิได้เรียกขานว่า “หัวหน้าเผ่าชนอาณาจักรสยาม” หรือ “พระยาสิน” หรือ “กันเอินซื่อ” แต่เรียกขานว่า “เจิ้งเจา” ซึ่งหมายถึง “กษัตริย์เจิ้ง” หรือ “แต้อ๋อง” นั่นเอง

นอกจากนั้น ราชสำนักชิงได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้ขายยุทธปัจจัยแก่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งของต้องห้ามนำออก การซื้อขายดังกล่าว ปรากฎว่ามี ๒ ครั้ง เมื่อปีที่ ๔๐ แห่งรัชกาลเฉียนหลง (พ.ศ. ๒๓๑๙) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงส่งขุนนางมาซื้อกำมะถันจำนวน ๕๐ หาบและกะทะเหล็ก ๕๐๐ ใบ ( 34 ) และปีที่ ๔๑ (พ.ศ. ๒๓๒๐) ได้ซื้อกำมะถัน ๑๐๐ หาบ ( 35 ) หลังจากนั้น จักรพรรดิเฉียนหลง ยังทรงมีกระแสรับสั่งต่อหยางจิ่งซู่ซึ่งเข้ารับตำแหน่งข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งและกว่างซีว่า “ครั้งก่อนทางสยามขอซื้อกำมะถันและกะทะเหล็ก ๒ ครั้ง ได้อนุญาตไปแล้วทั้งหมด ต่อไปหากที่นั่นยังมีความต้องการก็จะยังคงอนุญาตให้ซื้อนำกลับไปอีก” ( 36 )
เมื่อเดือน ๗ ของปีที่ ๔๒ (พ.ศ. ๒๓๒๐) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดส่งคณะทูตจำนวน ๓ นายไปถึงกวางตุ้งโดยแต่งพระราชสาสน์ถึงราชสำนักชิงแจ้งเป็นทางการว่า มีความประสงค์จะสถาปนาความสัมพันธ์กับราชวงศ์ชิงอย่างเป็นทางการ ปรากฎว่า ราชสำนักชิงได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนและเปิดเผยว่า “อนุญาตให้ดำเนินการได้” ( 37 )


ครั้นในปีที่ ๔๖ แห่งรัชกาลเฉียนหลง (พ.ศ. ๒๓๒๔) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงจัดส่งคณะทูตคณะใหญ่ โดยมีพระยาสุนทรอภัยเป็นราชทูตไปเมืองจีน คณะทูตนี้โดยสารเรือถึง ๑๑ ลำ บรรทุกงาช้าง นอแรด ฝาง และเริ่มเดินทางเดือน ๕ ถึงกวางตุ้งเดือน ๗
นอกจากนั้น ในสำนวนเอกสารราชการ ของราชสำนักชิงปรากฎว่า ก่อนที่คณะทูตจากกรุงธนบุรีจะเดินทางไปถึง ได้มีเรือบรรทุกเครื่องราชบรรณาการจำนวน ๒ ลำ ไปถึงอำเภอหนานไฮ่ (ปัจจุบันคือเมืองกวางเจา – ผู้แปล) มณฑลกวางตุ้งเมือเดือน ๖ โดยนำพระราชสาสน์มา ๒ ฉบับ “พระราชสาสน์ฉบับหนึ่งกราบทูลว่า ได้จัดส่งทูตมาถวายเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งมีช้างพลายและช้างพังอย่างละหนึ่งเชือกและสินค้าพื้นเมือง จึงขอให้ช่วยกราบบังคมทูลแทนเพื่อทรงทราบ” ถ้อยคำสำนวนในพระราชสาสน์มีความอ่อนน้อมดูจะจริงใจอยู่ไม่น้อย แต่ท้ายพระราชสาสน์กราบทูลว่า

“แผ่นดินสยามเพิ่งจะสงบราบคาบ ท้องพระคลังร่อยหรอ การจะสร้างพระนครขึ้นใหม่จึงขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่มีสินค้าพื้นเมือง ประสงค์จะปล่อยเรือบรรทุกไปขาย ณ เมืองเซี่ยเหมิน (เอ้มุย หรือ ผู้แปล) หนิงปอ (เลียงโผ หรือ เล่งปอ – (ผู้แปล) จึงขอได่โปรดออกใบอนุญาตด้วย นอกจากนั้น ขอพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้นายห้างพาณิชย์ ช่วยจ้างต้นหนแล่นเรือไปค้าขายที่ญี่ปุ่น ฯลฯ และพระราชสาสน์อีกฉบับหนึ่งกราบทูลว่าเรือที่บรรทุกสิ่งของเครื่องบรรณาการ มี ๔ ลำ เรือสินค้า ๗ ลำ นอกจากนั้น ได้นำฝางและงาช้าง เป็นสิ่งของนอกบรรณาการ ขอได้โปรดกราบทูลถวายให้ด้วย อนึ่ง ยังมีฝางและไม้แดง ซึ่งขอมอบให้กระทรวงพิธีการและสำนักข้าหลวงรวมทั้งของขวัญที่มอบให้นายห้างพาณิชย์ด้วย ขอได้มีพระบรมราชานุญาตให้นำสินค้านอกจากนั้นขายไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคณะทูต นอกจากนั้น ยังได้กล่าวถึงว่าขอซื้อถาดทองแดง เตาทองแดง และขอปล่อยเรือเปล่ากลับไปก่อนด้วย ( 38 )
หลังจากนั้น ราชทูตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้นำพระราชสาสน์ไปถวายจักรพรรดิเฉียนหลง ซึ่งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เก็บรักษาต้นร่างพระราชสาสน์ดังกล่าวไว้จนถึงปัจจุบัน

เมื่อราชสำนักชิงได้รับพระราชสาสน์แล้ว จักรพรรดิเฉียนหลงมีกระแสรับสั่งแก่ปาเอี๋ยนซัน ข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งกว่างซีว่า “สิ่งของนอกบรรณาการให้รับไว้เฉพาะงาช้างกับนอแรดรวมสองชนิด และให้นำส่งกระทรวงพิธีการพร้อมสิ่งของบรรณาการ นอกจากพระราชทานสิ่งของตามธรรมเนียมแล้วให้เพิ่มสิ่งของรางวัลเป็นพิเศษ เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ที่ประสงค์ให้การรับให้มีจำนวนน้อยกว่าการให้บรรณาการนอกจากนั้นอนุญาตให้ขายที่กวางตุ้งตามอำเภอใจ สิ่งของเหล่านั้นรวมทั้งอับเฉาเรือให้ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีทั้งหมด” ( 39 )

คณะทูตจากสยามเดินทางถึงปักกิ่ง เมื่อเดือนอ้ายของปีรุ่งขึ้นภายใต้การดูแลคุ้มครองของขุนนางกวางตุ้งจักรพรรดิเฉียนหลงได้จัดงานเลี้ยงรับรองคณะทูตที่ห้อง ซันเกาสุ่ยฉาง” ครั้นถึงเดือนสาม พระยาสุนทรอภัยราชทูตได้ถึงแก่กรรมอย่างปัจจุบันทันด่วน ณ ที่กรุงปักกิ่ง ราชสำนักชิงได้เป็นเจ้าภาพงานศพ ต่อมาหลวงพิชัยเสน่หาอุปทูตได้นำคณะทูตกลับเมืองไทย เมื่อเดือน ๗ หลังจากที่ได้กระทำหน้าที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อคณะทูตกลับถึงเมืองไทย ปรากฎว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ถูกสำเร็จโทษแล้ว แผ่นดินได้เปลี่ยนไปแล้ว จากกรุงธนบุรี เป็นกรุงรัตนโกสินทร์ วัสดุและอุปกรณ์การก่อสร้างที่ซื้อกลับมา จึงได้ใช้ในการสร้างพระราชวังแห่งใหม่

เชิงอรรถ
๑ จดหมายเหตุราชวงศ์ชิง ว่าด้วยจดหมายเหตุเกาจง บรรพที่ ๘๑๗
๒ หยูเจิ้งเซี่ย , กุ่ยซื่อเล่ยเก่า บรรพที่ ๙ ว่าด้วย " การวิเคราะห์เส้นทางสองสายทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ "
๓ ซื่อสือเอ้อเหมยจีซื่อ , " ประวัติเจิ้งเจา " , วารสารซ้งหู รายปักษ์ ปีที่ ๓ เล่มที่ ๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙
๔ อ้างแล้ว
๕ หลี่ซูจี๋ , ประวัติอำเภอเงไห่ บรรพที่ ๑๓
๖ อ้างแล้ว
๗ อ้างแล้ว
๘ ประมวลกฏหมายราชวงศ์ชิง , บรรพที่ ๒0
๙ จดหมายเหตุราชวงศ์ชิง , ว่าด้วยจดหมายเหตุเซิ่งจู่ บรรพที่ ๒๕
๑0 อ้างแล้ว บรรพที่ ๒๙๘
๑๑ ประวัติเมืองเจียฉิ่ง บรรพที่ ๕๕๒ หัวข้อสยาม
๑๒ อ้างแล้วใน ๑ บรรพที่ ๘๒๖
๑๓ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๗๘๓
๑๔ หนังสือกราบบังคมทูลของหลี่ซื่อเหยา ข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งกว่างซี ลงวันที่ ๑ เดือน ๘ ของปีที่ ๓๓ แห่งรัชกาลเฉียนหลง , เอกสารวารสารประวัติศาสตร์ เล่มที่ ๓0
๑๕ อ้างแล้ว
๑๖ อ้างแล้ว ใน ๑ บรรพที่ ๘๑๗
๑๗ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๘๒0
๑๘ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๘๒๓
๑๙ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๘๓๗
๒0 อ้างแล้ว
๒๑ สำนวนเอกสารราชการในราชสำนัก , เอกสารกราบบังคมทูลพร้อมกระแสรับสั่งด้วยพู่กันสีแดง , หมวดการต่างประเทศ , สำนวนที่ ๓๔๖ หลี่ซื่อเหย้ากราบบังคมทูล เมื่อวันที่ ๑๑ เดือน ๖ ของปีที่ ๓๕ แห่งรัชกาลเฉียนหลง
๒๒ อ้างแล้ว
๒๓ อ้างแล้ว , หนังสือกราบบังคมทูลของหลี่ซื่อเหยา ลงวันที่ ๒๔ เดือน ๗ ของปีที่ ๓๕ แห่งรัชกาลเฉียนหลง
๒๔ อ้างแล้ว , หนังสือกราบบังคมทูลของหลี่ซื่อเหยา ลงวันที่ ๑๑ เดือน ๑๑ ของปีที่ ๓๕ แห่งรัชกาลเฉียนหลง
๒๕ อ้างแล้วใน ๑ , บรรพที่ ๘๓๘
๒๖ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๘๙๑
๒๗ อ้างแล้วใน ๒๑ , หนังสือกราบบังคมทูลของหลี่ซื่อเหยา ลงวันที่ ๗ เดือน ๖ ของปีที่ ๓๑ แห่งรัชกาลเฉียนหลง
๒๘ อ้างแล้วใน ๑ , บรรพที่ ๘๖๔
๒๙ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๙๑๕
๓0 อ้างแล้ว , บรรพที่ ๙๙0
๓๑ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๑0๒๒
๓๒ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๑0๓๗
๓๓ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๘๙๕
๓๔ อ้างแล้วใน ๒๑ , หนังสือกราบบังคมทูลของหลี่ซื่อเหยา ลงวันที่ ๑0 เดือน ๑0 ของปีที่ ๔0 แห่งรัชกาลเฉียนหลง
๓๖ อ้างแล้วใน ๑ , บรรพที่ ๑0๓๖
๓๗ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๑0๓๗
๓๘ อ้างแล้วใน ๒๑ , หนังสือกราบบังคมทูลของเจี่ยหลงปาเอี้ยนและหลี่หู ลงวันที่ ๒๗ เดือน ๗ ของปีที่ ๔๖ แห่งรัชกาลเฉียนหลง
๓๙ อ้างแล้วใน ๑ , บรรพที่ ๑๑๔0

ไม่มีความคิดเห็น: