วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

พระประวัติ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ

บันทึกของเสด็จในกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์

เจอบันทึกนี้ ให้เอาคำต่อไปนี้ของกูไปประกาศให้คนรับรู้ว่า
กู กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ผู้เป็นโอรสของพระปิยะมหาราช
ขอประกาศให้พวกมึงรับรู้ไว้ว่า
แผ่นดินสยามนี้ บรรพบุรุษได้เอาเนื้อเอาชีวิตเข้าแลกไว้
ไอ้อีผู้ใดมัน คิดบังอาจทำลายแผ่นดิน
ทำลายชาติ ทำลายศาสนา พระมหากษัตริย์
ฤากระทำการทุจริต ก่อให้เกิดความเดือนร้อนต่อส่วนรวม
จงหยุดคิดการกระทำนั้นเสียโดยเร็ว
ก่อนที่กูจะสั่งทหารผลาญสิ้นทั้งโคตรให้หมดเสนียดของแผ่นดินสยาม
อันเป็นที่รักของกู ตราบใดที่คำว่าอาภากร
ยังยืนหยัดอยู่ในโลก กูจะรักษาแผ่นดินสยามของกู
ลูกหลานทั้งหลาย
แผ่นดินใดให้กำเนิดเรามา แผ่นดินใดให้ที่ซุกหัวนอน
ให้ความร่มเย็นเป็นสุข มิให้อนาทรร้อนใจ
จงซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินนั้น

พระประสูติกาล

พระประสูติกาล พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ (ต้นราชสกุล อาภากร) ทรงเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ ๕ นับลำดับ ราชสกุลวงศ์เป็นพระองค์ที่ ๒๘ มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์" ประสูติใน พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ เวลา ๑๔.๕๗ และทรงเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาเจ้าพระยาสุยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) พระองค์ทรงมีพระกนิษฐา และพระอนุชา ร่วมพระมารดา ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงอรองค์อรรคยุพา (สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์) และพระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์
การศึกษา เมื่อเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ยังทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการศึกษาชั้นแรก ในพระบรมมหาราชวัง มีพระยาอิศรพันธ์โสภร (พูน อิศรางกูร) เป็นพระอาจารย์ และทรงศึกษา ภาษาอังกฤษกับ Mr.Morant ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ และได้ทรงเข้าเป็นนักเรียน ในโรงเรียนหลวง ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ อยู่จนถึงทรงโสกันต์
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ เมื่อเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทรงมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งในขณะนั้น ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ โดยมีเจ้าพระยา พระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์ เป็นสมเด็จพระมนตรีพจนกิจ เป็นพระอภิบาล ได้เสด็จออกจากกรุงเทพฯ โดย ร.ล.มกุฎราชกุมาร (ลำที่ ๑ ) เมื่อ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ไปยังสิงคโปร์ ต่อจากนั้น ได้ทรงโดยสารเรือเมล์ ชื่อ "ออเดรเบิด" ไปถึงเมืองตูรินในอิตาลี เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม แล้วเสด็จโดยทางรถไฟ ไปยัง กรุงปารีส และลอนดอนตามลำดับ ในขั้นแรก เสด็จในกรมฯ ได้เสด็จประทับ ร่วมกับ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าฯ ที่ "ไบรตัน" และ "แอสคอต" เพื่อทรงศึกษาภาษา และวิชาเบื้องต้น เสด็จในกรมฯ ได้เคยตามเสด็จ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าฯ ไปเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถ วิคตอเรีย ที่พระราชวังวินด์เซอร์ ตลอดจนตามเสด็จ ไปทัศนศึกษาทั้งในอังกฤษ และประเทศในยุโรป จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ เสด็จในกรมฯ จึงเสด็จไป เข้าโรงเรียนส่วนบุคคล สำหรับกวดวิชา เพื่อเตรียมเข้าศึกษา ในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ ต่อไป โรงเรียนที่ทรงไปกวดวิชานี้มีชื่อ ว่า The Seines ตั้งอยู่แขวงกรีนิช ทางตะวันออกเฉียงใต้ ของกรุงลอนดอน มีนาย Littlejohns เป็นครูใหญ่ ผลการศึกษานี้ พระอภิบาล ได้ทรงกราบบังคมทูลรายงานว่า
"... ความรู้ภาษาอังกฤษดีขึ้นตามธรรมดา แต่วิชากระบวนทหารเรือชั้นต้น ก็วิ่งขึ้นเร็วตามสมควร แต่การเล่นแข็งแรง เช่น ฟุตบอล เป็นต้น นับว่าเป็นชั้นยอดของโรงเรียน เกือบว่าไม่มีใครอาจเข้าเทียบเทียม..."
ทรงศึกษาในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ
เมื่อเสด็จในกรมฯ ทรงกวดวิชาแล้ว จึงเข้าศึกษาต่อใน โรงเรียนนายเรืออังกฤษ ในราวปี พ.ศ.๒๔๙๓ การศึกษา ในโรงเรียนนายเรือ ของอังกฤษนั้น จะต้องฝึกหัดศึกษา หลับนอน อยู่ในเรือ ประมาณ ๓-๔ เทอม เมื่อสอบความรู้ได้แล้ว จะมีฐานะเป็น นักเรียนทำการนายเรือ (Midshipman) และไปฝึกในเรือรบ ประจำกองเรือต่างๆ อีกประมาณ ๑-๒ ปี และก็จะทำการสอบ เพื่อเป็นนายเรือตรี ต่อจากนั้น ศึกษาต่อ ในมหาวิทยาลัยทหารเรือ โรงเรียนปืนใหญ่ และโรงเรียนตอร์ปิโด จนได้เลื่อนยศเป็นเรือเอก เท่ากับนายทหารรุ่นเดียวกัน เมื่อเสด็จในกรมฯ ทรงเป็นนักเรียนทำการนายเรือ ในราชนาวีอังกฤษ ทรงเล่าว่า "...เมื่อเป็นนักเรียนทำการนายเรือ ในราชนาวีอังกฤษ ได้มีโอกาสขึ้นทำการปราบจลาจล ที่เกาะครีท ที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นเวลาราว ๓ เดือน ต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย หนาวก็หนาว ในสนามรบ ต้องนอนกับศพที่ตายใหม่ๆ และบางคราว ซ้ำยังอดอาหาร ต้องจับหอยทาก มาเสวยกับหัวหอม ศพที่ถูกยิงที่ท้องนับว่าเหม็นร้ายกาจมาก ถึงจะเป็นศพตายใหม่ๆ ก็ตาม..." รวมเวลาที่เสด็จในกรมฯ ทรงศึกษาอยู่ในราชนาวีอังกฤษ ๖ ปีเศษ
ในขณะที่เสด็จในกรมฯ ทรงเป็นนักเรียนนายเรือ อยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น ประจวบกับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จประพาสยุโรป เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ เสด็จในกรมฯ ทรงขอลาทางโรงเรียน มารับเสด็จ สมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยเข้าร่วมกระบวนเสด็จ ที่เกาะลังกา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับตำแหน่ง นักเรียนนายเรือ ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ภายใต้การบังคับบัญชา ของผู้บัญชาการเรือ และได้ทรงถือท้าย เรือพระที่นั่งมหาจักรี ด้วยพระองค์เอง เพื่อทรงแสดงความสามารถ ให้ปรากฏแก่พระเนตร สมเด็จพระบรมชนกนาถ นอกจากนั้น ในลายพระหัตถเลขาของ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าฯ ที่พระราชทาน สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ได้กล่าวถึง เสด็จในกรมฯ ความว่า
"...ในเวลาที่เขียนหนังสืออยู่นี้ อาภากร กับหลวงสุนทรมาถึง อาภากรโตขึ้นมาก และขาวขึ้น เขาแต่งตัวมิดชิพแมน (Midshipman) มาพร้อมแล้ว ฉันได้มอบให ้อยู่ในบังคับ กัปตัน เป็นสิทธิขาด เว้นแต่วันนี้ เขาอนุญาตให้มากินข้าว กับฉันวันหนึ่ง..." เมื่อเสด็จในกรมฯ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าฯ ในเรือพระที่นั่งมหาจักรีแล้ว สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงมีพระราชปรารภ เกี่ยวกับเสด็จในกรมฯ ว่า "...ชายอาภากรนั้น อัธยาศัยเป็นคนซื่อมาแต่เดิม เป็นผู้ที่สมควรแก่วิชาที่เรียนอยู่แล้ว ไม่เป็นคนที่มีอัธยาศัย ที่จะใช้ฝีปากได้ ในกิจการพลเรือน แต่ถ้าเป็นการในหน้าที่อันเดียว ซึ่งชำนาญ คงจะมั่นคงในทางนั้น และตรงไปตรงมา การที่ได้พบคราวนี้ นับว่าอัธยาศัยดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก" เมื่อพระองค์ได้ตามเสด็จ สมเด็จพระบรมชนกนาถ ไปในเรือพระที่นั่ง จนถึงประเทศอังกฤษแล้ว จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ต่อไป หลังจากทรงสำเร็จ การศึกษาที่โรงเรียนนายอังกฤษแล้ว ก็เสด็จกลับประเทศไทย โดยทางเรือ ดังปรากฏรายละเอียด ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๗ ร.ศ.๑๑๙ ดังนี้
"...ได้เสด็จลงเรือเมล์เยอรมัน ชื่อ "เบเยน" ที่เมืองเยนัว เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ วันที่ ๗ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ ถึงเมืองสิงคโปร์ หลวงภักดีบรมนารถ และหลวงสุนทรโกษา ได้ออกรับเสด็จ ได้เสด็จพักอยู่ที่สิงคโปร์ คืนหนึ่ง รุ่งขึ้นวันที่ ๘ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ ได้เสด็จลงเรือเมล์ชื่อ "สิงคโปร์" ออกจากสิงคโปร์ ต่อมาวันที่ ๑๑ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ เวลาทุ่มเศษถึงปากน้ำ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิธาดา และพระยาสีหราชเดโชไชย หลวงปฏิยัตินาวายุกต์ นำเรือสุริยะมณฑล ออกไปคอยรับเสด็จอยู่ ณ ที่นั้นแล้วทรงเรือไฟ มาขึ้นที่เมืองสมุทรปราการ ทางรถไฟจากที่นั่น มาถึงสเตชั่นหัวลำพองเวลายามเศษ แล้วเสด็จทรงรถต่อไป พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนิน โดยรถยนต์พระที่นั่ง เพื่อเสด็จไปรับ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ที่สเตชั่นรถไฟ เสด็จถึงแล้ว ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในรถพระที่นั่ง ที่ถนนเจริญกรุง แล้วเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง ครั้นรุ่งขึ้น วันที่ ๑๒ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙ เวลาสองทุ่มเศษ โปรดเกล้าฯ ให้มีการเลี้ยง พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชทาน เป็นเกียรติแก่ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า อาภากรเกียรติวงศ์ ที่พลับพลาสวนดุสิตด้วย..."
เสด็จในกรมฯ จึงนับเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์แรก ของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้เสด็จไปทรงศึกษา เกี่ยวกับ วิชาการทหารเรือ ยังต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชดำริว่า
"...กิจการทหารเรือไทย เท่าที่ได้เป็นอยู่ในขณะนั้น ต้องอาศัยชาวต่างประเทศ เป็นผู้บังคับบัญชาการเรือ และป้อม อยู่เป็นอันมาก จึงไม่สู้ จะมีความมั่นคงเท่าใดนัก ดังจะเห็นได้จาก เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๖๓) เป็นตัวอย่างอันดี ฉะนั้น จึงนับว่า เป็นพระราชดำริ ที่เหมาะสม ในการส่ง พระราชโอรส ไปทรงศึกษา วิชาการทหารเรือในครั้งนี้..."

ทรงรับราชการทหารเรือ
หลังจากที่เสด็จในกรมฯ เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯแล้ว ในวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๓ จึงได้รับ พระราชทานยศ เป็น นายเรือโท (เทียบเท่า นาวาตรีในปัจจุบัน) ทั้งนี้ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ จะให้เป็น ผู้บังคับการเรือปืน ที่กำลังจัดซื้อ คือ ร.ล.พาลีรั้งทวีป หรือ ร.ล.สุครีพครองเมือง ลำใดลำหนึ่ง ในขั้นแรก ทรงรับราชการ ในตำแหน่ง "แฟลคเลบเตอร์แนล" (นายธง) ของผู้บัญชาการกรมทหารเรือ คือ พลเรือโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปคม เสด็จในกรมฯ ได้ทรงสำรวจการป้องกัน ลำน้ำเจ้าพระยา และได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานต่อ ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ โดยละเอียด ทรงริเริ่มกำหนด แบบสัญญาณธงสองมือ และโคมไฟ ตลอดจนเริ่มฝึกพล "พลอาณัติสัญญา" (ทัศนสัญญาณ) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ พลเรือโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปคม ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ทรงพอพระทัย ในการปฏิบัติงานของ เสด็จในกรมฯ มาก ทรงยกย่องว่า ทรงมีความรู้จริง และมีความกระตือรือร้น ที่จะทำงาน
ในวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๔ เสด็จในกรมฯ ได้รับพระราชทานยศ เป็นนายเรือเอก (เทียบเท่า นาวาเอกในปัจจุบัน) และได้ตามเสด็จ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสชวา ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ในระหว่างวันที่ ๕ พฤษภาคม ถึงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ครั้นต่อมา ในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๔ จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เป็น รองผู้บัญชาการ กรมทหารเรือ ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๗ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศ เสด็จในกรมฯ จากนาวาเอก เป็นพลเรือตรี และคงทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ครั้นในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ในปีเดียวกันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศ เป็น กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พีธีสมรสพระราชทาน
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงเป็น พระราชโอรส ลำดับที่ ๔๕ในรัชกาลที่ ๔ และทรงเป็น พระอนุชา ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระเมตตา และสนิทสนมยิ่งนัก (ทรงเป็น "เสด็จตา" ของพระองค์เจ้าภาณุพพันธ์ยุคล)
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ทรงมีพระธิดาองค์โต หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ครั้นพอเสด็จในกรมฯ สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ กลับมารับราชการแล้วนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ได้ทรงสู่ขอพระธิดาองค์โต ของพระอนุชามาพระราชทานเสกสมรสให้
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีงานมงคลพิธี ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ มีเลี้ยงน้ำชา ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ และมีงานราตรีสโมสร ซึ่งถือว่า เป็นครั้งแรกที่พิธีเสกสมรส จัดงานราตรีสมโภชคู่บ่าวสาว ให้เชิญทั้งไทย ทั้งฝรั่ง มีการเต้นรำอย่างธรรมเนียมสากลด้วย เป็นพิเศษ และ พระราชทานวังใหม่ ให้ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม
แต่ทว่าเป็นที่สลดสะเทือนใจนัก เพราะหลังจากเสกสมรสไม่กี่ปีต่อมา ความรักของหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ กับเสด็จในกรมฯ ก็มิได้ราบรื่นงดงาม ตามพระประสงค์ของ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง หม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์ ทรงมีเหตุให้น้อยพระทัย พระสวามี ทรงดื่มยาพิษ สิ้นชีพิตักษัย
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงสลดพระทัยนัก เนื่องเพราะทรงเป็นผู้สู่ขอ ด้วยพระองค์เอง และทรงเป็นพระปิตุลาโดยตรง ของหม่อมเจ้าหญิงอีกด้วย เหตุนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงทรงมีพระเมตตา ต่อพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ของหม่อมเจ้าหญิงเป็นพิเศษ ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเป็นพระองค์เจ้า คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเป็น "หลานรัก" ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระเมตตาเอ็นดูเป็นพิเศษ

พระโอรสและพระธิดา

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีพระโอรสเกิดแก่หม่อมเจ้าทิพย์สัมพันธ์ พระชายา พระธิดาจอมพลเรือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมวงศาภิมุข เจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ๒ พระองค์ คือ
๑. พลโท พลเรือโท พลอากาศโท พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
๒. พลอากาศโท หม่อมเจ้ารังษิยากร อาภากร

พระโอรสและพระธิดา อันเกิดแก่หม่อม ดังรายพระนาม ต่อไปนี้
๑. หม่อมเจ้าหญิง จารุพัตรา อาภากร
๒. หม่อมเจ้าหญิง ศิริมาบังอร (อาภากร) เหรียญสุวรรณ
๓. หม่อมเจ้า สมรบำเทอง อาภากร
๔. หม่อมเจ้าหญิง เริงจิตรแจรง อาภากร
๕. พันเอก หม่อมเจ้าดำแคงฤทธิ์ อาภากร
๖. พลเรือเอกหม่อมเจ้าครรชิต อาภากร
๗. หม่อมเจ้ารุจยากร อาภากร

เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ

ในวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นาวาเอก หม่อมไพชยนต์เทพ (ม.ร.ว.พิณ สนิทวงศ์) เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ออกจากราชการ ตามที่ได้กราบบังคมทูลลา ฉะนั้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ทรงทำการในตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ จนถึง พ.ศ.๒๔๔๙ จึงได้ทรงเป็น เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ
เมื่อเสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือแล้ว ได้ทรงแก้ไข ปรับปรุงการศึกษา ระเบียบการ ในโรงเรียนนายเรือทุกอย่าง ทั้งฝ่ายปกครอง และฝ่ายวิชาการ ให้รัดกุม ทัดเทียมอารยะประเทศ เพื่อให้ผู้ที่ สำเร็จการศึกษา จากโรงเรียนนี้ เป็นนายทหารเรือ ที่มีความรู้ความสามารถเสมอด้วยกับ นายทหารเรือต่างประเทศ และสามารถทำการแทน ในตำแหน่งชาวต่างประเทศที่รับราชการ อยู่ในกองทัพเรือในขณะนั้นอีกด้วย

พระบิดาแห่งราชนาวีไทย

ถึงแม้ว่าเสด็จในกรมฯ จะทรงแก้ไข ปรับปรุง ระเบียบการศึกษา ให้มีความก้าวหน้า แต่สถานที่ตั้ง โรงเรียนนายเรือนั้น ไม่มีที่ตั้ง เป็นหลักแหล่งที่มั่นคง ต้องโยกย้าย สถานที่เรียนบ่อยๆ ซึ่งเป็นเหตุผล ประการหนึ่ง ที่ทำให้ผลการเรียน ของนักเรียนนายเรือ ไม่ดีเท่าที่ควร เสด็จในกรมฯ ทรงพยายามทุกวิถีทาง ที่จะปรับปรุงกิจการด้านนี้ ให้ก้าวหน้า จึงได้นำความขึ้น กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานที่ เพื่อตั้งเป็น โรงเรียนนายเรือ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ที่ดินบริเวณ พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี และได้ดัดแปลงเป็น โรงเรียนนายเรือ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ จึงนับว่า รากฐานของทหารเรือ ได้หยั่งลงแล้ว ในการนี้ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณา เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงกระทำพิธีเปิด โรงเรียนนายเรือ ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๙ ทรงพอพระราชหฤทัย เป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จาก พระราชหัตถเลขา ในสมุดเยี่ยมของ โรงเรียนนายเรือ ความว่า "วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๕ เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบไป ในภายน่า"
เสด็จในกรมฯ ได้ทรงวางรากฐาน ในอันที่จะสร้าง นายทหารเรือไทย ขึ้นเป็นครั้งแรก ดังจะเห็นได้จาก บันทึกความประสงค์ การตั้งโรงเรียนนายเรือ ของ นายพลเรือตรี พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) เสนาธิการทหารเรือ ทูลเกล้าฯ ถวายนายพลเรือเอก สมเด็จเจ้าฟ้า อัษฎางค์เดชาวุธ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ผู้สำเร็จราชการ กรมทหารเรือ เมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๗ ว่า
"... ต่อมาเมื่อปี ๒๔๔๘ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ได้เสด็จดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษา ทหารเรือ อีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อจัดการ โรงเรียน ได้ทรงเพิ่ม วิชาสามัญชั้นสูงขึ้น กับมีวิทยาศาสตร์ เพิ่มเติมบ้าง ส่วนวิชาการเดินเรือนั้น ก็ทรงให้คงอยู่ ตามความประสงค์เดิม แต่ขยายหลักสูตร กว้างขวางออกไป ทั้งทรงตั้ง โรงเรียน นายช่างกล ขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย..."
ตามบันทึกนี้ จะเห็นได้ว่า เสด็จในกรมฯ ทรงปรับปรุง การศึกษาของ โรงเรียนนายเรือ ให้เจริญและดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสด็จในกรมฯ ได้ทรงตั้ง โรงเรียน นายช่างกลขึ้น เป็นครั้งแรก เพราะทรงเห็นว่า เมื่อมี โรงเรียนนายเรือ ขึ้นมาแล้ว ก็สมควรจะมี โรงเรียนนายช่างกล ซึ่งเป็นของคู่กันอยู่ด้วย เสด็จในกรมฯ ได้รับผู้สมัคร ที่จะเรียนทางช่างกล จากนักเรียนนายเรือนั่น และปรากฏว่า มีนักเรียนมาสมัครเรียน ทางช่างกลกันมาก พอกับความต้องการทีเดียว
วิชาสำหรับนักเรียนช่างกล ที่ศึกษานี้ บางวิชาก็เรียนรวมกัน กับนักเรียนนายเรือ และบางวิชา ก็แยกไปศึกษาโดยเฉพาะ ส่วนระเบียบการปกครอง ก็เป็นไปแบบเดียวกับ นักเรียนนายเรือ
เมื่อมีโรงเรียนเพิ่มขึ้น เป็นสองโรงเรียน ทางราชการจึงได้รวมการบังคับบัญชา โรงเรียนทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน และตั้งเป็นกองบังคับการขึ้นใหม่ เรียกว่า "กองโรงเรียนนายเรือ" คำว่า "กองโรงเรียนนายเรือ" จึงปรากฏใน ทำเนียบทหารเรือ ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา และเพื่อขยายกิจการ ของโรงเรียนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีก ได้ทรงดำเนินการ จัดซื้อที่ดิน ด้านหลังของโรงเรียนนายเรือ ในขณะนั้น จนจรดคลอง วัดอรุณราชวราราม (เว้นทางหลวง) ทรงสร้างโรงงานช่างกล สำหรับฝึกหัด นักเรียนช่างกล และได้สร้างโรงอาหาร สำหรับนักเรียนนายเรือ ต่อกันไปจากโรงงาน บริเวณนอกจากนั้น ให้ทำเป็นสนาม ซึ่งต่อมาพื้นที่บริเวณ สนามด้านหน้าวัด โมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) ก็ได้จัดสร้าง เป็นโรงเรียนจ่าขึ้น จึงทำให้บริเวณกว้างขวางขึ้นอีกมาก
อนึ่ง เสด็จในกรมฯ ทรงเห็นว่า ควรจะได้ฝึกหัดให้ ทหารเรือไทยเดินเรือทะเล ได้อย่างชาวต่างประเทศ เพราะในสมัยนั้น คนไทยยังต้องจ้าง ชาวต่างประเทศ มาเป็นผู้บังคับการเรือ เป็นส่วนมาก สำหรับคนไทยที่มีความสามารถ เดินเรือทะเลบริเวณ อ่าวไทยได้ ก็มีแต่พวกอาสา จากบางคนที่อาศัยความชำนาญ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวด้วย หลักวิชาเลย ดังนั้นเสด็จในกรมฯ จึงได้ทรงริเริ่มที่จะ ทำการฝึกหัด และสั่งสอนนายทหารเรือ ให้มีความรู้ความชำนาญ ในการเดินเรือทะเล มากยิ่งขึ้น ซึ่งนับได้ว่า เป็นพระดำริที่ดี และสำคัญอย่างยิ่งอย่างหนึ่ง ในทางการทหารเรือ ของราชนาวีไทย และทางกองเรือ ก็ได้ยึดถือแบบฉบับ อันดีงามนี้ ดำเนินการต่อมา จนตราบเท่าทุกวันนี้
สำหรับวิธีการขั้นแรก ที่เกี่ยวกับการผลิต นายทหารเรือชุดแรก ออกไปรับราชการนั้น เสด็จในกรมฯ ได้ให้นักเรียนชั้นสูง ซึ่งบางคนมีอายุตั้ง ๓๐ ปี สอบไล่เพื่อออกเป็น นายทหารชุดหนึ่งก่อน ส่วนที่ยังคงเหลืออยู่ ให้ยุบลงไปเรียนชั้นเตรียมหมด และประทานโอกาสไว้ว่า ผู้ที่สอบไล่ได้แล้ว จะออกเป็นนายทหารก็ได้ หรือต้องการจะกลับเข้ามา เป็นนักเรียนใหม่อีกก็ได้ โดยเสด็จในกรมฯ ได้ทรงวางหลักสูตร การเรียนของนักเรียนทุกชั้น ขึ้นใหม่หมด เพราะหลักสูตรเดิมยังอ่อน และยังใช้การทางทะเลไม่ได้ โดยเสด็จในกรมฯ ได้ทรงเพิ่มวิชาต่างๆ เข้าไปไว้ในหลักสูตรอีกมาก เช่นวิชาตรีโกณเมตริ แอลยิบร่า ยีโอเมตรี การเรือ ดาราศาสตร์ แผนที่ ภาษาอังกฤษ ช่างกล และอื่นๆ ที่ทรงเห็นว่า สำคัญ อีกหลายวิชา พระองค์ได้ทรงจัดหลักสูตรใหม่ ดังนี้
๑. แบ่งนักเรียนออกเป็น ๔ ชั้น
๒. แบ่งภาคเรียนออกเป็น ๔ ภาค ภาคละ ๓ เดือน
สำหรับวิชาภาคต่างๆ เช่น วิชาดาราศาสตร์ เดินเรือ แผนที่ ตรีโกณโนเมตรีเส้นโค้ง พีชคณิตตอนกลาง และตอนปลาย เสด็จในกรมฯ ก็ทรงสอนเองโดยตลอด ในการจัดหลักสูตรใหม่ครั้งนี้ ปรากฏว่า พลเรือโท พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) ซึ่งสอบไล่ได้แล้ว แต่สมัครใจที่จะกลับเข้ามาเรียน หลักสูตรใหม่นี้เพียงคนเดียว จึงได้มีโอกาสเรียน กับพระองค์ตัวต่อตัว โดยใช้เวลาเพียง ๑ ปี จบหลักสูตรใหม่นี้
ในเรื่องการปกครองนั้น เสด็จในกรมฯ ทรงใช้ระเบียบวิธีการปกครองตามแบบในเรือรบ โดยแบ่งออกเป็น ๘ ตอน คือ
ตอน ๑ เรียกว่า หัวเรือขวา
ตอน ๒ เรียกว่า หัวเรือซ้าย
ตอน ๓ เรียกว่า เสาหน้าขวา
ตอน ๔ เรียกว่า เสาหน้าซ้าย
ตอน ๕ เรียกว่า เสาหลังขวา
ตอน ๖ เรียกว่า เสาหลังซ้าย
ตอน ๗ เรียกว่า ท้ายเรือขวา
ตอน ๘ เรียกว่า ท้ายเรือซ้าย
และถือเอาเรือใบสามเสา เป็นเกณฑ์ ส่วนช่างกลแบ่งออกเป็น ๒ ตอนนั้น คือ ตอน ๑ ตอน ๒ เรียกว่า ช่างกลกราบขวา และช่างกลกราบซ้าย ส่วนการบังคับบัญชานั้น ให้นักเรียนชั้นสูง บังคับบัญชานักเรียนชั้นรองๆ ลงมา เพื่อเป็นการฝึกหัดปกครอง ไปในตัวโดยมีหัวหน้ากัปตันตอน ซึ่งได้รับเงินเพิ่มจากปกติเดือนละ ๒๐ บาท และกัปตันตอนได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ ๑๗ บาท นอกจากนี้เสด็จในกรมฯ ได้ให้กรมยุทธโยธาทหารเรือ สร้างเสาธงขึ้นหนึ่งเสาตามแบบ ในเรือทูลกระหม่อมมีพรวน ๗ ชั้น พร้อมด้วย เครื่องประกอบและ เชือก เสา เพลา ใบ แล้วทรงหัดให้นักเรียนขึ้นเสา และประจำพรวน กางใบ ม้วนใบลดพรวนลงดิน เอาพรวนเข้าติดที่ ถอดเสาท่อนบนลง เอาเสาท่อนบนขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และลำบากมากเสด็จในกรมฯ ทรงเอาพระทัยใส่ต่อวิชาเรียนแผนกนี้ อย่างจริงจัง เพราะกว่าจะเลิกฝึก ก็เป็นเวลาราวๆ ๑๙.๐๐ ทุกวันไป และเสด็จในกรมฯ ได้ทรงจัดให้มี เรือกรรเชียงไว้ฝึกหัดตี และแล่นใบด้วย ทั้งทรงให้มีกองแผนที่ทะเล และให้พิมพ์แบบเชือกขึ้นไว้ เพื่อเป็นตัวอย่าง ในการเรียนผูกเชือก แบบต่างๆ อีกด้วย
ในทางด้านการกีฬา เสด็จในกรมฯ ได้ทรงขอครูมาจาก กระทรวงธรรมการ เพื่อมาสอนบาร์คู่ บาร์เดี่ยวและห่วง เพื่อให้นักเรียนฝึกหัด จนได้ผลเป็นอย่างดียิ่ง เพราะปรากฏว่า นักเรียนมีสุขภาพดี และแข็งแรงขึ้นเป็นอันมาก และทุกวันพฤหัสบดี ตอนบ่ายทุกคนต้องทำความสะอาดเรียบร้อยทุกอย่าง เช่น เตียงนอนเครื่องสนาม หม้อข้าว หีบเสื้อผ้าตลอดจนเล็บ ฟัน เป็นต้น
ใน พ.ศ.๒๔๔๙ เสด็จในกรมฯ ได้ทรงนำนักเรียนนายเรือทั้งหมด ไปฝึกหัดทางทะเล ด้วยเรือยงยศอโยชฌิยา เรือลำนี้เป็นเรือกลไฟ ขนาดกลาง มีเสาใบพร้อม แต่ทรงให้ติดพรวนชั้นต่ำขึ้นอีกเป็นพิเศษ และได้ให้นักเรียนขึ้นเสา ลงเสา กางใบ ถือท้ายใช้เข็มทิศ ทิ้งดิ่งและการเรือทุกชนิด เวลาใดที่มีคลื่นจัด เรือลำนี้ก็จะโคลง จึงทำให้นักเรียนทั้งหลาย หายเมาคลื่นไปตามๆ กัน แต่ทรงฝึกให้ บรรดานักเรียนทั้งหลาย หายเมาคลื่น โดยให้ขึ้นลงเสาจนชิน เพราะทรงถือว่า "ทหารเรือต้องเมาคลื่นไม่เป็น" การไปฝึกครั้งนี้ ได้ไปทางภาคตะวันออก ของอ่าวไทย จนถึงจังหวัดจันทบุรี ราวหนึ่งเดือนจึงกลับ ภายใต้การบังคับบัญชา ของพระองค์ท่าน และพลเรือโท พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) ปรากฎผลว่านักเรียน มีความคล่องแคล่ว และเข้มแข็งในการเดินเรือเป็นอย่างดียิ่ง
นอกจากทรงใฝ่พระทัย ในด้านการศึกษาของ นักเรียนนายเรือแล้ว เสด็จในกรมฯ ทรงดำริ สำหรับการช่วยเหลือราษฎร ในด้านการดับเพลิงนั้น ควรจะได้ให ้นักเรียนนายเรือ ได้มีการฝึก ทำการช่วยเหลือราษฎร ทำการดับเพลิง เนื่องจากในสมัยนั้น พระนครธนบุรี ไม่มีกองดับเพลิง ที่อื่นเลย นอกจากที่กรมทหารเรือแห่งเดียว เพราะมีเรือสูบน้ำ และเรือกลไฟเล็ก ซึ่งขึ้นอยู่กับกรมเรือกลอยู่แล้ว และมีหน้าที่ดับเพลิง ฉะนั้นเมื่อเกิดเพลิงไหม้ที่ใด เรือกลไฟจะทำหน้าที่ ลากจูงเรือสูบน้ำ ไปทำการดับเพลิง เป็นประจำ ทรงตั้งกองดับเพลิงขึ้นโดยมี
๑. กองถัง
๒. กองขวาน
๓. กองผ้าใบกันแสงเพลิง
๔. กองรื้อและตัดเชื้อเพลิง
นอกจากทรงใฝ่พระทัย ในด้านการศึกษาของ นักเรียนนายเรือแล้ว เสด็จในกรมฯ ทรงดำริ สำหรับการช่วยเหลือราษฎร ในด้านการดับเพลิงนั้น ควรจะได้ให ้นักเรียนนายเรือ ได้มีการฝึก ทำการช่วยเหลือราษฎร ทำการดับเพลิง เนื่องจากในสมัยนั้น พระนครธนบุรี ไม่มีกองดับเพลิง ที่อื่นเลย นอกจากที่กรมทหารเรือแห่งเดียว เพราะมีเรือสูบน้ำ และเรือกลไฟเล็ก ซึ่งขึ้นอยู่กับกรมเรือกลอยู่แล้ว และมีหน้าที่ดับเพลิง ฉะนั้นเมื่อเกิดเพลิงไหม้ที่ใด เรือกลไฟจะทำหน้าที่ ลากจูงเรือสูบน้ำ ไปทำการดับเพลิง เป็นประจำ ทรงตั้งกองดับเพลิงขึ้นโดยมี
๑. กองถัง
๒. กองขวาน
๓. กองผ้าใบกันแสงเพลิง
๔. กองรื้อและตัดเชื้อเพลิง
๕. กองช่วย
๖. กองพยาบาล
ต่อมา จึงได้เพิ่ม กองสายสูบขึ้น อีกกองหนึ่ง ในกองนี้ ได้ทรงจัดให้ นักเรียนนายช่างกล ทำหน้าที่ร่วมกับ นักเรียนอื่นๆ และเพื่อความชำนาญ ใหัมีการเปลี่ยนกันไปบ้าง ตามความสามารถ ของนักเรียน
การปฏิบัติงานของ กองดับเพลิงนั้น ได้รับคำชมเชยอยู่เสมอ ดังเช่น ในวันที่ ๔ และ ๕ เมษายน ๒๔๔๙ ได้เกิดเพลิงไหม้ ขนานใหญ่ที่ ตำบลราชวงศ์ กองดับเพลิง ได้ทำการดับเพลิง อย่างเข้มแข็ง จนได้รับคำชมเชยดังนี้
"...วันที่ ๖ เมษายน ๒๔๔๙ กรมทหารเรือได้ลงคำสั่งที่ ๘/๑๓๘ ให้ทราบทั่วกันว่า พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงสรรเสริญ ความอุตสาหะ ของกรมทหารเรือ ในการดับเพลิง ที่ตำบลถนนราชวงศ์ เมื่อวันที่ ๔ และ ๕ เมษายน ๑๒๕..." จึงให้กรมกองประกาศให้ นายทหาร พลทหาร และพลนักเรียนทราบทั่วกัน
เสด็จในกรมฯ ได้ทรงฝึกหัดอบรม สั่งสอนนักเรียนนายเรือแล้ว ยังได้ทรงเห็นความสำคัญ ในการศึกษาของ พลทหารเรือ ซึ่งถูกเกณฑ์ มารับราชการอีกด้วย จึงได้ทรงตั้งโรงเรียนต่างๆ ดังนี้
วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๙ ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๑ ที่จังหวัดสมุทรสงคราม
วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๙ ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๒ จังหวัดสมุทรสาคร
วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๙ ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๕ ที่ ตำบลบางพระ จังหวัดชลบุรี และตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๖ ณ ตำบลบ้านแพ จังหวัดระยอง และตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๗ ที่ จังหวัดจันทบุรี
วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๑ ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๔ จังหวัดสมุทรปราการ
วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๑ ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๓ ที่จังหวัดพระประแดง
ในการตั้งกองโรงเรียนต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วนี้ นอกจากจะได้ฝึกหัดอบรม พลทหารเรือ ให้ได้รับการศึกษาแล้ว ยังทรงหวัง ที่จะให้เป็นหน่วยกำลังทหาร สำหรับ รักษาชายฝั่งทะเลอีกด้วย สิ่งก่อสร้างก็ดี กิจการต่างๆ ของแต่ละกองก็ดี ได้จัดทำขึ้นคล้ายคลึงกันและแล้วแต่ความเหมาะสม กับสถานที่ของหน่วยนั้นๆ และพระองค์ได้เสด็จ ไปทรงดูแลสั่งสอนทหาร ตามกองโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิดเสมอ จะเห็นได้จาก กองจดหมายของนาวาตรี หลวงรักษาทรัพย์ (รักษ์ เอกะวิภาต) เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

เรืออัคเรศรัตนาสน์ "...เรื่องปลูกสร้าง ตั้งกองทหารที่บางพระ ชลบุรี เมื่อปลูกสร้างเสร็จแล้ว ได้แบ่งเอาทหารที่อยู่ ในกรุงเทพฯ ทั้งฝ่ายบกและฝ่ายเรือ ตลอดจนฝ่ายธุรการ ทุกแผนก แห่งละครึ่งหนึ่ง ให้เตรียมตัวขนของ ลงบรรทุกเรืออยู่ ๓ วัน คือ เรือมกุฎราชกุมาร เรือมูรธาสิตสวัสดิ์ เรืออัคเรศรัตนาสน์ เรือสุริยะมณฑล เรือนฤเบนทรบุตรี เรือจำเริญ รวม ๖ ลำ บรรทุกของเพียบไปตามๆ กันเสร็จแล้วออกเรือ แต่เจ้าพ่อประทับ ในเรืออัคเรศฯ พร้อมด้วยพวกฝ่ายธุรการ..."
นอกจากนี้เสด็จในกรมฯ ยังได้ทรงฝึกหัดให้ ทหารเรือได้ซ้อมรบบนบก ในบริเวณจังหวัดชลบุรี เพื่อให้ทหารเรือมีความรู้ ความชำนาญในทางบก อีกด้วย

อวดธง

ใน พ.ศ.๒๔๕๐ เสด็จในกรมฯ ได้ทรงนำ คณะนักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายช่างกล ประมาณ ๑๐๐ คนไป "อวดธง" ที่สิงคโปร์ ปัตตาเวีย ชวา และเกาะบิลลิทัน โดย ร.ล.มกุฎราชกุมาร (ลำที่ ๑) ในการเดินทาง ไปต่างประเทศ ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก และเสด็จในกรมฯ ทรงเป็นผู้บังคับเรือเอง พร้อมด้วยนักเรียน และทหารประจำเรือ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนไทยทั้งสิ้น เสด็จในกรมฯ ได้ทรงแบ่งเจ้าหน้าที่ประจำเรือดังนี้
๑. ผู้บังคับการเรือ
๒. ผู้ช่วยผู้บังคับการเรือ (คือตำแหน่งต้นเรือในปัจจุบัน)
๓. ยกกระบัตร (คือฝ่ายพลาธิการ)
๔. แพทย์
๕. นายทหารประจำเรือ เช่น ต้นหน ต้นปืน เป็นต้น
๖. หัวหน้าช่างกล (คือต้นกล) และตำแหน่งช่างกล มี รองต้นกลและนายช่างกล
ในการออกฝึก และอวดธงยังต่างประเทศ ครั้งแรกนี้ ทรงบัญชาการ ฝึกนักเรียนนายเรือ ด้วยพระองค์เอง ให้นักเรียนทำการ ฝึกหัดปฏิบัติการในเรือ ทุกอย่าง เพื่อให้มีความอดทน ต่อการใช้ชีวิต ด้วยความลำบาก เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และเพื่อให้เป็น ผู้เชี่ยวชาญ ในการปฏิบัติหน้าที่ ของตนจริงๆ มีความกล้าหาญรักชาติ ให้รู้จักชีวิต ของการเป็นทหารเรือ โดยแท้จริง ซึ่งจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในการปฏิบัติการต่างๆ ในเรือรู้จักหน้าที่ ตั้งแต่พลทหาร จนถึงนายทหาร นักเรียนนายเรือ ได้ฝึกอย่างจริงจัง เผชิญทั้งภัยธรรมชาติ ทั้งการฝึกของพระองค์ ดังจะกล่าวให้ทราบ เพียงบางส่วน เช่น ในระหว่างที่เรือแล่นจาก สิงคโปร์ เรือได้แล่นลัดช่องทางเดินเรือ ระหว่างเกาะแก่ง มาหลายวัน ขณะที่แล่นอยู่ในระหว่าง เกาะเล็กๆ ๒ ข้าง ปรากฏเป็นคลื่นคะนอง คลื่นลูกใหญ่ซัดเรือ ทำให้เรือเอียงไปมา เสด็จในกรมฯ ซึ่งขณะนั้น ประทับอยู่ท้ายเรือ รีบเสด็จขึ้นไปบน สะพานเดินเรือ ทรงเปลี่ยนเข็ม เบนหัวเรือและลดฝีจักรเรือ รับสั่งให้ทางห้องเครื่องจักร ระวังเครื่องให้พร้อมเพรียงที่สุด ขณะนั้นภายในเรือ เกิดการโกลาหลชั่วขณะหนึ่ง แต่ด้วยพระสติปัญญา อันสุขุมของพระองค์ และทรงพิจารณาสั่งการต่างๆ ตลอดจนอธิบาย ให้นักเรียน และทหารในเรือมิให้ตื่นเต้น หรือหวาดกลัวจนเกินไป จนทำอะไรไม่ถูก จึงทรงหาทางปลอดภัย ให้แก่เรือได้ เรือหลวงมกุฎราชกุมาร จึงได้แล่นไปโดยสวัสดิภาพ จนเข้าช่องลิกา (Linga Strait) เพื่อทอดสมอ และทำพิธีข้ามเส้นอิเควเตอร์
ขณะที่เรือหลวงมกุฎราชกุมาร ทอดสมอที่สิงคโปร์ นักเรียนนายเรือ ได้รับเชิญให้ไปดู การซ้อมรบของ ทหารอังกฤษ ซึ่งมีทหารประมาณ หนึ่งร้อยคน แต่งกายพรางตา เพื่อให้ข้าศึกเห็นเป็นหญ้าคา โดยเอาหญ้าคาเสียบไว้บนหมวกบ้าง บนบ่าบ้าง ฝ่ายทหารอังกฤษ จะเป็นฝ่ายเข้าตีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นแขกซิก มีจำนวนประมาณ ๒ กองร้อย นักเรียนนายเรือต่าง ได้รับคำสั่งให้แยกย้ายกันดู ไว้เป็นตัวอย่าง
เมื่อเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ได้กลับมาถึงชุมพร และจอดทอดสมอ ได้มีเจ้าเมืองชุมพร พร้อมด้วยข้าราชการ มาเฝ้าเสด็จในกรมฯ ได้รับสั่งให้ทำการฝึกยกพลขึ้นบก โดยให้แบ่งนักเรียนนายเรือ ออกทำการประลองยุทธ์ ทรงสั่งให้ควบคุมการฝึก อย่างเข้มแข็ง นักเรียนได้ทำการฝึกซ้อม การปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ อย่างว่องไว และเข้มแข็งเป็นที่พอพระทัย ของเสด็จในกรมฯ เป็นอย่างมาก บรรดาข้าราชการ และประชาชนที่ได้เห็น ต่างพากันชื่นชมยินดี และสรรเสริญเสด็จในกรมฯ ว่าทรงพระปรีชาอย่างยิ่ง ในการฝึกฝนอบรมนักเรียนนายเรือ เพื่อให้เป็นนายทหารที่เข้มแข็งในอนาคต
สำหรับการประลองยุทธ์ทางบกนี้ ยังได้ทรงให้มีการประลองยุทธ์อีกที่บางพระ วิธีการของพระองค์มีพอจะกล่าว เป็นสังเขปดังนี้ คือ ทรงแบ่งทหารออกเป็น ๒ กอง ก่อนออกฝึก ๗ วัน ทรงบัญชาการฝึก ความอดทนของทหาร โดยให้ใส่เครื่องสนามครบ เอาทรายใส่หลังแทนข้าวสาร วันแรกใส่ทราย ๑ ทะนาน วันต่อๆ ไปเพิ่มขึ้นวันละทะนานจนถึง ๗ ทะนาน และให้ฝึกทั้งเช้าและเย็น ทั้งนี้เพื่อให้กำลังทหารอยู่ตัว ในระหว่างการฝึกยังได้ทรงสอน วิธีหุงข้าว และหาอาหารในป่าด้วย กองทหารที่แบ่งออกเป็น ๒ กองนั้น จะแยกกันตั้งค่ายตามจุดของตน โดยจะสร้างเป็นหอคอยมีกำแพงล้อมรอบทำด้วยไม้ไผ่ และมีกองรักษาการณ์ตลอดเวลา เมื่อเริ่มออกทำการประลองยุทธ์ ต่างฝ่ายก็จะเดินทาง ไปยังจุดที่หมายพบกัน ณ ที่ใดก็เริ่มยิงต่อสู้กัน โดยใช้กระสุนซ้อมยิง จนกระทั่งถึงเวลาพักรบ ก็เลิกรากัน ต่างฝ่ายต่างกลับไปยังค่ายของตน เพื่อพักผ่อน เสด็จในกรมฯ รับสั่งให้ทำลายป้อมค่าย แล้วยกไปตั้งที่จุดใหม่ แล้วทำการรบอีกดังนี้ถึง ๓ ครั้ง
นอกจากการประลองยุทธ์ทางบกแล้ว ยังได้ทรงจัดให้มีการประลองยุทธ์ทางทะเลอีกด้วย ทั้งนี้ ก็เนื่องจากทรงมีพระประสงค์ จะให้เจ้าหน้าที่ต่างๆ ได้มีการฝึกหัด ให้มีความชำนาญ และมีพระประสงค์จะเห็นความสามารถ ของเจ้าหน้าที่ด้วย ทรงให้ฝึกหัดหลายอย่าง เช่นฝึกหัดเตรียมรบ หัดทิ้งลูกดิ่ง หัดตีกรรเชียง หัดสละเรือใหญ่ เป็นต้น นับว่าได้ทรงฝึกหัดทหารเรือ และนักเรียนนายเรือให้มีความชำนาญในการรบ และปฏิบัติการด้วยความเข้มแข็ง และมีความอดทนอย่างแท้จริง โดยที่พระองค์ ได้ทรงบัญชาการฝึก ด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิดตลอด เป็นต้นว่า ช่วยลากเชือกวิ่งในเวลาชักเรือบต และขนถ่ายของจากเรือใหญ่ แม้แต่วิธีปฏิบัติในเรือ เกี่ยวกับการอาบน้ำ หรืออาหาร ก็ทรงปฏิบัติเช่นเดียวกับทหารอื่นๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทหารทั้งหลาย ย่อมเห็นในพระอุตสาหะ และความห่วงใยของพระองค์ ที่มีต่อบรรดาทหารทั้งหลาย ทหารทั้งนั้นจึงได้รัก และเคารพในพระองค์ท่าน อย่างยิ่งประดุจว่าพระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งทหารเรือทั้งหลาย
การออกฝึกครั้งนั้น นอกจากจะทำให้นักเรียนนายเรือ ได้รู้จักปฏิบัติการจริงๆ ทางทะเลแล้ว ยังทรงนำสิ่งใหม่ มาสู่วงการทหารเรืออีก คือ แต่เดิมเรือรบของไทยทาสีขาว พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนสี เรือมกุฎราชกุมาร ให้เป็นสีหมอก ตามแบบอย่างเรือรบอังกฤษ และต่อมาเรือรบทุกลำของไทย ก็ทาสีหมอกมาจนทุกวันนี้
การที่เสด็จในกรมฯ ทรงนำนักเรียนนายเรือ ไปทำการอวดธง ในต่างประเทศครั้งนี้ จึงนับเป็นเกียรติแก่ทหารเรือไทย เพราะย่อมทราบกันทั่วไปว่า ชาติที่เป็นเอกราชเท่านั้น จึงจะมี "ธงราชนาวี" ของตนเองได้ ฉะนั้น เรือหลวงของราชนาวี จึงเป็นเสมือนประเทศไทยเคลื่อนที่ เมื่อไปปรากฎ ในต่างประเทศ ทหารเรือที่อวดธงครั้งนี้ แม้จะลำบากตรากตรำ ต่อหน้าที่การงานเพียงไร ทุกคนก็ภาคภูมิใจ ในเกียรติแห่งความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นอย่างยิ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นที่ประทับใจอยู่มิมีเสื่อมคลาย นับว่าทหารเรือไทย ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสำเร็จ ก็เพราะพระวิริยะอุตสาหะของ เสด็จในกรมฯ
ครั้นวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๑ เสด็จในกรมฯ ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เสด็จออกไปอำนวยการ ทดลองตอร์ปิโดที่สัตหีบ โดย ร.ล.เสือทยานชล และเรือตอร์ปิโดที่มิได้เข้าอู่ซ่อม เรือบุ๊กและเรือกว้าน ออกจากกรุงเทพฯ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์เสด็จในกรมฯ ทรงนำกระบวนเรือพิฆาตฯ และเรือตอร์ปิโด ไปฝึกหัดทางทะเล มีกำหนด ๑ เดือน
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเห็นความสำคัญของ กิจการทหารเรือ จึงได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้า บริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ศกเดียวกันนี้ ก็ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ซึ่งขณะนั้นกำลังทรงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรืออีกตำแหน่งหนึ่ง

งานอดิเรก

ถ้าจะพูดกันอย่างชาวบ้านสามัญชน ก็กล่าวได้ว่าเสด็จในกรมฯ หรือพระนามที่ชาวจีน นิยมเรียกขานด้วยความรักเทิดทูนบูชา ในพระองค์ผู้เปรียบเหมือน "พ่อ" จึงออกพระนามว่า "เสด็จเตี่ย" นั้น พระองค์ทรงเป็น "ชายชาติทหาร" อย่างเต็มตัว ฉะนั้นการกีฬาที่ทรงโปรดเป็นงานอดิเรก ก็คือการเล่นกีฬาแล่นเรือใบ ยามใดที่พอจะมีเวลาว่าง จากราชการแล้ว พระองค์ทรงโปรด ที่จะใช้เวลากับการแล่นเรือใบ โดยทรงถือท้ายเรือด้วยพระองค์เอง และยังทรงฝึกหัดให้ชายา และพระโอรสพระธิดา ได้หัดแล่นเรือใบในทะเล เพื่อให้มีความกล้าหาญ นอกจากความเพลิดเพลิน แล้วจะได้คุ้นเคย และถือทะเลเป็นเสมือนบ้าน ได้อีกความรู้สึกหนึ่งด้วย
นอกจากกีฬาแล่นเรือใบแล้ว กีฬาอีกประเภทที่ทรงโปรดก็คือ "มวย" และ "กระบี่กระบอง" เสด็จเตี่ยทรงฝึกหัดทั้งมวย และกระบี่กระบองอย่างเชี่ยวชาญ จนยากที่จะหาใครเทียบเคียงได้ และพระองค์ยังได้ ทรงสนับสนุนทหารเรือที่ช่ำชอง มีความสามารถในการชกมวยไทยอีกด้วย ทรงส่งนายยัง หาญทะเล เข้าชกชิงถ้วยชนะเลิศ ในการชกมวยไทย ซึ่งสมัยนั้นนักมวยยังใช้เชือกคาดมือชก พระองค์ทรงชุบเลี้ยงนายทหารเรือ ที่มีความสามารถในการชกมวย และกระบี่กระบอง ไว้มากมายหลายคน เนื่องเพราะทรงเห็นความสำคัญ ของศิลปะการต่อสู้แบบไทยแท ้และเป็นวิชาสำคัญในการป้องกันตัวอีกด้วย
แต่ก็มิใช่แค่การกีฬาเท่านั้น ที่เป็นงานอดิเรกหรือฮ้อบบี้ที่ทรงโปรดปราน การศิลปะหรือเชิงวิจิตรศิลป์ ก็ยังเป็นอีกงานอดิเรกหนึ่ง ซึ่งเสด็จเตี่ย ทรงมีพระปรีชาสามารถ เป็นพิเศษ พระองค์ทรงเขียนภาพพุทธประวัติ ไว้ที่ผนังโบสถ์วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ซึ่งก็ยังคง ปรากฏอยู่มาตราบจนทุกวันนี้ ภาพพุทธประวัตินั้น เป็นตอนพระพุทธเจ้า กับเบญจวัคคีย์ ภาพฝีพระหัตถ์อันงามวิจิตรที่ฝนังโบสถ์นั้น ก็บ่งบอกได้เป็นอย่างดี ถึงพระปรีชาสามารถ ในเชิงศิลปะของเสด็จเตี่ย และยังแสดงถึงพระทัย ที่ละเอียดอื่นลึกซึ้งอีกด้วย

เสด็จในกรมกับงานนิพนธ์

เสด็จในกรมหลวงฯ ทรงมีนิสัยในทางดนตรี โดยเฉพาะในเรื่องการแต่งเพลง ทรงพระปรีชาสามารถเป็นเยี่ยม ทรงนิพนธ์บทเพลงไว้หลายเพลง บทเพลงเหล่านั้น มีสาระสำคัญ ในการปลุกปลอบใจให้เข้มแข็ง ในยามทุกข์ส่งเสริมกำลังใจให้รักชาติ รักเกียรติ รักวินัยในยามสงบ และให้เกิดมุมานะกล้าตาย ไม่เสียดายชีวิตในยามศึก บทเพลงเหล่านั้น บรรดาทหารเรือทั้งหลาย ได้รับไว้เป็นพระอนุสรณ์ แห่งพระองค์ท่าน เกี่ยวกับบทเพลงพระพิพนธ์ นั้นนาวาตรีหลวงรักษาราชทรัพย์ (รักษ์ เอกะวิภาค) เขียนจดหมายไว้ดังนี้
"... เรื่องเพลงทหารเรือที่เจ้าพ่อทรงแต่ง เมื่อทหารสวดมนต์ไหว้พระแล้ว ให้ทหารร้องเพลงเพื่อปลุกใจเวลาที่ผมประจำอยู่กับเจ้าพ่อ เมื่อยกกองทหารไปตั้งที่บางพระ ทหารกรุงเทพฯ กับทหารหัวเมืองร้องเพลงผิด ๆ ถูก ๆ ไม่เป็นระเบียบเจ้าพ่อจึงสั่งให้เรือเอกหลวงอาจณรงค์ เลขานุการของเจ้าพ่อเขียนตามคำบอกเสร็จแล้วใช้พิมพ์ดีดพิมพ์ แล้วลงพระนาม "อาภากร" ให้เอาไปปิดไว้ที่กองบัญชาการ ให้หัวหน้ากองทหารต่าง ๆ มาคัดเอาไปสอนทหาร ผมได้คัดมา ๑ ฉบับด้วยเหมือนกัน และได้จดลงในสมุดใหญ่เก็บรักษาไว้ที่บ้านมาจนถึงบัดนี้
เท่าที่ผมได้ยินร้องกันเวลานี้ มีแต่เพลง
๑. ฮะเบสสมอพลัน ออกสันดอนไป ...
๒. เกิดมาทั้งที มันก็มีอยู่แต่ทุกข์ภัย ...
๓. เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น ... "

ทรงถูกปลดออกจากราชการ

ครั้นถึงวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระองค์ ออกจากราชการอยู่ ชั่วระยะหนึ่ง รวมเวลาที่เสด็จในกรมฯ ทรงรับราชการครั้งแรก ๑๑ ปี
สาเหตุที่ออก ก็เพราะว่ามีพวกทหารเรือไปเที่ยว พบกับทหารมหาดเล็ก เกิดเรื่องวิวาท กันขึ้น เรื่องทราบไปถึง พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เข้า ทรงไม่พอพระทัย รับสั่งให้เจ้าคุณรามราฆพ ไปทูลเสด็จในกรมฯ ให้ส่งทหารเรือที่วิวาทกับ ทหารมหาดเล็กไปให้ ท่านไม่ยอมส่งให้ ได้ให้ทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า เป็นเรื่องของคนวิวาทกัน ซึ่งจะว่าข้างใดเป็นผู้ผิดไม่ได้ และท่านก็รักทหารเรือ ของท่านเหมือนกับลูก ท่านไม่เคยส่งลูกไปให้ใครเขาเฆี่ยนตี ถ้าจะตีก็จะตีเสียเอง พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วรับสั่งว่า ถ้าท่านไม่ส่งไปให้ก็ต้องให้ออก เพราะว่าทำงานร่วมกันไม่ได้ เสด็จในกรมฯ จึงต้องออกจากราชการในคราวนั้น
นอกจากนั้นในตอนฝึกเสือป่า ก็มีเรื่องไม่เป็นที่พอพระทัย คือซ้อมรบมีกันหลายฝ่าย พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงซ้อมรบด้วยหลายครั้ง ปรากฏว่าฝ่ายลูกน้อง เสด็จในกรมฯ ไปจับเอาพระเจ้าอยู่หัว และองครักษ์มาโดยไม่ทราบว่าเป็น พระเจ้าอยู่หัว แล้วมาทูลเสด็จในกรมฯ ว่าตนได้จับฝ่ายตรงข้ามได้สองคนเข้าใจว่าจะเป็นคนสำคัญ เสด็จในกรมฯ ได้แอบดูก็รู้ว่าเป็น พระเจ้าอยู่หัว จึงรับสั่งให้ปล่อยไป โดยให้ลูกน้องของพระองค์ แกล้งลืมกุญแจไว้ เพราะถ้าปล่อยโดยตรง รัชกาลที่ ๖ ก็จะไม่โปรดอีก จะกริ้วเอาเปล่าๆ จะหาว่าเสด็จในกรมฯ ทรงแกล้งแพ้
ในระยะนั้นมีข่าวลือว่า เสด็จในกรมฯ ทรงคิดจะขบถ หากสำเร็จจะยกให้ กรมพระนครสวรรค์ฯ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน และเสด็จในกรมฯ จะเป็นวังหน้า เนื่องจากเสด็จในกรมฯ และกรมพระนครสวรรค์ เป็นพี่น้องที่รักกันมาก เพราะถูกอัธยาศัยกัน อีกทั้งฝ่ายมารดาก็ต่างเป็น คนในตระกูลบุนนาคด้วยกัน คนเป็นจำนวนมาก จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง กรมพระนครสวรรค์ฯ เอง ก็ทรงเสียพระทัยมาก คิดจะกราบถวายบังคมลาออกจากราชการอยู่หลายครั้ง แต่มีคนทูลอ้อนวอน ไม่ให้ออกก็เลยอ่อนพระทัยระงับการลาออก

หมอพรของชาวบ้าน

พระคัมภีร์อติสาระวรรค "... เสด็จในกรมฯ ได้ทรงออกจากประจำการ ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ และได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์ แผนโบราณ จากตำราไทย ทรงเขียนตำราสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ ของพระองค์เอง ซึ่งกล่าวกันว่า ปัจจุบันสมุดข่อย ตำรายานี้ได้เคยเก็บรักษาอยู่ ณ ศาลกรมหลวงชุมพร นางเลิ้ง เป็นสมุดข่อยปิดทองที่สวยงามมาก มีภาพพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิ เขียนด้วยหมึกสี ด้านซ้าย และด้านขวา เป็นภาพฤาษี ๒ องค์ นั่งพนมมือ ถัดมาเป็นรูป พระอาทิตย์ทรงราชรถ และมีอักษรเขียน เป็นภาษาบาลีว่า "กยิราเจ กยิราเถนํ" ขอบสมุดเขียน เป็นลายไทยสีสวยงาม หน้าต้นของสมุดตำรายานี้มีข้อความว่า
"พระคัมภีร์อติสาระวรรค โบราณกรรม และปัจจุบันกรรม จบบริบูรณ์ ของกรมหมื่นชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ทรงค้นคว้า ตรวจหาตาม คัมภีร์เก่า เกือบจะสูญสิ้นอยู่แล้ว จนสำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๕๘ "..."
เมื่อทรงลาออกจาก ราชนาวีแล้ว ทรงอยู่ว่างๆ รำคาญพระทัย จึงลงมือศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ จนชำนิชำนาญ และรับรักษาโรค ให้ประชาชนพลเมืองทั่วไป โดยไม่คิดมูลค่า จนเป็นที่เลื่องลือว่า มีหมออภินิหารรักษาความป่วยไข้ได้เจ็บ ได้อย่างหายเป็นปลิดทิ้ง
ทรงเห็นว่าการช่วยชีวิตคน เป็นบุญกุศลแก่พระองค์ จึงทรงตั้งหน้าเล่าเรียน กับพระยาพิษณุฯ หัวหน้าหมอหลวง แห่งพระราชสำนัก ซึ่งหัวหน้าฝ่ายยาไทย ของประเทศไทยผู้นี้ ก็ได้พยายามถ่ายเทความรู้ให้ พระองค์ได้พยายามค้นคว้า และปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา เช่น เอาสัตว์ปีกจำพวก นก เป็ด ไก่ ที่ตายแล้วใส่ขวดโหลดองไว้ ที่เป็นๆ ก็จับเลี้ยงไว้ในกรงอีกมากมายไว้ที่วัง ทรงหมกมุ่นอยู่กับการแยกธาตุ และทดลองทั้งวัน ถึงแม้ว่าจะทรงชำนิชำนาญ ในกิจการแพทย์ฝ่ายแผนโบราณ แล้วก็ตาม แต่จะไม่ทรงยินยอมรักษาใคร เป็นอันขาด จนกว่าจะได้รับการทดลองแม่นยำแล้วว่า เป็นยาที่รักษาโรคชนิดพื้นๆ ให้หายขาดได้ อย่างแน่นอน ให้ทรงทดลองให้สัตว์เล็กๆ กินก่อน เมื่อสัตว์เล็กกินหาย ก็ทดลองสัตว์โต เมื่อสัตว์โตหาย จึงทดลองกับคน และประกาศอย่างเปิดเผยว่า จะทรงสามารถ รักษาโรคนั้นโรคนี้ ให้หายขาดได้
เมื่อผู้คนพากันรู้ว่า เจ้าพ่อรักษาโรคได้ฉมังนัก จึงทำให้ร่ำลือ และแตกตื่นกันทั้งบ้าน ทั้งเมือง ไม่ทรงให้ใครเรียกพระองค์ว่า เสด็จในกรมฯ หรือยกย่อง เป็นเจ้านาย แต่ทรงเรียกพระองค์เองว่า "หมอพร" เมื่อมีประชาชน มาหาพระองค์ให้รักษา ก็ทรงต้อนรับ ด้วยไมตรีจิต และรักษาให้เป็นการฟรี ไม่คิดค่ารักษา แต่ประการใด นอกจากจะเชิญไปรักษาตามบ้าน ซึ่งเจ้าของไข้จะต้องหารถรา ให้พระองค์เสด็จไป และนำเสด็จกลับ โดยมากเป็นรถม้าเท่านั้น
เมื่อกิตติศัพท์ร่ำลือกันว่า หมอพรรักษาโรคได้ฉมังนัก และไม่คิดมูลค่าเป็นเงินทองด้วย ประชาชนก็พาเลื่อมใสทั้งกรุงเทพฯ และระบือลือลั่นไปทั้งกรุง เป็นเหตุให้ ความนิยมพระองค์ ได้กว้างขวาง และกิตติศัพท์นี้ ก็ไปถึงพระกรรณ ในหลวง ร.๖ ซึ่งทำให้ทรงพิศวงไม่ใช่น้อย เหมือนกับว่า อนุชาของพระองค์เป็นผู้ที่ แปลกประหลาดอย่างยิ่งทีเดียว ทั้งๆ ที่ยังหนุ่มแน่น ทหารก็รักใคร่และเรียกเป็น "เจ้าพ่อ" เดี๋ยวนี้ประชาชนทั้งเมือง เลื่องลือกันว่าเป็นผู้วิเศษกันอีก ที่สำคัญคือไม่คิดเงินคิดทองผู้ไปรักษา จึงทำให้สภาวะของวังพระองค์ท่าน กลายเป็นโรงพยาบาลเล็ก ๆ ที่ต้อนรับผู้คนอย่างแน่นขนัดขึ้นมา ทุกวันจะมีคนไปที่วังแน่นขนัด และทรงต้อนรับด้วยดีทุกคน เมื่อไปถึงก็พากันกราบกราน ที่พระบาท ขอให้ "หมอพร" ช่วยชุบชีวิต คนเจ็บคนป่วย ก็ทรงเต็มพระทัยรักษาให้ จนหายโดยทั่วกัน

เจ้ากรมจเรทหารเรือ

วันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๐ กระทรวงทหารเรือ ได้มีคำสั่งที่ ๑๘๙/๐๔๓๓๘ ให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพร เขตอุดมศักดิ์ กลับเข้ารับราชการ ในกระทรวงทหารเรือ ในตำแหน่ง เจ้ากรมจเรทหารเรือ เนื่องจาก ประเทศไทย ได้เข้าสงครามโลก และทหารเรือยังขาด ผู้สามารถจริงๆ อยู่ขณะนั้น และต่อมาในวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๑ เสด็จในกรมฯ ได้รับพระราชทานยศเป็น นายพลเรือโท
เมื่อทรงเข้ารับราชการ ดำรงตำแหน่งจเรทหารเรือ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๐ แล้ว งานสำคัญที่ทรงทำในโอกาสแรก คือในวันที่ ๓ สิงหาคม เสนาบดี กระทรวงทหารเรือ ได้ให้เสด็จในกรมฯ ทรงเป็นผู้ตรวจอาวุธ ของเชลยที่ยึดได้ และให้ทรงออกความเห็น เกี่ยวกับอาวุธเหล่านี้ว่า พวกเยอรมัน จะคิดอ่านก่อการจลาจล ขึ้นในกรุงเทพฯ หรือไม่ เสด็จในกรมฯ ทรงออกความคิดเห็นที่สำคัญไว้ดังนี้
• "...ปืนแบบทหารที่มีดาบปลายปืนพร้อม จำนวน ๓๕ ปืน
กระสุนสำหรับปืนนั้นชนิดธรรมดา จำนวน ๒,๖๐๙ นัด
กระสุนชนิดขยายตัวได้ (ดัมดัม) จำนวน ๑๐๐ นัด
ปืนที่อาจจะใช้ในการรบได้ จำนวน ๓ ปืน
กระสุนธรรมดา จำนวน ๑๔๒ นัด
กระสุนชนิดขยายตัวได้ (ดัมดัม) จำนวน ๑๒๐ นัด
ปืนพก จำนวน ๓๗ ปืน
กระสุน จำนวน ๒,๙๑๓ นัด
แค่ปืนแบบทหารที่มีอยู่นั้น เป็นปืนที่ทหารเยอรมัน เลิกใช้มานานแล้ว การที่มีปืนประจำเรือค้าขาย เรือละ ๕ - ๖ ปืนเช่นนี้ มักจะเป็นเรือ ที่จะใช้กะลาสีจีน พวกนายเรือ และต้นกลไม่ไว้ใจ จึงได้มีปืนยาว เช่นปืนทหารที่รุแล้ว เป็นต้น เอาไว้ป้องกันตัว ตามจำนวนนายเรือ แลนายช่างกล คือปากเรือประมาณ ๓ - ๔ คนบ้าง ช่างกล ๒ - ๓ คน คนละปืน ส่วนลูกระเบิด รวมทั้งหมด มีจำนวน ๑๓๖ ลูก เป็นลูกระเบิดชนิด ที่ใช้ระเบิดปลา เรือค้าขายพวกชาวคอนติเนนต์ มักจะใช้กันโดยมาก เป็นเรือค้าขาย ประเทศเดนมาร์ก เป็นต้น เคยมีเสมอ แต่การที่เรือเหล่านี้มีอาวุธติดเรือเข้ามา ในลำน้ำเจ้าพระยา เกือบทั้งหมด ไม่ได้ลงทะเบียน ก็อาจจะทำให้เป็นที่น่าสงสัย ว่า เจ้าหน้าที่ทราบอยู่แล้ว หรือไม่ ถ้าไม่ได้บอกกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ให้ทราบ ก็เป็นอันผิดพระราชกำหนดกฎหมาย ก็คงจำเป็นต้องสงสัยว่า จะคิดอ่านการจลาจลเป็นแน่
อีกประการหนึ่ง กระสุนปืนบางจำพวก ที่มีอยู่แต่ไม่มีตัวปืนนั้น ทำให้เป็นที่สงสัยว่า เจ้าของอาจจะทิ้งน้ำเสียก่อนการจับกุมเสร็จ ส่วนปืนทหาร และปืนที่อาจจะใช้รบได้ รวมกันมีจำนวน ๓๘ ปืนนั้น ถึงจะเอามาใช้ในการก่อความจลาจล ก็จะไม่เป็นประโยชน์มากนัก เพราะเป็นปืนที่ไม่มีซองกระสุน ซึ่งต้องบรรจุกระสุนทีละนัด (เว้นไว้แต่ ที่มีอยู่ในเรือพิษณุโลกเพียง ๔ ปืนนั้นเท่านั้น) การที่ปืนติดเรือมา ในลำน้ำเจ้าพระยาได้นั้น เจ้าหน้าที่ควรจะรู้จำนวนตัวปืน และกระสุนโดยละเอียดอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ได้ แสดงต่อเจ้าหน้าที่เลย ก็ต้องนับว่าผิด พระราชบัญญัติต้องเป็นที่สงสัย ในความมุ่งหมายที่สุด ถ้าจะคิดส่วนปืนที่ใช้รบได้ อันมีอยู่รวมกัน ๓๘ ปืน กับกระสุน ๒,๙๘๑ นัด นั้นคงคิดถัวกันได้ปืนละ ๗๘ นัด แต่การที่จะทิ้งน้ำเสียก่อน ก็อาจจะเป็นจำนวนมากขึ้น ถ้ามีแต่เพียงเท่านี้จริง ก็ดูไม่น่าจะคิดการจลาจล ได้สะดวก แม้แต่จะป้องกันตนเอง ก็ไม่พอแก่การ..."

เสนาธิการกระทรวงทหารเรือ

ครั้นวันที่ ๒๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ พ้นจากตำแหน่งจเรทหารเรือ เข้าทรงดำรงตำแหน่ง เสนาธิการทหารเรือ เมื่อเสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาธิการทหารเรือนั้น ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ เนื่องจากผลของการสำรวจ พื้นภูมิประเทศบริเวณสัตหีบ เสด็จในกรมฯ ทรงมีความเห็น ทางด้านยุทธศาสตร์ว่า สมควรใช้พื้นที่บริเวณ ตำบลที่สัตหีบสร้างเป็น ที่มั่นสำหรับ กิจการทหารเรือขึ้น ตามชายฝั่งและเกาะต่างๆ ในอ่าวสัตหีบ เพราะทำเลเหมาะแก่การ สร้างเป็นฐานทัพเรือ ตามพระราชประสงค์ ในด้านการป้องกันฐานทัพ ได้ทรงให้ความเห็นไว้ว่า ควรสร้างป้อมปืนใหญ่ขนาดตั้งแต่ ๑๖ นิ้ว ลงมาจนถึง ๔.๗ นิ้ว และปืนยิงเครื่องบินด้วย โดยพร้อมขึ้นไว้ บนยอดเกาะต่างๆ ในอ่าวสัตหีบ นอกจากนี้ ควรสร้างป้อมวางปืนใหญ่ชนิดต่างๆ เพื่อป้องกันการส่งทหารยกพลขึ้นบก ของข้าศึกด้วย ส่วนสถานที่ทำการ จะต้องที่สร้างสิ่งต่างๆ เช่น โรงพยาบาล โรงทหาร โรงงาน สถานีเรือบินทะเล การประปา การคมนาคม การสุขาภิบาล ฯลฯ ดังนั้นในวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๔ เสด็จในกรมฯ ในฐานะเสนาบดี กระทรวงทหารเรือ ได้มีลายพระหัตถ์ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานที่ดิน ที่สัตหีบ เพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ แก่กองทัพเรือ ดังลายพระหัตถ์ ดังนี้คือ

ทรงตั้งฐานทัพเรือที่สัตหีบ

แผนกปกครอง กรมเสนาธิการทหารเรือ
วันที่ ๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๕ ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ตามหลักของยุทธศาสตร์ การทหารเรือ ซึ่งกล่าวถึงฝึกหัดบำรุงความชำนิชำนาญในทางทะเล ก็ย่อมยึดถือการอยู่ทะเล เป็นการใหญ่ ตลอดถึง การรวมทัพ ก็ดี ย่อมจะยึดถือ ไชยภูมิที่เหมาะ ในเขตร์นั้น ที่จะทำการ เป็นฐานทัพได้ เป็นหลักอีกส่วนหนึ่ง จึงทำให้ นายทหาร พรรคนาวิน ทั้งสิ้นแม้แต่ เป็นชาวต่างประเทศ ก็ย่อมเห็นด้วยพร้อมกันว่า สำหรับประเทศสยาม มีอยู่แห่งเดียวที่ควรเป็นหลัก เช่นนี้ได้ ก็คือ ที่อ่าวสัตหีบ ซึ่งมีคุณแลโทษดังต่อไปนี้
๑. อยู่เป็นสถานกลางของอ่าวสยาม
๒. เป็นต้นทางของ VITAL POINT คือแม่น้ำเจ้าพระยาดังแผนที่ A
๓. น้ำลึกพอที่จะเป็นอ่าวเรือใหญ่ หรือที่ฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโดได้
๔. มีเกาะต่างๆ เป็นที่กำบังสำหรับเล็ดลอดออกกระทำการยุทธวิธีด้วยเรือเล็กได้สะดวก
๕. ที่บนบกไม่ได้ตกเป็นสิทธิ์ขาด ของผู้หนึ่งผู้ใด โดยทรงพระมหากรุณาให้เทศาภิบาลหวงห้ามไว้ เป็นพระคุณแก่ทหารเรืออย่างยิ่ง
๖. ทางบก มีทางติดต่อกับรถไฟสายปราจีณได้สะดวกไม่ต้องกลัว Isolation
๗. โดยข้อ ๖ นั้นเองอาจติดต่อกับกำลังทางทหาร และเป็นปีกหนึ่งของกองทัพบก ฝ่ายตะวันออกได้สะดวก
๘. เป็นที่ฝึกหัดทางทะเลได้ ตลอดทั้งสองมรสุมโดยเป็นที่กำบังมิดชิด
โทษ
๑. ในเวลานี้ยังไม่มีที่ขังน้ำจืด
๒. ในเวลานี้ยังกันดารด้วยเสบียงอาหาร
๓. ในเวลานี้ยังห่างจากคมนาคม กับกรุงเทพฯ คือยังไม่มีรถไฟ
๔. ถ้าจะให้เป็นที่มั่น จะเปลืองค่าป้อมและเครื่องกัน ในข้อนี้ไม่ว่าที่ใดที่เป็นฐานทัพแล้ว ต้องป้องกันทั้งสิ้น
๕. ในชั้นต้นนี้จะจัดเป็นฐานทัพยั่งยืนไม่ได้ โดยไม่มีทุนพอที่จะสร้างในเร็ววัน
๖. เวลานี้ความไข้ชุกชุมมาก เพราะเป็นที่รกร้างโดยไม่มีใครจะถากถาง เพราะยึดเป็นกรรมสิทธิ์ของตนไม่ได้
นอกจากที่กล่าวไปถึงคุณและโทษ ก็ยังมีแต่ที่เกี่ยวข้องกับการสงคราม โดยอากาศยาน ซึ่งไม่จำเป็นจะกล่าวไปถึง เพราะในที่นี้ จักกราบบังคมทูล พระกรุณาแต่เรื่องกองทัพเรือ เท่านั้น ถึงแม้จะทำเป็นสถานีอากาศยาน ชายฝั่งทะเล ก็คงต้องยึด กองทัพเรือ เป็นหลักสำคัญ คือถ้าไม่มีกองทัพเรือแล้ว กองอากาศยานก็จะตั้งไม่ได้ โดยปราศจากอันตราย เช่นที่กำลังเป็นอยู่ที่อ่าวมะนาว ข้าศึกในชั้นต้น ก็จำเป็นจะต้องใช้ แต่เพียงเรือเร็วขนาดเล็ก เข้าไปเผาผลาญทำลายโรงงานการเก็บ และซ่อมแซมหมดในไม่กี่ชั่วนาฬิกา ฉะนั้นในที่นี้จะขอพระราชทานงดกล่าว ถึงการสงคราม โดยทางอากาศยาน ที่กราบบังคมทูลพระกรุณา มาล้วนเป็นหลักประกอบ กับกองทัพเรือ โดยเฉพาะทั้งสิ้น
จำเดินตั้งแต่เสด็จพระราชดำเนินประพาสทะเล โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีลำเก่า เมื่อประมาณ ๑๐ ปี มานี้ พร้อมด้วยกองทัพเรือ ไปประทับในอ่าวสัตหีบ ได้ทราบเกล้าทราบกระหม่อมว่า ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการซ้อมรบทางเข้าตีด้วยเรือตอร์ปิโด ในที่สุดเมื่อทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพระพุทธเจ้าได้กลับเข้ารับราชการครั้งนี้เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ ได้ทราบเกล้าทราบกระหม่อมต่อไปว่า เมื่อเสด็จพระราชดำเนิน คราวนั้นนอกจากมี พระราชประสงค์จะสร้าง พระราชวัง ที่ตำบลแล้ว ยังมีพระราชประสงค์ ให้เทศาภิบาล เป็นผู้หวงห้ามที่ตำบลนั้นไว้ ตลอดตั้งแต่เกล็ดแก้ว ถึงแสมสาร ซึ่งเป็นที่ดินใหญ่โตมาก หวังพระราชทานที่ดินนี้ให้เป็นสิทธิ์แก่ทหารเรือ ซึ่งเป็นพระราชวินิจฉัยตรง ในทางยุทธศาสตร์การเรือโดยแท้ ผู้ที่เคยเล่าเรียน และมีอาชีพทางทหารเรือแท้ ย่อมสรรเสริญพระราชวินิจฉัยนี้อย่างยิ่ง
ตั้งแต่นั้นมาเทศาภิบาลมณฑลปราจีณ ก็ได้หวงห้ามที่ดินรายนี้ต่อๆ กันมาตามพระราชประสงค์จนบัดนี้ แต่มาคิดด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า น่าจะเป็นการกลับกลายเข้าใจผิดไปบางข้อ โดยมีเหตุเกิดขึ้นเมื่อก่อน ๓ ปีคือ ก่อนที่ข้าพระพุทธเจ้า ได้กราบถวายบังคมลาออก ไปประเทศยุโรปคราวนำ ร.ล.พระร่วง เข้ามา ในคราวฝึกซ้อมตอร์ปิโดคราวนั้น ข้าพระพุทธเจ้า ได้เป็นแม่ทัพคุมกระบวนเรือ ออกไปฝึกซ้อม และทดลองสอบกระสุนตอร์ปิโดที่สัตหีบ เห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า การตั้งเครื่องหมาย และทดลองต่างๆ ภายในลูกตอร์ปิโด จะทำในเรือตอร์ปิโดไม่สะดวก เพราะที่คับแคบ ควรขึ้นทดลอง ไกน้ำ ไกบก หางเสือตั้ง หางเสือขวาง และการกระดกลูกตุ้มแผ่นน้ำ ให้ทดลองเสียบนบก ทั้งได้ทราบเกล้าทราบกระหม่อมว่า ที่ตำบลนี้ มีพระราชประสงค์ จะพระราชทาน ให้เป็นสิทธิ์แก่ทหารเรืออยู่แล้ว จึงได้บังอาจขึ้นไปถากถาง ที่จะทำโรง หรือปลูกเต็นชั่วคราว ที่แหลมเทียนตรงที่ กองเรือจอด เมื่อถางเสร็จ ได้มีกำนันมาห้าม ไม่ให้ถางต่อไป และไม่ให้ปลูกในที่นั้น อ้างว่าเป็นที่หวงห้าม เพื่อก่อสร้างพระราชวัง และได้อธิบายถึงเขตเหล่านี้ พร้อมด้วยลายลักษณ์อักษรประกอบด้วย
ในเวลานั้น จอมพลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ยังทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวง ทหารเรืออยู่ ข้าพระพุทธเจ้า จึงได้นำความขัดข้อง ขึ้นกราบทูลตามคำชี้แจงของอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด และมีรับสั่งโดยทรงเห็นว่า เทศาภิบาล คงจะไม่เข้าใจ ในพระราชประสงค์ แต่ถึงอย่างไรก็ดี จำนวนเงินที่จะก่อสร้างต่อไปนั้น ไม่มีในงบประมาณ และถ้าจะใส่ ในงบประมาณคราวหน้า ก็จะเป็นจำนวนมากมาย เกรงด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม จะเป็นการโต้เถียง กับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ไม่สะดวก และยังไม่จำเป็นนัก จึงเป็นอันระงับเรื่องนี้ไว้ก่อน ครั้นต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา ภาณุพันธุ วงศ์วรเดช ได้ทรงกำกับ ราชการทหารเรือ ข้าพระพุทธเจ้าได้นำถวายเรื่องนี้อีก โปรดเกล้าให้ทำสกีม และในที่สุดได้ดำเนินการ ไปตามความเห็น ดังรายงานการประชุม สภาบัญชาการครั้งที่ ๒ ซึ่งทรงมอบให้ ข้าพระพุทธเจ้าดำริห์ และจัดการสำรวจพื้นที่ เพื่อที่จะได้นำขึ้น ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย บัดนี้แผนที่นั้นพึ่งได้ทำสำเร็จ ข้าพระพุทธเจ้า มาเห็นว่าที่นั้น ใหญ่โตมาก เหลือที่จะปกปักรักษา ถากถางได้ ถ้าแม้พระราชทาน ให้แก่ทหารเรือตามพระราชประสงค์เดิม ทหารเรือจำเป็นจะต้องแบ่งที่ทั้งหมด ออกเป็นสองตอน คือตอนหนึ่งที่ต้องการแท้ ต้องหวงห้ามกรรมสิทธิ์ กับอีกตอนหนึ่งไม่หวง แต่ไม่อยากให้ต่างประเทศมาจับจอง หรือรับซื้อไปได้ ข้าพระพุทธเจ้า ได้ขีดเส้นลงดังปรากฏ ในแผนที่ ซึ่งได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายมาพร้อมกับหนังสือฉบับนี้ ด้วยแล้ว การทั้งนี้ถึงแม้จะทรงพระราชดำริห์ เห็นชอบด้วยตามนี้ ก็จำต้องค่อยดำเนินการไปทีละเล็กละน้อย เพราะเป็นที่รกร้างมาก และประกอบด้วย ความไข้ชุกชุม ทั้งไม่มีใครจะกล้าถากถางลงไป เพราะไม่มีสิทธิ์ที่จะจองที่เหล่านั้นเป็นของตน ซ้ำยังมีผู้คอยห้าม การฟันไม้ถางป่า โดยเข้าใจผิดอีกชั้นหนึ่ง เช่นทหารเรือเองก็ถูกห้าม ประจวบกับทหารเรือ ยังไม่มีทุนพออยู่ด้วย แต่การประหยัดพระราชทรัพย์ ภายหน้า ทางทหารเรือก็จะได้ดำเนินการ เป็นการเข้มงวดขึ้น การก่อสร้างก็คงจะทำได้ปีละเล็กละน้อย โดยเลิกกองทหารระยอง และบางพระ มารวมเสียที่สัตหีบ บางพระเป็นย่านกลางแท ้กับทั้งบางพระ และบ้านแพ ระยอง ซึ่งเป็นสถานีนายทหารเรือ ก็ไม่ใช่เป็นที่ป้องกัน หรืออาศัยของกองทัพเรือได้ โดยเป็นอ่าวเปิดเผยมีหาดยาวยืด เรือเข้าใกล้ไม่ได้ เช่นสะพานน้ำต้องยาวถึง ๗ เส้น เป็นการเปลืองเปล่าแท้ ไม่เป็นประโยชน์ต่อเรือเลย ในการฝากเสบียงอาหาร ถ่านน้ำมัน ข้าพระพุทธเจ้ามองไม่เห็นว่า เหตุใดจึงเลือกที่เหล่านี้เป็นสถานี นอกจาก อากาศดีเท่านั้น
ตามที่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา มาแล้วนี้ ก็หวังอยู่ในพระมหากรุณาธิคุณ เพื่อพระราชทานสิทธิ์ แก่กระทรวงทหารเรือ ให้มีอำนาจอนุญาต ผู้ที่จะจับจองทำไร่ ทำนาและถากถางตามควร ซึ่งไม่เกินขีดขั้นพระราชบัญญัติ การตัดไม้ ส่วนที่หวงห้ามแท้นั้น ก็จะได้เปิดใช้เช่า ทำโดยคิดราคาย่อมเยา ในปีแรกๆ เห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า คงจะมีผู้เช่าน้อย แต่ต่อไปสัก ๓ ปี เมื่อราษฎร ได้รับความสะดวก และเห็นผลจริงจังขึ้น กับทั้งนี้กองทหาร ไปตั้งก็จะชักชวนกันมาทำทวีมากขึ้น ความไข้ก็จะเสื่อมทราม โดยการถากถางเรียบราบลง เมื่อได้ถึงขั้นนี้แล้ว ทหารเรือคงจะก่อสร้างฐานทัพได้ ทั้งจะเป็นประโยชน์ ในการประหยัด พระราชทรัพย์ด้วย ในระหว่างนี้ คงทำแต่เพียงโรงเรือน พออาศัยชั่วคราวขึ้นก่อน เพื่อตั้งที่ทำการสรรพาวุธ พัสดุ เชื้อเพลิง และหาวิธีขังน้ำรับประทาน และขุดบ่อน้ำใช้การ ที่หลังทุ่งไก่เตี้ยก่อน ดังได้สำรวจแล้ว ในแผนที่ว่าเป็นบึงตื้นๆ การทั้งนี้จะสำเร็จลงได้ ก็ต้องอาศัยการประหยัดทรัพย์สิน ของทหารเรืออย่างอุกฤษฐ์ โดยที่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา มาในหนังสือของข้าพระพุทธเจ้า ฉบับก่อนนี้แล้ว ซึ่งแม้จะได้กล่าวถึง โรงเรียนพลทหารเรือที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ก็ยังหาได้กราบบังคมทูล กำหนดที่จะเลิกกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๔ และที่ ๖ ไม่ ที่รอไว้ ก็เพื่อจะประสมรอย กับการที่สัตหีบนี้
ถึงแม้ยังไม่เป็นที่แจ่มแจ้งอย่างไร โดยความเขลา ของข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทาน บรมราชวโรกาศ อธิบายด้วยปาก พร้อมกับแผนที่ อีกชั้นหนึ่ง พระอาญาไม่พ้นเกล้าพ้นกระหม่อม การจะควรประการใดสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า
อาภากร ขอเดชะ
นายพลเรือเอก เสนาธิการทหารเรือ

ต่อมาในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๕ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานที่ดิน ที่สัตหีบให้แก่กองทัพเรือ เพื่อจัดตั้งเป็นฐานทัพเรือ ต่อไปดังพระราชกระแส ดังนี้

พระราชกระแสตอบเสนาธิการทหารเรือ
ลับ ที่ ๒/๒๔๙ วังพญาไท
วันที่ ๑๖ กันยายน พทุธศักราช ๒๔๖๕ ทูล กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ลายพระหัตถ์ที่ ลงวันที่ ๖ เดือนนี้ หารือเรื่องจะจัดสัตหีบเป็นฐานทัพเรือนั้น ตรงตามความปรารถนา ของหม่อมฉันอยู่แล้ว เพราะที่ให้สั่งหวงห้ามที่ดินไว้ ก็ด้วยความตั้งใจจะให้เป็นเช่นนั้น แต่เมื่อเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะใช้ เป็นฐานทัพเรือ และไม่อยากให้โจทย์กันวุ่น จึงได้กล่าวไว้ดังว่า สำหรับเผื่อจะมีผู้ขอจับจอง ฝ่ายเทศาภิบาล จะได้ตอบไม่อนุญาต ได้โดยอ้างเหตุว่า หม่อมฉันต้องการ เมื่อบัดนี้ทหารเรือจะต้องการที่นั้น ก็ยินดีอนุญาตให้ และให้สั่งไปยังกระทรวงมหาดไทยแล้ว
ราม ร.
ในวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้ทรงกระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งนับเป็นครั้งที่สอง ที่พระองค์กลับมาดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ

จัดซื้อเรือหลวงพระร่วง

ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ ข้าราชการทั้งหลาย พากันสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และได้ปรึกษากันในอันที่จะ แสดงความจงรักภักดี กตัญญูกตเวที บรรดาข้าราชการมีความเห็นว่า เป็นการจำเป็นที่ จะต้องมีการป้องกัน ราชอาณาจักร ทางทะเล จึงเห็นพ้องกันว่า ควรจะได้มีการช่วยกัน ออกทุนทรัพย์ คนละเล็กละน้อย เพื่อรวบรวม ซื้อหรือสร้างเรือรบ ถวายพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวสักลำหนึ่ง ในการดำเนินการจัดหาเงินทุนนี้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสะดวก จำเป็นต้องตั้ง เป็นสมาคมขึ้น พระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบ และได้พระราชทาน ชื่อสมาคมที่จัดตั้งนี้ว่า "ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม" และทรงรับเป็น องค์อุปถัมภ์สมาคม พร้อมทั้งพระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สมทบด้วย สำหรับเรือ ที่จะจัดซื้อนี้ได้รับพระราชทาน นามว่า "เรือหลวงพระร่วง"
เสด็จในกรมฯ ทรงได้รับพระกรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ข้าหลวงพิเศษออกไป จัดสรรหาซื้อเรือในภาคพื้นยุโรป พระองค์ได้เสด็จ เสาะแสวงหาอยู่หลายประเทศ จึงได้ทรงพบเรือพิฆาตตอร์ปิโด ของบริษัททอร์นิครอฟท์ แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งมีชื่อเดิมว่า "เรเดียนท์" ทรงพิจารณาเห็นว่าเป็นที่เหมาะสม แก่ความต้องการของ กองทัพเรือ และเป็นเรือที่เพิ่งต่อขึ้นใหม่ จึงได้ทรงชี้แจง มายังกรรมการ ราชนาวีสมาคม ซึ่งคณะกรรมการ ของสมาคม ก็มีความเห็นชอบด้วย
เสด็จในกรมฯ ทรงเป็นผู้บังคับการเรือพระร่วง เองพร้อมด้วยนายทหารเรือไทย และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ซึ่งเป็นทหารเรืออังกฤษ นำเรือจากประเทศอังกฤษ เข้ามาถึง กรุงเทพมหานคร ปรากฏพระเกียรติยศ เป็นครั้งแรกที่นายทหารเรือไทย สามารถเดินเรือทะเลได้ไกลถึงเพียงนี้ จึงถือเป็นเกียรติประวัติของราชนาวีไทย และเป็นการปรากฏ พระเกียรติคุณแห่งเสด็จในกรมฯ เรือหลวงพระร่วงได้เดินทาง เข้ามาถึงประเทศเมื่อ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ การต้อนรับ และการสมโภชเรือหลวงพระร่วง ได้เป็นไปอย่างมโหฬาร และเอิกเกริกอย่างยิ่ง ในพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานเลี้ยง เนื่องในการฉลอง เรือหลวงพระร่วง ณ สมาคมสหทัยสมาคม เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๖๓ ได้ทรงกล่าวถึงพระเกียรติคุณ ของเสด็จในกรมฯ ในการนำเรือพระร่วงมาสู่ประเทศไทยว่า
"...ส่วนกรมหลวงชุมพร ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่า เป็นนายทหารเรือไทยคนแรก ที่นำเรือรบไทยมาจากต่างประเทศได้ และที่ยากมากปานใด ในการนำมานั้น ท่านทั้งหลาย คงพอจะเดาเอาได้ เมื่อทราบว่าบรรดาลูกเรือนั้น เป็นชาวต่างประเทศทั้งนั้น และที่นำมาได้ โดยสวัสดิภาพ ก็แสดงให้เห็นได้ว่า เป็นผู้ชำนาญทะเลจริง นับว่าสมควร ที่จะได้รับความขอบใจ ของข้าพเจ้าและ เสด็จในกรมฯ ได้ทรงปฏิบัติราชการสืบมา จนได้รับพระราชทานเลื่อนยศจาก พลเรือโท ขึ้นเป็น พลเรือเอก เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๓ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระอิสริยศักดิ์ เลื่อนจาก "กรมหมื่น" ขึ้นเป็น "กรมหลวง" เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๓ ดังประกาศ ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓ เล่ม ๓๗ และ ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดี กระทรวงทหารเรือ ทรงบัญชาการทหารเรือเต็ม ตามตำแหน่งดัง ประกาศตั้ง เสนาบดีในหนังสือราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ เล่มที่ ๔๐

สิ้นพระชนม์ที่ชุมพร

เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เพียงไม่กี่วันเท่านั้น ก็ได้กราบบังคม ลาออกจากราชการ ไปตากอากาศ เพื่อพักผ่อน รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ทั้งนี้ก็เพราะ เสด็จในกรมฯ ทรงมีสุขภาพ ไม่สมบูรณ์ และประชวร พระโรค ภายใน อยู่ด้วย ทางกระทรวง ทหารเรือ ได้สั่งให้กระบวนเรือที่ ๒ จัด ร.ล.เจนทะเล ถวายเป็นพาหนะ และกรมแพทย์ทหารเรือ ได้จัดนายแพทย์ประจำพระองค์ ๑ นาย พร้อมด้วยพยาบาลตามเสด็จไปด้วย เสด็จในกรมฯ ได้เสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ เสด็จในกรมฯ ได้เสด็จไปประทับ อยู่ที่ด้านใต้ปากน้ำ เมืองชุมพร ซึ่งเป็นที่เสด็จในกรมฯ ทรงจองไว้จะทำสวน ขณะที่เสด็จในกรมฯ ประทับอยู่ที่จังหวัดชุมพรนี้ ก็เกิดเป็นพระโรคหวัดใหญ่ เนื่องจากถูกฝน ทรงประชวรอยู่เพียง ๓ วัน ก็สิ้นพระชนม์ที่ ตำบลทรายรี ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ สิริพระชนมายุได้ ๔๔ พรรษา
ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ร.ล.เจนทะเล ได้เชิญพระศพ จากจังหวัดชุมพรมายังกรุงเทพฯ และมาพักถ่ายพระศพสู่ ร.ล. พระร่วง ที่บางนา ต่อจากนั้น ร.ล.พระร่วงได้นำพระศพ เข้ามายังกรุงเทพฯ นำพระศพประดิษฐาน ไว้ที่วังของพระองค์ท่าน พระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พระราชทาน จนถึงวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศพ ไปพระราชทานเพลิง ณ พระเมรุท้องสนามหลวง

พระอิสริยศักดิ์

๒๓ มิถุนายน ๒๔๓๓ นายเรือโท เทียบเท่ายศ นาวาตรี ในปัจจุบัน
๓ พฤษภาคม ๒๔๔๔ นายเรือเอก เทียบเท่ายศ นาวาเอก ในปัจจุบัน
๕ พฤษภาคม ๒๔๔๗ พลเรือตรี
๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๔๗ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์
๓๐ ธันวาคม ๒๔๖๐ พลเรือโท
๒๓ เมษายน ๒๔๖๓ พลเรือเอก
๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๓ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ตำแหน่งหน้าที่ราชการ

ทรงรับราชการในตำแหน่งต่างๆ ของกองเรือ ตามหลักฐานที่ปรากฏ
ผู้บังคับการเรือ ร.ล. มูรธาวสิตสวัสดิ์ ๒๔๔๓
รองผู้บัญชาการกรมทหารเรืออีกตำแหน่งหนึ่ง ๑๖ กันยายน ๒๔๔๔
รองผู้บัญชาการกรมทหาร ๒๕ ตุลาคม ๒๔๔๗
เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ๑ มีนาคม ๒๔๔๘
ผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ
(ยกฐานะกรมขึ้นเป็นกระทรวงทหารเรือ) ๒๓ ธันวาคม ๒๔๕๓
เสด็จอออกประจำการชั่วระยะหนึ่ง ๑๔ เมษายน ๒๔๕๔
จเรทหารเรือ ๑๕ มกราคม ๒๔๖๐
เสนาธิการทหารเรือ ๑ สิงหาคม ๒๔๖๐
เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ๒๗ กันยายน ๒๔๖๑
รักษาการณ์ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๖๕
เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ๑ เมษายน ๒๔๖๖

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นบำเหน็จความชอบ ดังต่อไปนี้
ประถมจุลจอมเกล้าวิเศษ ๒๑ กันยายน ร.ศ. ๑๑๙ (๒๔๔๐)
มงกุฎสยามชั้น ๑ มหาสุราภรณ์ ๑๗ มกราคม ๒๔๔๗
เข็มเงิน เสด็จประพาสยุโรป ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๕๐
เข็มพระชนมายุสมมงคลชั้น ๑ ทองคำลงยา ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๒
เหรียญบุษปมาลากาไหล่ทอง ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๒
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๕ ชั้นที่ ๒ ๓๐ มกราคม ๒๔๕๓
เข็มข้าหลวงเดิม ๑๔ สิงหาคม ๒๔๕๔
มหาโยธินรามาธิบดี ๒๓ กรกฎาคม ๒๔๖๑
ประถมาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๑ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๖๑
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๑ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๔
ตรารัตนาวราภรณ์ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๖๔
เหรียญจักรมาลา ๑๓ มีนาคม ๒๔๖๕
เหรียญราชินี นพรัตน์ราชวราภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับจักรพรรดิจีน

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับจักรพรรดิจีน

ต้วน ลี เชิง เขียน

ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี แปล

เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและสัมพันธภาพระหว่างพระองค์กับจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชอาณาจักรจีน ที่ปรากฎในเอกสารของจีนแต่เดิมมีการอ้างอิงกันน้อย ทั้งนี้ คงจะเนื่องจากยังขาดการค้นคว้าและการแปลถ่ายทอดเป็นภาษาไทย ความจริงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และสัมพันธภาพระหว่างพระองค์กับจักรพรรดิเฉียนหลงได้รับการบันทึกในเอกสารของจีน อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในหลายกรณี และน่าจะเป็นประโยชน์พอสมควรแก่การพิจารณาใช้ประกอบการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี ทั้งในด้านพระราชประวัติส่วนพระองค์ และประวัติศาสตร์กรุงธนบุรี รวมทั้งสัมพันธภาพระหว่างกรุงธนบุรีกับราชวงศ์ชิงแห่งอาณาจักรจีนด้วย

บทความเรื่องนี้ จะเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในส่วนพระองค์เกี่ยวกับกรุงธนบุรี รวมทั้งสัมพันธภาพระหว่างพระองค์กับจักรพรรดิเฉียนหลง ตามที่ปรากฎในเอกสารของจีนประเภทต่าง ๆ อันได้แก่ จดหมายเหตุราชวงศ์ชิง และสำนวนเอกสารราชการในราชสำนักชิง รวมทั้งข้อเขียนของเอกชน
พระชาติภูมิของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ใน จดหมายเหตุราชวงศ์ชิง ได้บันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “…แต่เดิมเป็นคนมีฐานะต่ำต้อย ซึ่งอยู่ในชนบท ต่อมาระหกระเหินไปย่านทะเลอันไกลโพ้น และเป็นหัวหน้าของชนเผ่าท้องถิ่นที่นั่น” ( 1 ) และในหนังสือ กุ่ยซื่อเล่ยเก่า ซึ่งเป็นข้อเขียนของเอกชนชื่อ หยูเจิ้งเซี่ย ก็กล่าวว่า “อันเจิ้งเจา (หมายถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี – ผู้แปล) ก็คือชาวจีนนั่นเอง” ( 2 ) ข้อความที่ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นชาวจีนที่อพยพไปจากเมืองจีน ปรากฎว่าขัดแย้งกับเอกสารอื่นซึ่งระบุว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชบิดาเป็นชาวจีนที่อพยพไปจากเมืองจีนและมาอยู่อาณาจักรอยุธยา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงมีพระชาติกำเนิดเป็นชาวไทย เชื้อสายจีน รายละเอียดในประเด็นนี้จะได้กล่าวในโอกาสต่อไป

พระนามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ปรากฎในเอกสารจีนมีการกล่าวถึงหลายอย่างต่างกัน ในจดหมายเหตุราชวงศ์ชิง มีว่า “ผี่เอียซิน” (หมายถึงพระยาสินหรือพระยาตากสินอันเป็นคำแปลทับศัพท์) บ้าง และมีว่า “กันเอินซื่อ” บ้าง (คงจะหมายถึงพระยากำแพงเพชร ซึ่งอาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า “กันเฉิง” ในภาษาแต้จิ๋ว ซึ่งอ่านว่า “กังเซี้ย” เพราะว่าชาวจีนในอยุธยาสมัยนั้นเรียกชื่อเมืองกำแพงเพชร เช่นนั้น ปัจจุบันชาวจีนมักจะเรียกเมืองกำแพงเพชรว่า “หันอิ่ง” ซึ่งอ่านเป็นภาษาแต้จิ๋วว่า “หั่มเท่ง”) สำหรับชาวจีนในเมืองไทยได้เรียกว่า “เจิ้งเจา” (อ่านเป็นแต่ภาษาแต้จิ๋วว่า “แต้เจียว”) มาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งแปลว่า กษัตริย์เจิ้ง เพราะคำว่า “เจา” มาจากคำว่า “เจ้า” ในภาษาไทย ส่วน จดหมายเหตุดานัง (เอกสารของเวียดนาม) เรียกพระนามสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “เจิ้งกั๋วอิง” (อ่านออกเสียงเป็นภาษาจีนกลาง)
เอกสารจีนบางชนิด กล่าวถึงภูมิลำเนาเดิมของพระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าอยู่ในเมืองจีน หากถือตามข้อมูลซึ่งเชื่อถอกันแพร่หลายมากที่สุด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีย่อมทรงมีพระราชกำเนิดเป็นคนไทยเชื้อสายจีน

ภูมิลำเนาเดิมดังกล่าวอ้างถึงไม่ตรงกัน บ้างก็ว่าอยู่ที่ “หุ้ยโจว” บ้างก็ว่าอยู่ที่ “ไห่เฟิง” (หมายถึงไฮฟิง – ผู้แปล) บ้างก็ว่าอยู่ที่ “เฉิงไห่” โดยที่ทั้งสามแห่งนี้ต่างก็เป็นอำเภอในมณฑลกวางตุ้งทั้งสิ้น

ตามผลการสำรวจของผู้เขียน น่าเชื่อว่าพระบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่หมู่บ้านหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ มณฑลกวางตุ้ง เพราะว่าปัจจุบัน ณ ที่หมู่บ้านดังกล่าวซึ่งเรียกว่า “อูเอียตี้” ยังปรากฎสุสานสัญลักษณ์ซึ่งบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ไม่ปรากฎปีที่สร้าง ในหนังสือเรื่อง ประวัติเจิ้งเจา (ประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี – ผู้แปล) ของ ซื่อสือเอ้อเหมยจีซื่อ (เป็นนามปากกา – ผู้แปล) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “บ้านของข้าพเจ้าอยู่ที่หนานเอี๋ยง ห่างจากหมู่บ้านหัวฟู่เป็นระยะทางเพียงไม่กี่ลี้ สมัยเมื่อข้าพเจ้ายังเยาว์วัยเคยไปดูสุสานของเจิ้งเจา ปรากฎว่ามีสภาพปรักหักพังอย่างมากครอบครัวจำนวนไม่กี่ครอบครัวของทายาทตระกูลนี้ ก็มีฐานะยากจนเหลือประมาณ เมื่อคราวต้นศักราชแห่งสาธารณรัฐจีน (ปีแรกของศักราชแห่งสาธารณรัฐจีนเท่ากับ ค.ศ. ๑๙๑๑ หรือ พ.ศ. ๒๔๕๔ -ผู้แปล) ชาวหมู่บ้านเดียวกันได้ช่วยเหลือบูรณะขึ้นใหม่ ปัจจุบันจึงยังแลดูสวยงามเรียบร้อย” ( 3 ) พอจะประมาณได้ว่า สุสานสัญลักษณ์ ซึ่งบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคงจะมีขึ้นก่อนปีศักราชแห่งสาธารณรัฐจีน
น่าสังเกตว่า ตาม บันทึกความทรงจำแห่งแม่น้ำอานเจียง ซึ่งเป็นเอกสารท้องถิ่นของอาณาบริเวณแต้จิ๋ว (อำเภอเฉิงไห่ ก็เป็นอำเภอหนึ่งในแต้จิ๋ว – ผู้แปล) อ้างว่า ชาวแซ่เจิ้ง (แซ่แต้ – ผู้แปล) ในเฉิงไห่ได้อพยพจากอำเภอผูเถียน มณฑลฮกเกี้ยน เมื่อนับถึงสมัยพระบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คงจะเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว ปัจจุบัน ณ ที่หมู่บ้านหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ ยังปรากฎศาลเจ้าประจำตระกูลเจิ้งแห่งหนึ่ง ตามศิลาจารึกแผ่นเล็ก ๆ ซึ่งประดิษฐานข้างประตูศาลเจ้าได้จารึกว่าศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นในปีที่ ๑๑ แห่งศักราชสาธารณรัฐจีน (พ.ศ. ๒๔๖๕ - ผู้แปล) ตามผลการสำรวจปรากฎว่าตระกูลเจิ้งในหมู่บ้านหัวฟู่นี้ไม่ใช่ตระกูลใหญ่โต และส่วนมากมีฐานะยากจนคงจะไม่มีกำลังทุนทรัพย์พอที่จะสามารถสร้างศาลเจ้าประจำตระกูลแห่งนี้ขึ้นได้ จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นกำลังทุนทรัพย์ของทายาทตระกูลเจิ้ง ซึ่งอยู่ต่างประเทศ

นอกจากนั้น สำหรับสุสานสัญลักษณ์ซึ่งบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี น่าเชื่อว่าคงจะมิได้รับการดูแลปฎิสังขรณ์จากสำนักชิง ทั้งนี้ เพราะว่าราชสำนักชิงดูแคลนชาวจีนโพ้นทะเลว่า เป็นบุคคลที่สละละทิ้งฐานะที่เป็นบุคคลของราชสำนัก และเรียกสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าเป็น “หัวหน้าเผ่าชน” อย่างไรก็ดี เนื่องจากชาวหมู่บ้านมีความเคารพสักการะสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังนั้น สุสานนี้จึงดำรงคงอยู่ตลอดถึงปัจจุบัน
สำหรับพระบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี น่าเชื่อว่าได้อพยพมาอยุธยาในต้นรัชสมัยยงเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิง โดยเรือสำเภาแต้จิ๋ว ซึ่งหัวเรือทาสีแดง ในสมัยนั้นลงเรือที่ท่าเรือจังหลิน อำเภอเฉิงไห่ ในหนังสือ ประวัติเจิ้งเจา ของซื่อสือเอ้อเหมยจีซื่อ ได้เล่าว่า “บิดามีนามว่า ต๋า เป็นนักเลงใจคอกว้างขวางนอกรีตนอกรอย ชาวบ้านตั้งสมญานามว่า ต๋านักเลง (คำเดิมไต๋จื่อต๋า แปลว่า ต๋านักเลงในความหมายเป็นคนไม่ดี – ผู้แปล) คำว่า นักเลง หมายถึงนักเที่ยวเตร่ ไม่ประกอบสัมมาอาชีวะ ดังนั้น ด้วยความมีฐานะยากจนไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ประกอบกับชาวบ้านมีความรังเกียจด้วย จึงอาศัยเรือล่องทะเลมาทางใต้” ( 4 )

สาเหตุที่พระบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยสารเรือทะเลอพยพมาใต้ตามที่อ้างถึงในหนังสือดังกล่าว ไม่น่าจะเป็นสาเหตุโดยตรง เพราะว่าในปลายรัชสมัยชิง ชาวอำเภอเฉิงไห่ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่อยุธยากันเป็นจำนวนมากมาย ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุหลายประการที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ดังนั้น พระบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงน่าจะอพยพโดยสาเหตุทำนองเดียวกับชาวอำเภอเฉิงไห่ทั้งหลายที่ทำการอพยพในสมัยเดียวกันนั้น
อาณาบริเวณของอำเภอเฉิงไห่เป็นพื้นที่ซึ่งมีประชากรหนาแน่น แต่ที่ทำกินมีจำนวนน้อย “ที่ดินเพื่อการทำนามีน้อยประกอบกับน้ำทะเลที่ขึ้นลงไอน้ำจากน้ำเค็มที่แผ่กระจายไปทั่วเมื่อปะทะกับลำต้นข้าวกล้า ก็จะทำให้ต้นกล้าเฉาตาย ผลการทำนาจึงแตกต่างกันอย่างมากกับที่ดินซึ่งอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นชาวนาจึงได้ผลเก็บเกี่ยวน้อย แต่ขณะเดียวกันต้องทำงานมาก “ ( 5 ) ผลได้จากการทำนาไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงชีพในระยะเวลาสามเดือน” ( 6 ) ภายใต้สภาวะที่ประชากรมากขึ้น แต่พืชพันธุ์ธัญญาหารและทรัพยากรน้อยลงเช่นนี้ ชาวอำเภอเฉิงไห่จำนวนมากต้องอาศัยการหาเลี้ยงชีพทางทะเลเป็นสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น “อำเภอเฉิ่งไห่ตั้งอยู่ ณ ปลายแม่น้ำหันเจียง พื้นดินต่ำแฉะจึงเกิดอุทกภัยเกือบทุกปี” ( 7 ) ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านอำเภอเฉิงไห่ต้องประสบกับชะตากรรมจากภัยธรรมชาติเป็นนิตย์เช่นนี้ จึงทำให้ขาวนาจำนวนมากตกอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว และเป็นบุคคลไร้อาชีพ บุคคลเหล่านี้มีความจำเป็นต้องทิ้งถิ่นไปยังดินแดนอันไกลโพ้นเพื่อความอยู่รอด นี่เป็นสาเหตุประการแรกที่ทำให้ชาวอำเภอเฉิงไห่ อพยพข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังดินแดนทางทะเลใต้
นอกจากนั้น ในต้นรัชสมัยชิง ทางราชสำนักห้ามประชาชนออกทะเลอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ เนื่องจากกองทัพต่อต้านราชวงศ์ชิงของเจิ้งเฉิงกง ได้อาศัยเกาะไต้หวันและแนวฝั่งทะเลทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานทัพ กระทำการด้วยกำลังทางทหาร เพื่อล้มล้างราชวงศ์ชิงและฟื้นฟูราชวงศ์หมิง กองทัพนี้ครั้งหนึ่งได้ตีถึงอำเภอเฉิงไห่ พู่หนิง และจี๋เอี๋ยง กระเทือนราชบัลลังก์ของราชวงศ์ชิงไม่ใช่น้อย ดังนั้น ราชสำนักชิงในรัชกาลคังซีปีที่ ๑ มีคำสั่งให้ประชาชนตามฝั่งทะเลอพยพให้ห่างจากชายฝั่งทะเลถึง ๕๐ ลี้เข้าสู่พื้นที่ลึกเข้าไป และยกเลิกเขตการปกครองของอำเภอเฉิงไห่ นอกจากนั้น ยังมีบทกฎหมายกำหนดไว้ว่า “บุคคลผู้ใดไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ทหารและประชาชรก็ตาม หากออกทะเลทำการค้าโดยพลการ และอพยพไปพำนักและปลูกพืชไร่ทำกินตามเกาะแก่งต่าง ๆ ให้รู้ถือว่าสมรู้ร่วมคิดกับโจรผู้ร้ายต้อง ระวางโทษประหารชีวิต” ( 9 ) นโยบายห้ามติต่อทางทะเลและอพยพประชาชนเข้าสู่พื้นที่ลึกเข้าไป ได้ดำเนินการอยู่ตลอดระยะเวลา ๒๒ ปี ผลแห่งการนี้ปรากฎว่าเศรษฐกิจตามชายฝั่งทะเลซบเซาและประชาชนฝืดเคืองยิ่งขึ้น ดังนั้น หลังจากที่บุคคลผู้เป็นหลานของเจิ้งเฉิงกงซึ่งมีชื่อว่าเจิ้งเค้อส่วนได้ยอมจำนนต่อราชสำนักชิงในปีที่ ๒๒ แห่งรัชกาลคังซี (พ.ศ. ๒๒๒๖) แล้ว ทางราชสำนักชิงจึงได้เริ่มเปิดด่านศุลกากรอนุญาตให้ประชาชนออกทะเลทำการค้าได้นับแต่นั้นเป็นต้นมา “อาณาเขตทางทะเลมีความสงบสุขสันติประชาชนกับพ่อค้าต่างก็ได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบังเกิดแก่ประโยชน์แก่ประชาชนชาวกวางตุ้ง และฮกเกี้ยนอย่างมาก” ( 9 ) นี่เป็นสาเหตุประการที่สองแห่งการอพยพของประชาชนอำเภอเฉิงไห่
อนึ่ง ปรากฎว่าชาวอำเภอเฉิงไห่ซึ่งอพยพออกนอกประเทศนั้น ส่วนมากได้อพยพมายังอาณาจักรอยุธยาในสมัยนั้น ทั้งนี้เป็นผลจากพัฒนาการทางการค้าข้าวระหว่างไทยกับจีน กล่าวคือเมื่อปีที่ ๖๑ (พ.ศ. ๒๒๖๕) แห่งรัชกาลคังซี จักรพรรดิคังซีทรงรับทราบจากทูตบรรณาการของสยามว่า “ดินแดนแห่งนั้นข้าวอุดมสมบูรณ์มาก ราคาก็ถูกด้วย เงินน้ำหนักประมาณ ๒ - ๓ สลึง สามารถซื้อข้าวได้ถึง ๑ สือ” ( 10 ) (แต้จิ๋วอ่านว่า เจี๊ย – ผู้แปล) ราชสำนักชิงจึงได้ประกาศส่งเสริมการค้าข้าวระหว่างไทยกับจีน เพื่อแก้ไชปัญหาการขาดแคลนข้าวในมณฑลกวางตุ้งและฮกเกี้ยน อำเภอเฉิงไห่ขาดแคลนข้าวในขณะเดียวกันก็มีความชำนาญในการเดินเรือทะเล จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่อำเภอเฉิงไห่ได้สร้างสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นกับอาณาจักรสยาม “พ่อค้าประชาชนชาวอำเภอเฉิงไห่ ซึ่งขอรับใบอนุญาตไปทำการค้าข้าวกับอาณาจักรสยามเพื่อบรรเทาความขาดแคลนของประชาชนนั้น ความจริงได้ดำเนินการมาแล้ว ๔๐ กว่าปี แต่ปรากฎว่าเรือค้าข้าวดังกล่าว ทราบว่าเมื่อเดินทางไปแล้ว จำนวนที่กลับมาอีกมีเพียงห้าถึงหกคนในจำนวนสิบคนเท่านั้น” ( 11 )
กรณีการอพยพมาอาณาจักรสยามของพระบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี น่าเชื่อว่าได้กระทำภายใต้สภาวะดังกล่าวในยุคนั้น ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังไม่ปรากฎข้อมูลมากกว่านี้ แต่ก็สามารถสันนิษฐานว่า พระบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นชาวนาที่แร้นแค้นในสมัยนั้น และการอพยพคงจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับภัยธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันหลายปีในอำเภอเฉิงไห่เมื่อยุคต้นของรัชกาลยงเจิ้งแต่สาเหตุทางอ้อมคงจะเกี่ยวกับการเติบโตทางการค้าข้าวระหว่างไทยกับจีน และนโยบายการผ่อนคลายให้ชาวจีนออกนอกประเทศ รวมทั้งความตื่นตัวของชาวจีนแต้จิ๋วในการอพยพมาพำนักอาศัยในอาณาจักรสยามสมัยนั้น ในต้นยุคแห่งราชวงศ์ชิง
สัมพันธภาพระหว่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับราชสำนักชิง

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้สถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว ทรงมอบหมายให้เฉิยเหม่ยเซิง ซึ่งเป็นพ่อค้าทางเรือชาวจีนนำสาสน์ไปเมืองกวางโจว เสนอขอสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับราชสำนักชิง การที่พระองค์ทรงดำเนินการเช่นนี้คงจะเนื่องจากสาเหตุหลายประการ ประการแรก เนื่องจากสมัยนั้นอยุธยากับจีนอยู่ในสถานะสงครามกับพม่า กล่าวคือทางหนึ่งพม่าลงใต้ตีอยุธยา อีกทางหนึ่งก็ขึ้นเหนือก่อกวนจีน ดังนั้น คงจะมีพระราชประสงค์ให้สงครามต่อต้านพม่าของพระองค์กับสงครามรุกพม่าของจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง มีลักษณะสนับสนุนซึ่งกันและกันการร่วมมือกับจีนอาจมีผลสกัดกั้นการขยายแสนยานุภาพของพม่า ประการที่สอง พระองค์คงจะมีพระราชประสงค์ให้ราชสำนักชิงรับรองทางการทูต เพื่อให้การเสวยราชสมบัติของพระองค์มีความชอบธรรม และได้รับการยอมรับรวมทั้งเพื่อใช้อำนาจการปกครองในฐานะเจ้าประเทศราชต่อเขมรและลาวด้วย ประการสุดท้าย เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าพระองค์คงจะมีพระราชประสงค์ฟื้นฟูการค้าในระบบบรรณาการระหว่างสยามกับจีน ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาช้านาน ทั้งนี้ทางหนึ่งจะได้ซื้อยุทธปัจจัยซึ่งกรุงธนบุรีมีความจำเป็นอย่างมากโดยวิธีทางปกติจากจีน เช่น กำมะถัน เหล็ก ทองแดง เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะได้ขายสินค้าที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของตนเอง อันได้แก่ข้าวและเครื่องเทศด้วย
ส่วนทางราชสำนักชิง ก็ปรากฎว่ามีความใส่ใจอย่างมากในสถานการณ์ของอาณาจักรสยาม จึงแสดงออกถึงความกังวล เมื่อพม่ารุกรานกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ ย่อมจะสืบเนื่องมาแต่ทางจีนก็ทำสงครามกับพม่าด้วย ท่าทีของราชสำนักชิงต่อประเทศต่าง ๆ ในอาณาบริเวณเอเชียอาคเนย์ในสมัยนั้น คือ “ไม่เคยมีความประสงค์เข้าครองครองดินแดนย่านนี้อย่างใดเลย” ( 12 ) อันที่จริงสมรรถนะในการขยายอำนาจไปยึดครองโดยตรงก็คงไม่เพียงพอด้วย จึงมุ่งหวังให้ดินแดนแถบนี้ ดำรงรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจทางการเมือง และปราศจากมหาอำนาจอื่นมาครอบงำ

ข้าหลวงประจำมณฑลยูนนานและกุ้ยโจวมีนามว่าหยางอิ้งจี้ได้กราบบังคมทูลเมื่อเดือน ๔ แห่งปีที่ ๓๒ (พ.ศ. ๒๓๑๐) ของรัชกาลเฉียนหลง เสนอขอให้ร่วมมือกับสยามตีกระหนาบพม่า แต่จักรพรรดิเฉียนหลงไม่ทรงเห็นชอบ พระองค์เห็นว่า “ส่วนการที่จะนัดหมายกับสยามตีกระหนาบนั้นก็ยิ่งจะเป็นเรื่องไร้สาระซึ่งน่าขบขัน การทำสงครามโดยอาศัยกำลังจากประเทศราช นอกจากจะไร้ประโยชน์แล้ว ยังรังแต่จะทำให้ดินแดนในอาณัติเกิดความดูแคลนด้วย จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำเป็นอันขาด” ( 13 ) อย่างไรก็ดี เข้าใจว่าถึงแม้พระองค์จะทรงแสดงว่าไม่เห็นพ้องด้วย แต่ก็ทรงติดใจเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย เพราะว่าทรงรับสั่งให้ข้าหลวงประจำมณฑลกวางตุ้งและกว่างซีซื่อหลี่ซื่อเหยาให้ติดตามสืบเสาะเรื่องราวภายในอาณาจักรสยามอย่างใกล้ชิด แล้วรายงานราชสำนักทางปักกิ่ง
เมื่อเดือนเก้าของปีที่ ๓๒ (พ.ศ. ๒๓๑๐) แห่งรัชกาลเฉียนหลง หลี่ซื่อเหยาทราบข่าวว่าสยาม “ถูกเผ่าท้องลาย (หมายถึงพม่า) ตีเมืองแตก กษัตริย์ของอาณาจักรนั้นหลบหนีหายสาบสูญไป” “แต่เนื่องจากเป็นข่าวเล่าลือ จะเชื่อเสียทีเดียวยังไม่ได้” จึงได้มอบหมายให้นายทหารตำแหน่งอิ๋วจี๋ (คงจะเทียบเท่าผู้บังคับกองพัน – ผู้แปล) ชื่อสี่หยวน โดยสารเรือพาณิชย์ไปสยาม “เพื่อสืบเสาะว่าเท็จจริงเป็นประการใด” ปรากฎว่าสี่หยวนถึงแก่กรรมที่ลิ่วคุร (นครศรีธรรมราช – ผู้แปล) นายทหารผู้ติดตามชื่อม่ายเซินได้กลับถึงเมืองกวางโจว เมื่อวันที่ ๑๑ เดือน ๗ ปีที่ ๓๓ (พ.ศ. ๒๓๑๑) แห่งรัชกาลเฉียนหลง นอกจากนั้น ยังมีบุคคลอื่นที่เดินทางมาถึงพร้อมกันในเรือลำเดียวด้วย คือ อำมาตย์ตำแหน่งชากวนชื่อหลินอี้ และตำแหน่งท่องสื่อชื่อม่อหยวนเกา แห่งเมืองเหอเซียน (พุทไธมาศหรือบันทายมาศหรือฮาเตียน) ซึ่งมีม่อซื่อหลินเป็นเจ้าครองนคร ทั้งนี้ได้นำแผนที่ของสยามมาด้วย ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วันมีพ่อค้าทางเรือคนหนึ่งชื่อเฉินเหม่ยเซิง ซึ่งได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เดินทางมาถึงกวางโจว โดยนำพระราชาสาสน์ขอให้จักรพรรดิเฉียนหลงรับรอง หลี่ซื่อเหยาผู้เป็นข้าหลวงที่ “มีความสามารถและหลักแหลมรอบรู้” “ดำเนินการเรื่องเกี่ยวกับเสียนหลอ (สยาม) ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม” สมดังที่จักรพรรดิเฉียนหลงทรงชมเชย เขาสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วนต่อหน้าบุคคลทั้งหลายที่เกี่ยวข้องพร้อมกัน และทำการวิเคราะห์วิจัยแล้ว ประมวลเรื่องราวเป็นเอกสารแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ของเสียนหลอ (สยาม) นำทูลเกล้าฯ ถวายราชสำนัก ณ กรุงปักกิ่ง ( 14 ) ราชสำนักชิงจึงได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสยามโดยยึดถือตามข้อมูลของหลี่ซื่อเหยา

สัมพันธภาพระหว่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับราชวงศ์ชิงอาจจำแนกได้เป็น๓ ระยะเวลา ตามกาลเวลาและพัฒนาการของเหตุการณ์ ดังนี้

1 ระยะเวลาที่ราชสำนักชิง ปฏิเสธการรับรองสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ( ตั้งแต่เดือน 7 ของปีที่ 32 ( พ.ศ. 2310) แห่งรัชกาลเฉียนหลง ถึงเดือน 7 ของปีที่ 35 ( พ.ศ. 2313 ) แห่งรัชกาลเฉียนหลง

ราชสำนักชิงกับราชสำนักกรุงศรีอยุธยา มีความสัมพันธ์อันดีกันตลอดมา เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตกแล้วแต่ปรากฏว่า “ หัวหน้าชนเผ่าต่างๆ ในอาณาจักรแทนที่จะยกย่องเชิดชูรัชทายาทของกษัตริย์เพื่อคิดการกอบกู้ฟื้นฟู กลับต่างแบ่งแยกกันยึดครองแผ่นดิน ตั้งตนเป็นกษัตริย์อย่างผิดวรรณะ ผิดทำนองคลองธรรม ( 15 ) ราชสำนักชิงจึงไม่พอใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์เช่นนั้น สำหรับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ราชสำนักชิงก็เห็นว่า “ มีความสัมพันธ์ฉันกษัตริย์กับข้าราชบริพารต่อกษัตริย์เสียนหลอ ( สยาม ) ปัจจุบันเมื่อตัวเขาตาย เมืองวายวอด ก็บังอาจฉวยโอกาสแห่งวิกฤติการณ์โดยไม่คำนึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งเจ้านายเก่า แทนที่จะเชิดชูยกย่อรัชทายาททำการกอบกู้เอกราชและแก้แค้นทดแทนกลับตั้วต้นเป็นอิสระไม่หยุดย่อน รวมทั้งเพ้อฝันที่จะให้ได้รับการแต่งตั้งรับรอง เพื่ออ้างเอาความเป็นใหญ่ ดังนี้ จึงถือเป็นเรื่องผิดทำนองคลองธรรมและชาติชั้นวรรณะโดยแท้ ( 16 ) “ ด้วยเหตุนี้ นอกจากจะคืนพระราชสาสน์แล้ว จักรพรรดิเฉียนหลงยังมีพระบัญชาให้สภาองคมนตรีร่างหนังสือตอบฉบับหนึ่งในนามของหลี่ซื่อเหยา ตำหนิติเตียนอย่างรุนแรงแล้วให้เฉินเหม่ยเซิงนำกลับ
ในระยะเวลาดังกล่าว ราชสำนักรับทราบเหตุการณ์ต่าง ๆ ของสยาม โดยอาศัยจากม่อซื่อหลินแห่งเหอเซียน (พุทไธมาศ) เป็นสำคัญ แต่ม่อซื่อหลินกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีความขัดแย้งกันอยู่ กล่าวคือเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว พระราชนัดดาแห่งกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีพระนามว่าเจาจุ้ย (หรือเจ้าจุ้ย) เจ้าซื่อชัง (หรือเจ้าศรีสังข์) ทรงหลบไปเหอเซียน (พุทไธมาศ) ม่อซื่อหลินจึงคิดการฉวยโอกาสยามสยามมีความยุ่งยากเดือดร้อน หวังเข้ามาชิงความเป็นใหญ่ในสยาม โดยตั้งเจาจุ้ย (เจ้าจุ้ย) เป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองม่อซื่อหลินเข้าใจความคิดของราชสำนักชิงที่ยึดมั่นในทำนองคลองธรรมของการสืบทอดราชบัลลังก์ ที่ต้องการให้รัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเป็นกษัตริย์จึงใช้กุศโลบายแสดงตนเป็นผู้สนับสนุนเจาจุ้ย (เจ้าจุ้ย) ในการสืบทอดสันติวงศ์ ทำให้ราชสำนักชิงไว้วางใจตน ในขณะเดียวกัน ก็ใส่ความสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเหตุให้ราชสำนักชิงไม่ยอมรับรองกรุงธนบุรี และเหินห่างกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
เมื่อเดือน ๑๐ ของปีที่ ๓๓ (พ.ศ. ๒๓๑๑) แห่งรัชกาลเฉียนหลง จักรพรรดิเฉียนหลงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้หลี่ซื่อเหยา “ให้คัดเลือกนายทหารข้าราชบริพารที่ปรีชาสามารถและซื่อสัตย์เดินทางไปเหอเซียน (พุทไธมาศ) โดยด่วนเพื่อสอบถามม่อซื่อหลิน ถึงสภาพการณ์ที่แท้จริงระยะนี้ของเสียนหลอ (สยาม) ขอให้เขาตอบมาอย่างละเอียดด้วย ดำเนินการโดยด่วนแล้วกราบบังคมทูลเพื่อทราบ” ( 17 ) เมื่อหลี่ซื่อเหยาได้รับพระบรมราชโองการแล้วก็สั่งให้นายทหารตำแหน่งอิ๋วจี๋ประจำจั๋วอี๋เจิ่งชื่อเจิ้งยุ่ย และนายทหารตำแหน่งตูซือประจำซุ่งเต๋อเสีย อาศัยเรือพาณิชย์ของม่อกว่างอี้แล่นไปยังเหอเซียน (พุทไธมาศ) ครั้นล่วงมาแล้วเพียงเดือนเศษจักรพรรดิเฉียนหลงก็ทรงติดตามสอบถามถึงข่าวคราวของบุคคลที่สั่งให้เดินทางไปสืบหาข่าวสาร หลี่ซื่อเหยากราบบังคมทูลตอบว่า “จากทางตะวันออกของกวางตุ้งเดินทางไป ณ ที่นั่น เป็นย่านทะเลนอกเขตแคว้น จำต้องคอยถึงลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ในเดือน ๓ ปีหน้า เรือจึงจะสามารถแล่นกลับมาได้ ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดเวลาแน่นอนในการทราบข่าวคราว ( 18 ) ” ครั้นล่วงมาถึงเดือน ๖ ของปีถัดมา ล่วงเวลาที่เรือแล่นกลับตามที่หลี่ซื่อเหยากล่าวเป็นเวลาหลายเดือนแต่ยังไม่มีข่าวคราวแต่อย่างใด ปรากฎว่าจักรพรรดิเฉียนหลงทรงตำหนิและรับสั่งให้หลี่ซื่อเหยา “ต้องพยายามแก้ไขปรับปรุงการทำงาน” ( 19 ) ในที่สุด เจิ้งยุ่ยกับม้อเหวินหลงซึ่งเป็นขุนนางของม่อซื่อหลินก็เดินทางกลับโดยเรือเดิมมาถึงกว่างโจวเมื่อวันที่ ๒๗ เดือน ๖ หลี่ซื่อเหยาจึงนำความที่ได้รับรายงานกราบบังคมทูลจักรพรรดิเฉียนหลง
สาเหตุที่จักรพรรดิเฉียนหลงทรงกระหายร้อนรนที่จะรับทราบสถานการณ์ของสยาม ก็เพราะว่าหลังจากที่ไม่ประสบผลสำเร็จในการโจมตีพม่าเมื่อปี ๓๒ (พ.ศ. ๒๓๑๐) แห่งรัชกาลเฉียนหลงแล้ว เมื่อปี ๓๔ (พ.ศ. ๒๓๑๒) แห่งรัชกาลเฉียนหลงก็ทำการโจมตีพม่าอีกระลอกหนึ่ง ดังนั้น จึงมีความต้องการให้สยามสกัดจับทหารพม่าที่แตกทัพหนีสภาองคมนตรีแห่งราชวงศ์ชิงได้แต่งหนังสือฉบับหนึ่ง และสั่งให้หลี่ซื่อเหยาประทับตราเพื่อถวายกษัตริย์สยาม “ หากสืบทราบแน่ชัดว่า ทายาทของตระกูลเจา ( หมายถึงรัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ) ได้รับการสถาปนาสืบทอดราชสมบัติขึ้นมาใหม่ ก็ให้นำส่งโดยด่วนโดยทางเรือทะเลในช่วงที่ทางมณฑลยูนานเริ่มเดินทัพเข้าโจมตี ( พม่า ) แต่ปรากฏว่าพวกกันเอินซื่อ ( หมายถึง พระเจ้ากรุงธนบุรี ) ยังคงแอบอ้างตั้งตนยึดครองซึ่งเป็นความกระหายอันไม่ชอบธรรม แสดงว่าอาณาจักรนั้นยังปราศจากผู้มีอำนาจปกครองโดยชอบธรรม ก็ไม่ต้องส่งมอบให้และให้กราบบังคมทูลคืน ( 20 )
เมื่อหลีซื่อเหยาได้รับหนังสือที่สภาองคมนตรียกร่างให้เพื่อส่งสยามแล้ว ได้พิจารณาเห็นว่า “ถึงแม้ว่าทายาทตระกูลเจา (หมายถึง รัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา) ยังมิได้รับการสถาปนาขึ้นมาใหม่ แต่ม่อซื่อหลินผู้เป็นหัวหน้าเหอเซียน (พุทไธมาศ) โดยปกติ ก็มีความนบนอบและเชื่อฟังอยู่ ขณะนี้ได้นัดหมายกับหัวหน้าเผ่าชนเมืองต่าง ๆ แถบชายฝั่งทะเลของเสียนหลอ (สยาม ใช้กำลังโจมตีกันเอินซื่อ หมายถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) หากจะขอให้ช่วยสกัดจับโจรพม่า ก็คงจะดำเนินการให้อย่างดี จึงเลียนแบบหนังสือดังกล่าว ทำหนังสือแจ้งเรื่องราวในนามของตนเอง มอบหมายให้ไช่ฮั่นผู้มีตำแหน่งจั่วอี้เจิ้น โดยสารเรือพาณิชย์นำหนังสือดังกล่าวไป ณ ที่นั่น” ( 21 ) ไช่ฮั่นได้รับคำสั่งให้เดินทางตั้งแต่เดือน ๗ ของปีที่ ๓๔ (พ.ศ. ๒๓๑๒) แห่งรัชกาลเฉียนหลง แต่ถึงเหอเซียน (พุทไธมาศ) เมื่อวันที่ ๒๙ เดือนอ้ายของปีถัดไป ใช้เวลาเดินทางถึงครึ่งปี ไช่ฮั่นอ้างว่า “เมื่ออยู่กลางทะเลถูกลมพัดเสากระโดงขาด หางเสือเรือหัก ( 22 ) ”
จึงเสียเวลาการเดินทาง หลี่ซื่อเหยาจึงเรียกบรรดาลูกเรือ และทหารติดตามมาสอบสวนลับปรากฎว่าได้เบิกความถึงไช่ฮั่นว่า “มีความหวาดกลัวการท่องทะเล เริ่มตั้งแต่วันที่ออกเดินทางจากกวางตุ้ง ก็อ้างว่าเกิดลมพายุ ซึ่งเป็นเท็จเพื่อหาเหตุพัก หลังจากนั้นก็แวะจอดพักตลอดทาง แม้กระทั่งขึ้นฝั่งพักแรมชั่วคราวก็มี จึงทำให้เสียเวลา ( 23 ) ” ไช่ฮั่นจึงต้องโทษจำคุกเพราะเหตุนี้ แต่การเดินทางครั้งนี้ ไช่ฮั่นโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ระเบียบของราชสำนักชิงที่ไม่ยอมมีความสัมพันธ์โดยตรงกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเลิกไปโดยปริยาย กล่าวคือ เมื่อไช่ฮั่นส่งมอบสาสน์ของราชสำนักชิงให้แก่ทางฝ่ายเหอเซียน (พุทไธมาศ) ม่อซื่อหลินเห็นว่า ต้องนำเรื่องนี้แจ้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงจะสามารถบรรลุถึงภารกิจในการ “สกัดจับกุมโจรพม่า” แต่เนื่องจากม่อซื่อหลินกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีเรื่องบาดหมางกันเกรงว่าพระองค์จะไม่เชื่อ จึงขอให้ไช่ฮั่นมีหนังสือประกอบไปด้วย เขารับภาระในการร่างหนังสือให้ เมื่อไช่ฮั่นเห็นชอบแล้วก็จัดส่งไป เอกสารนี้จึงเป็นเอกสารราชการฉบับแรกที่มีถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในนามของสำนักชิง เรื่องนี้ราชสำนักชิงไม่ทราบมาก่อน เมื่อไช่ฮั่นกลับกวางตุ้งแล้วอาจหลงลืมก็มิได้รายงาน ตราบจนถึงเดือน ๘ ของปีที่ ๓๕ (พ.ศ. ๒๓๑๓) แห่งรัชกาลเฉียนหลง เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชสาสน์ตอบ หลี่ซื่อเหยาจึงเบิกตัวไช่ฮั่นเพื่อสอบสวนเรื่องราวทั้งหลายจึงเป็นอันกระจ่าง หลี่ซื่อเหยามีความเห็นว่าไช่ฮั่น “แต่งสารโดยพลการไปที่อื่น เห็นได้ว่าทำไปเพราะเชื่อฟังคำพูดของม่อซื่อหลิน จึงมีการส่งเอกสารถึงกันและกันหลายครั้งหลายคราวกับผู้ช่วงชิงราชสมบัติแห่งสยาม กรณีเช่นนี้ถึงแม้ว่ามิได้บกพร่องเสียหายแก่ทางราชการแต่อย่างใด แต่ก็ถือว่าทำการด้วยความโฉดเขลาเบาปัญญา อย่างไรก็ดี ได้จำคุกไว้เพื่อรอการพิจารณา ซึ่งมีโทษประหารชีวิตในความผิดครั้งก่อนเรื่องฝ่าฝืนหมายกำหนดแล้ว ( 24 ) ” เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นความมีอคติและความดื้อดึงของผู้กำหนดนโยบายทางราชสำนักชิงต่อเรื่องของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
2 ระยะเวลาที่ราชสำนักชิงเริ่มเปลี่ยนแปลงทัศนะที่มีต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ( ตั้งแต่เดือน 7 ของปีที่ 35 ( พ.ศ. 2313 ) แห่งรัชกาลเฉียนหลง ถึงเดือน 8 ของปีที่ 36 ( พ.ศ. 2314 ) แห่งรัชกาลเฉียนหลง )

ในช่วงนี้ ถึงแม้ว่าราชสำนักชิงยังคงยืนกรานไม่รับรองพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่มีทัศนะที่เปลี่ยนไป โดยเริ่มประจักษ์ว่า “ รัชทายาทของตระกูลเจา ( กษัตริย์อยุธยา ) ตกต่ำถดถอยอย่างที่สุด และสถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างสิ้นเชิงของกันเอินซื่อ ( พระเจ้ากรุงธนบุรี ) ( 25 ) สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ทางราชสำนักชิงต้องบททวนท่าทีที่มีเปลี่ยนต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียใหม่ เมื่อเดือน ๘ ของปีที่ ๓๖ (พ.ศ. ๒๓๑๔) แห่งรัชกาลเฉียนหลง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ปฏิบัติตามคำขอที่ปรากฎในสาสน์ของไช่ฮั่น โดยการนำส่งเชลยศึกพม่าซึ่งมีชื่อว่าเซี่ยตูเอี้ยนและบุคคลอื่น ๆ ถึงกรุงปักกิ่ง เรื่องนี้ปรากฎว่าจักรพรรดิเฉียนหลงมีกระแสรับสั่งต่อหลีซื่อเหยาว่า “ อย่าได้เฉยเมยเย็นชาเสียทุกกรณี อันจะเป็นการตัดเยื้อใยอย่างสิ้นเชิงกันเลย จึงสมควรใช้ดุลยพินิจในนามของข้าหลวงนั้นเองให้รางวัลเป็นแพรต่วนตามสมควร ( 26 ) หลี่ซื่อเหยาเองก็เริ่มรู้สึกแล้วถึงเบื้องหลังของม่อซื่อหลินแห่งพุทไธมาศ ที่ใส่ความสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “พินิจพิจารณาเบื้องหน้าเบื้องหลังของเรื่องนี้ คงจะเป็นว่าเมื่อสยามกรุงแตก เจาจุ้ย (เจ้าจุ้ย) พระราชนัดดาอันเป็นรัชทายาทได้หลบไปถึงเมืองนั้น (หมายถึงพุทไธมาศ – ผู้แปล) มีหรือที่ม่อซื่อหลินจะไม่ฉวยโอกาสเพื่อคิดการใหญ่ ( 27 ) ดังนั้น จึงเริ่มต้นมิได้เชื่อถือถ้อยคำของม่อซื่อหลินดังเช่นแต่ก่อนนั้น ราชสำนักชิงเริ่มเปลี่ยนแปลงท่าทีต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มิได้เย็นชาเมินเฉยเช่นแต่กาลก่อน และมิได้ก้าวก่าย ในกรณีความขัดแย้งกันระหว่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับม่อซื่อหลิน ดังที่จักพรรดิเฉียนหลงมีกระแสรับสั่งว่า “ อันสยามตั้งอยู่ ณ ทะเลอันไกลโพ้น มีระยะทางห่างไกลย่อมจะยากลำบากต่อการใช้กำลัง เมื่อผิ่เอียซิน ( พระยาสิน ) ใช้พลังอันดุดันเข้าช่วงชิงราชบัลลังก์และเกิดการรบพุ่งแย่งชิงกัน ก็สมควรที่จะถือว่าเป็นเรื่องของนอกแคว้น ถ้าหากว่าม่อซื่อหลินซึ่งเป็นเมืองเหอเซียน ( พุทไธมาศ ) มีความประสงค์จะช่วยฟื้นฟูราชบัลลังก์ ก็ชอบที่จะปล่อยให้กระทำการตามกำลังความสามารถตามลำพัง โดยไม่จำเป็นที่จะไปยุ่งเกี่ยวด้วยเลย ( 28 )
ระยะเวลาที่ราขสำนักชิง ให้การรับรองอย่างเป็นทางการต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ( ตั้งแต่เดือน 8 ของปีที่ 36 ( พ.ศ. 2314 ) แห่งรัชกาลเฉียนหลง ถึงเดือน 2 ของปีที่ 47 ( พ.ศ. 2325 ) แห่งรัชกาลเฉียนหลง )

นับแต่ท่าทีของราชสำนักชิงต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น พระองค์จึงอาศัยจังหวะ อันเป็นประโยชน์นี้เป็นฝ่ายริเริ่มดำเนินการในทางเสริมสร้างสัมพันธภาพระหว่างอาณาจักรทั้งสอง กล่าวคือ เมื่อปีที่ ๓๗ (พ.ศ. ๒๓๑๕) ได้จัดส่งจังจุ่นชิงกับพวก ซึ่งเป็นชาวอำเภอไฮ่เฟิง (เดิมเคยอ่านว่าไหฮอง – ผู้แปล) มณฑลกวางตุ้ง กลับคืนภูมิลำเนา ( 29 ) ปีที่ ๔๐ (พ.ศ. ๒๓๑๘) ได้จัดส่งเจ้าเฉิงจังกับพวกจำนวน ๑๙ คน ซึ่งเป็นทหารยูนนานที่ตกเป็นเชลยศึกพม่าปีที่ ๔๑ (พ.ศ.๒๓๑๙) ได้จัดส่งหยางเฉาพิ่งกับพวก จำนวน ๓ คน ซึ่งเป็นพ่อค้ายูนนานกลับคืนภูมิลำเนา ( 31 ) ปีที่ ๔๒ (พ.ศ. ๒๓๒๐) คุมตัวอ่ายเฮอกับพวกจำนวน ๖ คน ซึ่งเป็นเชลยพม่านำส่งถึงกวางตุ้ง ( 32 )
ในระยะเวลานี้ ราชสำนักชิงคงจะเห็นว่ากรุงธนบุรีภายใต้การปกครองของพระเจ้ากรุงธนบุรี มีความเป็นปึกแผ่นแล้ว นอกจากนั้น พระราโชบายในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับราชวงศ์ชิง ก็คงจะได้ก่อให้เกิดบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อกันด้วย ดังนั้น จักพรรดิเฉียนหลง จึงทรงแสดงออกซึ่งท่าที่ที่เปลี่ยนไปอย่างชัดแจ้งว่า

“ การแย่งชิงแผ่นดินแล้วเปลี่ยนราชสกุล เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ เช่น ราชสกุลเฉิน ม่อ หรือหลีแห่งอ่ณาจักรอันหนัน ( อันนัมหรือ เวียดนาม ) ก็เปลี่ยนแปลงประมุขอยู่หลายครั้งหลายคราวเหตุการณ์เช่นนี้จึงหาได้เกิดขึ้นแก่สยามแต่เพียงแห่งเดียวไม่นอกจากนั้น เมื่อครั้งโจรพม่าตีสยามแตกจนแตก ผี่เอียซิน ( พระยาสิน ) ทำการโดยมุ่งหมายตอบโต้เป็นสำคัญ แต่โอกาสอำนวยให้บังเกิดประโยชน์ ร่องรอยแต่น้อยนิดแห่งการทรยศแย่งชิงบัลลังก์ก็หาประจักษ์แต่อย่างใดไม่ ฯลฯ ส่วนความเป็นมาแห่งการผลัดแผ่นดินแล้วสถาปนาตั้งตนเป็นกษัตริย์นั้นก็หาจำเป็นต้องเคร่งครัดในฐานุศักดิ์ไม่ จึงไม่สมควรที่จะก่าวก่าย ผี่เอียซิน ( พระยาสิน ) เพิ่งแรกตั้งมีฐานโดดเดี่ยวบอบบาง จึ่งมุ่งหมายขอพึ่งพิงอาศัย หากอาณาจักรจีนเมินเฉยและปฏิเสธการยอมรับ ฝ่ายนั้น ( พระยาตาก ) อาจประหวั่นพรั่นพรึงแล้วหันกลับไปพักพิงอ่อนน้อมต่อโจรพม่า ดังนี้จะไม่ใช่วิเทโศบายอันพึงปราถนา “ ฉะนั้นจึงมีกระแสรับสั่งแก่หลี่ซื่อเหยาว่า “ ภายหน้าหากทางผี่เอแยซิน ( พระยาสิน ) ไม่มีผู้ใดมาอีกก็แล้วไปแต่ถ้าส่งทูตมาอีกเพื่อขอพระราชทานแต่งตั้ง และประสงค์จะมีสัมพันธภาพทางราชบรรณาการ ก็อย่าได้ยืนกรานปฏิเสธเช่นกาลก่อน ให้พิจารณาถึงว่าหากเป็นความจริงที่มาอย่างจริงใจ ก็ให้กราบบังคมทูล เพื่อจะได้พระราชทานแต่งตั้ง ( 33 )
น่าสังเกตว่า นับแต่เดือน ๘ ของปีที่ ๓๗ แห่งรัชกาลเฉียนหลง (พ.ศ. ๒๓๑๕) เป็นต้นมา ในเอกสารราชการของราชสำนักชิงได้เปลี่ยนการกล่าวอ้างพระนามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กล่าวคือ มิได้เรียกขานว่า “หัวหน้าเผ่าชนอาณาจักรสยาม” หรือ “พระยาสิน” หรือ “กันเอินซื่อ” แต่เรียกขานว่า “เจิ้งเจา” ซึ่งหมายถึง “กษัตริย์เจิ้ง” หรือ “แต้อ๋อง” นั่นเอง

นอกจากนั้น ราชสำนักชิงได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้ขายยุทธปัจจัยแก่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งของต้องห้ามนำออก การซื้อขายดังกล่าว ปรากฎว่ามี ๒ ครั้ง เมื่อปีที่ ๔๐ แห่งรัชกาลเฉียนหลง (พ.ศ. ๒๓๑๙) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงส่งขุนนางมาซื้อกำมะถันจำนวน ๕๐ หาบและกะทะเหล็ก ๕๐๐ ใบ ( 34 ) และปีที่ ๔๑ (พ.ศ. ๒๓๒๐) ได้ซื้อกำมะถัน ๑๐๐ หาบ ( 35 ) หลังจากนั้น จักรพรรดิเฉียนหลง ยังทรงมีกระแสรับสั่งต่อหยางจิ่งซู่ซึ่งเข้ารับตำแหน่งข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งและกว่างซีว่า “ครั้งก่อนทางสยามขอซื้อกำมะถันและกะทะเหล็ก ๒ ครั้ง ได้อนุญาตไปแล้วทั้งหมด ต่อไปหากที่นั่นยังมีความต้องการก็จะยังคงอนุญาตให้ซื้อนำกลับไปอีก” ( 36 )
เมื่อเดือน ๗ ของปีที่ ๔๒ (พ.ศ. ๒๓๒๐) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดส่งคณะทูตจำนวน ๓ นายไปถึงกวางตุ้งโดยแต่งพระราชสาสน์ถึงราชสำนักชิงแจ้งเป็นทางการว่า มีความประสงค์จะสถาปนาความสัมพันธ์กับราชวงศ์ชิงอย่างเป็นทางการ ปรากฎว่า ราชสำนักชิงได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนและเปิดเผยว่า “อนุญาตให้ดำเนินการได้” ( 37 )


ครั้นในปีที่ ๔๖ แห่งรัชกาลเฉียนหลง (พ.ศ. ๒๓๒๔) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงจัดส่งคณะทูตคณะใหญ่ โดยมีพระยาสุนทรอภัยเป็นราชทูตไปเมืองจีน คณะทูตนี้โดยสารเรือถึง ๑๑ ลำ บรรทุกงาช้าง นอแรด ฝาง และเริ่มเดินทางเดือน ๕ ถึงกวางตุ้งเดือน ๗
นอกจากนั้น ในสำนวนเอกสารราชการ ของราชสำนักชิงปรากฎว่า ก่อนที่คณะทูตจากกรุงธนบุรีจะเดินทางไปถึง ได้มีเรือบรรทุกเครื่องราชบรรณาการจำนวน ๒ ลำ ไปถึงอำเภอหนานไฮ่ (ปัจจุบันคือเมืองกวางเจา – ผู้แปล) มณฑลกวางตุ้งเมือเดือน ๖ โดยนำพระราชสาสน์มา ๒ ฉบับ “พระราชสาสน์ฉบับหนึ่งกราบทูลว่า ได้จัดส่งทูตมาถวายเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งมีช้างพลายและช้างพังอย่างละหนึ่งเชือกและสินค้าพื้นเมือง จึงขอให้ช่วยกราบบังคมทูลแทนเพื่อทรงทราบ” ถ้อยคำสำนวนในพระราชสาสน์มีความอ่อนน้อมดูจะจริงใจอยู่ไม่น้อย แต่ท้ายพระราชสาสน์กราบทูลว่า

“แผ่นดินสยามเพิ่งจะสงบราบคาบ ท้องพระคลังร่อยหรอ การจะสร้างพระนครขึ้นใหม่จึงขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่มีสินค้าพื้นเมือง ประสงค์จะปล่อยเรือบรรทุกไปขาย ณ เมืองเซี่ยเหมิน (เอ้มุย หรือ ผู้แปล) หนิงปอ (เลียงโผ หรือ เล่งปอ – (ผู้แปล) จึงขอได่โปรดออกใบอนุญาตด้วย นอกจากนั้น ขอพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้นายห้างพาณิชย์ ช่วยจ้างต้นหนแล่นเรือไปค้าขายที่ญี่ปุ่น ฯลฯ และพระราชสาสน์อีกฉบับหนึ่งกราบทูลว่าเรือที่บรรทุกสิ่งของเครื่องบรรณาการ มี ๔ ลำ เรือสินค้า ๗ ลำ นอกจากนั้น ได้นำฝางและงาช้าง เป็นสิ่งของนอกบรรณาการ ขอได้โปรดกราบทูลถวายให้ด้วย อนึ่ง ยังมีฝางและไม้แดง ซึ่งขอมอบให้กระทรวงพิธีการและสำนักข้าหลวงรวมทั้งของขวัญที่มอบให้นายห้างพาณิชย์ด้วย ขอได้มีพระบรมราชานุญาตให้นำสินค้านอกจากนั้นขายไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคณะทูต นอกจากนั้น ยังได้กล่าวถึงว่าขอซื้อถาดทองแดง เตาทองแดง และขอปล่อยเรือเปล่ากลับไปก่อนด้วย ( 38 )
หลังจากนั้น ราชทูตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้นำพระราชสาสน์ไปถวายจักรพรรดิเฉียนหลง ซึ่งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เก็บรักษาต้นร่างพระราชสาสน์ดังกล่าวไว้จนถึงปัจจุบัน

เมื่อราชสำนักชิงได้รับพระราชสาสน์แล้ว จักรพรรดิเฉียนหลงมีกระแสรับสั่งแก่ปาเอี๋ยนซัน ข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งกว่างซีว่า “สิ่งของนอกบรรณาการให้รับไว้เฉพาะงาช้างกับนอแรดรวมสองชนิด และให้นำส่งกระทรวงพิธีการพร้อมสิ่งของบรรณาการ นอกจากพระราชทานสิ่งของตามธรรมเนียมแล้วให้เพิ่มสิ่งของรางวัลเป็นพิเศษ เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ที่ประสงค์ให้การรับให้มีจำนวนน้อยกว่าการให้บรรณาการนอกจากนั้นอนุญาตให้ขายที่กวางตุ้งตามอำเภอใจ สิ่งของเหล่านั้นรวมทั้งอับเฉาเรือให้ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีทั้งหมด” ( 39 )

คณะทูตจากสยามเดินทางถึงปักกิ่ง เมื่อเดือนอ้ายของปีรุ่งขึ้นภายใต้การดูแลคุ้มครองของขุนนางกวางตุ้งจักรพรรดิเฉียนหลงได้จัดงานเลี้ยงรับรองคณะทูตที่ห้อง ซันเกาสุ่ยฉาง” ครั้นถึงเดือนสาม พระยาสุนทรอภัยราชทูตได้ถึงแก่กรรมอย่างปัจจุบันทันด่วน ณ ที่กรุงปักกิ่ง ราชสำนักชิงได้เป็นเจ้าภาพงานศพ ต่อมาหลวงพิชัยเสน่หาอุปทูตได้นำคณะทูตกลับเมืองไทย เมื่อเดือน ๗ หลังจากที่ได้กระทำหน้าที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อคณะทูตกลับถึงเมืองไทย ปรากฎว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ถูกสำเร็จโทษแล้ว แผ่นดินได้เปลี่ยนไปแล้ว จากกรุงธนบุรี เป็นกรุงรัตนโกสินทร์ วัสดุและอุปกรณ์การก่อสร้างที่ซื้อกลับมา จึงได้ใช้ในการสร้างพระราชวังแห่งใหม่

เชิงอรรถ
๑ จดหมายเหตุราชวงศ์ชิง ว่าด้วยจดหมายเหตุเกาจง บรรพที่ ๘๑๗
๒ หยูเจิ้งเซี่ย , กุ่ยซื่อเล่ยเก่า บรรพที่ ๙ ว่าด้วย " การวิเคราะห์เส้นทางสองสายทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ "
๓ ซื่อสือเอ้อเหมยจีซื่อ , " ประวัติเจิ้งเจา " , วารสารซ้งหู รายปักษ์ ปีที่ ๓ เล่มที่ ๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙
๔ อ้างแล้ว
๕ หลี่ซูจี๋ , ประวัติอำเภอเงไห่ บรรพที่ ๑๓
๖ อ้างแล้ว
๗ อ้างแล้ว
๘ ประมวลกฏหมายราชวงศ์ชิง , บรรพที่ ๒0
๙ จดหมายเหตุราชวงศ์ชิง , ว่าด้วยจดหมายเหตุเซิ่งจู่ บรรพที่ ๒๕
๑0 อ้างแล้ว บรรพที่ ๒๙๘
๑๑ ประวัติเมืองเจียฉิ่ง บรรพที่ ๕๕๒ หัวข้อสยาม
๑๒ อ้างแล้วใน ๑ บรรพที่ ๘๒๖
๑๓ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๗๘๓
๑๔ หนังสือกราบบังคมทูลของหลี่ซื่อเหยา ข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งกว่างซี ลงวันที่ ๑ เดือน ๘ ของปีที่ ๓๓ แห่งรัชกาลเฉียนหลง , เอกสารวารสารประวัติศาสตร์ เล่มที่ ๓0
๑๕ อ้างแล้ว
๑๖ อ้างแล้ว ใน ๑ บรรพที่ ๘๑๗
๑๗ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๘๒0
๑๘ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๘๒๓
๑๙ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๘๓๗
๒0 อ้างแล้ว
๒๑ สำนวนเอกสารราชการในราชสำนัก , เอกสารกราบบังคมทูลพร้อมกระแสรับสั่งด้วยพู่กันสีแดง , หมวดการต่างประเทศ , สำนวนที่ ๓๔๖ หลี่ซื่อเหย้ากราบบังคมทูล เมื่อวันที่ ๑๑ เดือน ๖ ของปีที่ ๓๕ แห่งรัชกาลเฉียนหลง
๒๒ อ้างแล้ว
๒๓ อ้างแล้ว , หนังสือกราบบังคมทูลของหลี่ซื่อเหยา ลงวันที่ ๒๔ เดือน ๗ ของปีที่ ๓๕ แห่งรัชกาลเฉียนหลง
๒๔ อ้างแล้ว , หนังสือกราบบังคมทูลของหลี่ซื่อเหยา ลงวันที่ ๑๑ เดือน ๑๑ ของปีที่ ๓๕ แห่งรัชกาลเฉียนหลง
๒๕ อ้างแล้วใน ๑ , บรรพที่ ๘๓๘
๒๖ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๘๙๑
๒๗ อ้างแล้วใน ๒๑ , หนังสือกราบบังคมทูลของหลี่ซื่อเหยา ลงวันที่ ๗ เดือน ๖ ของปีที่ ๓๑ แห่งรัชกาลเฉียนหลง
๒๘ อ้างแล้วใน ๑ , บรรพที่ ๘๖๔
๒๙ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๙๑๕
๓0 อ้างแล้ว , บรรพที่ ๙๙0
๓๑ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๑0๒๒
๓๒ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๑0๓๗
๓๓ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๘๙๕
๓๔ อ้างแล้วใน ๒๑ , หนังสือกราบบังคมทูลของหลี่ซื่อเหยา ลงวันที่ ๑0 เดือน ๑0 ของปีที่ ๔0 แห่งรัชกาลเฉียนหลง
๓๖ อ้างแล้วใน ๑ , บรรพที่ ๑0๓๖
๓๗ อ้างแล้ว , บรรพที่ ๑0๓๗
๓๘ อ้างแล้วใน ๒๑ , หนังสือกราบบังคมทูลของเจี่ยหลงปาเอี้ยนและหลี่หู ลงวันที่ ๒๗ เดือน ๗ ของปีที่ ๔๖ แห่งรัชกาลเฉียนหลง
๓๙ อ้างแล้วใน ๑ , บรรพที่ ๑๑๔0

วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนหลังม้า ชูดาบนำนักรบออกแนวหน้าปะทะข้าศึก ด้วยเลือด ด้วยเนื้อ และชีวิต เพื่อทำสงครามกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติไทย ปลดปล่อยลูกหลานไทยหลุดพ้นจากการย้ำยีของพม่า จนบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นสงบสุขมาถึงทุกวันนี้และยังสามารถขยายอาณาเขตไปประเทศราชที่ราชอาณาจักรอยุธยาตอนปลายไม่สามารถทำได้ มีอำนาจในหัวเมืองล้านนา หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ และพื้นที่ครึ่งหนึ่งของกัมพูชา พระองค์ไม่เคยปริปากถึงความเหนื่อยยาก ไม่เคยโอ้อวด แต่ลงมือปฏิบัติจริง พระองค์เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่ประชาชนและแผ่นดินอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

พระราชประวัติ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยกรุงธนบุรี เสด็จพระราช สมภพ ณ วันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2277 ตรงกับปีขาล ขึ้น 15 คํ่าเดือน 5 จุลศักราช 1096 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมโกศ
มีหลักฐานว่าทรงเป็นสามัญชน กำเนิดในตระกูลแต้ มีพระนามเดิมว่า นายหยง แซ่แต้ (ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ พระภิกษุด้วงได้มีโอกาสรู้จักเป็นมิตรกับพระภิกษุหยง)เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2277 ในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา มีครอบครัวธรรมดาสามัญชนคู่หนึ่งคือ นายไหฮองและนางนกเอี้ยงผู้ภรรยา ฝ่ายสามีนั้นรับราชการในตำแหน่งนายอากรบ่อนเบี้ยเป็นครอบครัวที่มั่งคั่งครอบครัวหนึ่ง เป็นคนไทยที่มีเชื้อสายจากบรรพบุรุษฝ่ายบิดาเป็นชาวจีน ส่วนมารดาเป็นคนไทย ทั้งสองสามีภรรยาครองเรือนอยู่กินกันมาด้วยดี จนกระทั่งนางนกเอี้ยงตังครรภ์ใกล้กำหนดวันคลอด
วันนั้นตรงกับวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน 2277 นางนกเอี้ยงผู้ภรรยามีอาการปวดครรภ์ใกล้จะคลอด ทุกคนบนเรือนต่างพากันตื่นเต้นนับตั้งแต่ข้าทาสบริวารตลอดจนเพื่อนบ้านใกล้เคียง โดยเฉพาะนายไหฮองหรือขุนพัฒน์นั้น จิตใจจดจ่อรอคอยการคลอดลูกในท้องของผู้เป็นภรรยาอย่างกระวนกระวายใจ ท่ามกลางใจจดใจจ่อรอคอยของทุกคน เบื้องบนท้องฟ้าแจ่มใสกลับมีหมู่เมฆม้วนตัวลอยลิ่วหลากสีแลดูแปลกตากว่าทุกครั้ง ใคร ๆ ในที่นั้นนั่งมองตากันด้วยความอัศจรรย์ใจที่สุด และแล้วเมื่อเวลาล่วงเลยมาชั่วครู่ เมฆฟ้าที่อึมครึมก็ปรากฎสายฟ้าผ่าลงมาที่เสาตั้งของบ้านหลังนั้น ฉับพลันทารกน้อยก็คลอดออกมาจากท้องของนางนกเอี้ยง ส่งเสียงร้องแข่งกับเสียงฟ้าที่ผ่ามาเมื่อสักครู่ ขณะนั้นตรงกับเวลา 5 โมงเช้า เดือน 7 ปีขาล ตรงกับจุลศักราช 1069 (พ.ศ. 2277) ฟ้าที่ฟ้าผ่าลงมากลางเรือนของขุนพัฒน์เป็นที่น่าสังเกตว่า ทำให้เกิดแสดงว่างวาบมีรัศมีแผ่กระจายไปทั่ว แต่ไม่มีใครได้รับอันตราย ลูกที่เกิดจากมารดานางนกเอี้ยงเป็นบุตรชาย มีลักษณะน่าประหลาด คือระหว่างสะดือถึงปลายเท้ามีความยาวเท่ากับจากสะดือถึงเชิงผมตรงหน้าผาก อันลักษณะเช่นนี้ตามตำราพรหมชาติของจีนกล่าวว่า ผู้ใดมีรูปร่างลักษณะเช่นนี้มีบุญวาสนามีอัจริยะที่สำคัญ จะได้เป็นใหญ่ในภายหน้า ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับบิดาและมารดายิ่งนัก ตามธรรมเนียมเก่าแก่โบราณ ทารกที่เกิดใหม่จะถูกนำไปวางนอนอยู่ในกระด้ง ทั้งขุนพัฒน์และภรรยาก็ถือย่างนั้น นำบุตรชายวางไว้ในกระด้ง ตกวันที่ 3 ขณะที่ขุนพัฒน์หรือนายไหฮองกำลังนั่งใส่ฟืนหน้าตาไฟอยู่นั้น สายตาก็เหลือบเห็นงูใหญ่ตัวหนึ่ง มันเป็นงูเหลือมใหญ่ ไม่มีใครทราบว่าเข้ามาตอนไหน กำลังขดตัวชูคออยู่รอบกระด้งที่วางบุตรชายไว้ ขุนพัฒน์ถึงกับตกใจ นึกในใจว่าลูกคนนี้มีอะไรที่น่ากลัวเกินกำลังที่คนธรรมดาสามัญอย่างตนจะเลี้ยงไว้ได้เสียแล้ว จึงตัดสินใจนำบุตรชายมอบให้เจ้าพระยาจักรีนำเลี้ยงดูแทน
เจ้าพระยาจักรีขุนนางของกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีบ้านพักอยู่ใกล้บ้านนายไหฮอง จึงได้ตั้งชื่อบุตรบุญธรรมว่า สิน เพราะตั้งแต่ได้บุตรบุญธรรมมา เจ้าพระยาจักรีมีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่ราชการและมีทรัพย์สินสมบัติเพิ่มพูนเป็นอันมาก เมื่ออายุได้ 4 ปี เจ้าพระยาจักรีนำบุตรบุญธรรม ไปเรียนหนังสือกับพระอาจารย์ทองดี ที่วัดโกษาวาส

เด็กชายสิน เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านกับพระอาจารย์ทองดี มีความขยันหมั่นเพียร ช่วยเหลือทำงานต่าง ๆ ในวัดได้ดี มีความคล่องแคล่วรวดเร็วกว่าเด็กทั่วไป ความเฉลียวฉลาดของเด็กชายสินที่มีมาแต่เล็ก เมื่อมีเวลาว่างก็ชักชวนศิษย์วัดไปเปิดบ่อนเล่นถั่วขึ้นในวัด ครั้นพระอาจารย์ทองดีเดินมาพบเข้าก็จับตัวมาสั่งสอนอบรม การฝึกอบรมสมัยโบราณนั้นนับว่าเคร่งครัดมาก เมื่อไต่สวนสืบความได้กระจ่างว่าเด็กชาย”สิน”เป็นตัวการชวนเพื่อนเล่นการพนันจึงลงโทษสถานหนักโดยนำไปมัดมือไว้ที่บันได ปล่อยให้แช่อยู่ในน้ำไว้สักพักใหญ่เพื่อให้เข็ดหลาบ พระอาจารย์ทองดีทำโทษแก่ลูกศิษย์สินเช่นนั้นแล้ว ก็มีเหตุติดพันให้ทำกิจอย่างอื่นจนมืดค่ำ ลืมเสียสนิทว่าได้มัดมือลูกศิษย์สินแช่น้ำอยู่นานโขแล้ว ครั้นนึกขึ้นมาได้ก็ตกใจ มองไปในแม่น้ำก็เห็นว่าน้ำกำลังเอ่อล้นสูงขึ้นมาก เมื่อรีบเดินไปดูที่หัวบันได ใจของอาจารย์ก็หายวูบขึ้นมา มองหาบันไดไม่พบเสียแล้ว พระอาจารย์ทองดีมีความตกใจและห่วงใยลูกศิษย์สินเป็นอันมาก จึงสั่งให้พระเณรในวัดจุดคบไฟส่งหาดูและพบว่าบันไดที่ผูกเด็กชายสินติดไว้ลอยไปติดอยู่ริมตลิ่งแห่งหนึ่ง ตัวของเด็กชายสินนอนพิงทาบอยู่บนช่วงขึ้นบันไดหน้าตาเฉย ไม่รู้สึกสะทกสะท้านแต่อย่างใด พระอาจารย์ทองดีเห็นเหตุที่เกิดขึ้นด้วยความอัศจรรย์ จึงนำเด็กชายสินเข้าไปในทำขวัญที่ในโบสถ์ ต่อหน้าพระประธานและพระภิกษุสงฆ์สวดชัยมงคลเรียกขวัญกลับคืนมา ด้วยเป็นห่วงว่าจิตใจของลูกศิษย์สินจะขวัญเสียผิดปรกติไปนั่นเอง การทำพิธีรับขวัญเช่นนี้มีมาแต่เก่าก่อน
เมื่อ “สิน” อายุครบ 21 ปี เจ้าพระยาจักรีก็จัดให้เข้าสู่พิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดโกษาวาส จากพงศาวดารกล่าวไว้ว่า ในขณะที่พระภิกษุสินบวชอยู่นั้น นายทองด้วง (สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า) ก็กำลังบวชอยู่ที่วัดมหาทะลาย ที่ต้องยกขึ้นมากล่าวคั่นไว้เช่นนี้ เนื่องจากว่าทั้งสองท่านมีความรักใคร่สนิทคุ้นเคยกันมาตั้งแต่บวชเป็นสามเณร แม้ขณะที่บวชเป็นพระภิกษุแล้วก็ยังออกบิณฑบาตรและพบปะกันและกันเสมอ
ชีวิตของพระภิกษุสิน ในช่วงที่เป็นเด็กวันนั้น นอกจากจะมีความซุกซนและเรียนเก่งแล้ว ยังเป็นคนที่ชอบเชิงมวย การต่อสู้ตามแบบฉบับของลูกผู้ชายในสมัยนั้น มีเวลาว่างก็แอบไปเรียนเพลงดาบ กระบี่กระบอง วิชามวยซึ่งเป็นศิลปการป้องกันตัวของคนไทยแต่โบราณกาล เพื่อให้เป็นวิชาติดตัว เมื่อถึงวัยอันคึกคะนอง เจ้าพระยาจักรี บิดาบุญธรรมก็เห็นว่าขืนปล่อยไว้จะออกนอกลู่นอกทาง จึงให้โกนหัวบวชเรียนศึกษาพระธรรมในบวรพระพุทธศาสนาตามประเพณีและช่วยขจัดขัดเกลานิสัยให้สุขุมเยือกเย็นขึ้นด้วย
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า พระภิกษุสินและพระภิกษุทองด้วงมักจะพบปะกันบ่อย ๆ วันหนึ่งขณะที่เดินบิณฑบาตรมาด้วยกัน ผ่านบ้านเรือนจีนไทยซึ่งอยู่ในละแวกนั้น มีซินแสชาวจีนผู้หนึ่งเดินผ่านมาพบพระภิกษุทั้งสองรูป ซินแสผู้นั้นมองดูพระภิกษุสินและพระภิกษุทองด้วงอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็หัวเราะร่อน ดูเหมือนว่าซินแสผู้นี้จะสนใจพระภิกษุทั้งสองรูปเป็นพิเศษ มองดูแล้วก็มองดูอีกพร้อมกับหัวเราะอย่างเดิมถึงห้าครั้ง สร้างความประหลาดใจให้กับพระภิกษุทั้งสองยิ่งนัก นึกในใจว่าชาวจีนผู้นี้คงจะเป็นคนที่สติไม่ค่อยจะเป็นปรกตินัก นึกในในว่านี่ถ้าหากเป็นเพศฆราวาสอาจเจอดีไปนานแล้ว แต่วินัยแห่งสงฆ์ห่มผ้าเหลืองทำให้อดกลั้นสำรวมสติไว้ได้ แล้วเดินเข้าไปใกล้ซินแสผู้นั้นออกปากถามไปว่า
“ท่านหัวเราะอะไรหรือโยม”
ซินแสผู้นั้นหยุดยืนยิ้มแล้วจ้องมองพระภิกษุสินและพระภิกษุทองด้วงอย่างพินิจพิจารณา พร้อมกับตอบไปว่า เขาเป็นหมอดู และรู้สึกอัศจรรย์ใจมากที่ได้เห็นพระภิกษุทั้งสองเดินมาด้วยกัน พระภิกษุสินจึงย้อนถามอีกว่า
“ซินแสนึกอะไรอยู่หรือจึงเกิดความขบขันจนกระทั่งกลั้นหัวเราะไว้ไม่ไหว”
ซินแสจึงตอบกลับไปว่า
ตนนึกขำจริง ๆ ไม่น่าเชื่อเลยที่ได้เห็นกษัตริย์ไทยสององค์มาเดินบิณฑบาตรด้วยกันอย่างนี้
ซินแสผู้นั้นยังได้ขอทำนายทายทักลักษณะอันพิเศษของพระภิกษุสินและพระภิกษุทองด้วง เพราะความรู้สึกตื่นเต้นและดีใจที่ได้พบเห็นเป็นบุญตา พร้อมทั้งกับย้ำเป็นครั้งสุดท้ายว่า
“ต่อไปในภายภาคหน้าพระคุณเจ้าทั้งสองจะต้องได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อย่างแน่นอน ขอให้คำทำนายนี้จงเป็นมงคลสืบไปเถิดพระคุณเจ้า”
ซินแสถวายคำทำนายแล้วก็อำลาจากไป ปล่อยให้พระภิกษุสินและพระภิกษุทองด้วงมองตากันด้วยความรู้สึกขบขัน แล้วก็เดินบิณฑบาตโดยไม่ได้ซักอะไรอีกพระภิกษุสินบวชเรียนจำพรรษา และปฏิบัติธรรมตามหลักพุทธศาสนามาได้ 3 พรรษา ระหว่างนี้จึงได้มีโอกาสศึกษาทางธรรมะ จนมีความรู้แตกฉาน บิดาบุญธรรมเจ้าพระยาจักรีเห็นว่าพอสมควรแล้ว ซึ่งความดีงามและความเฉลียวฉลาดในวิชาความรู้จึงให้ทำการลาสิกขาบท แล้วนำเข้ารับราชการในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา
ต่อเมื่อลาสิกขาบทแล้ว นายหยงและนายด้วงก็ได้มีโอกาสเข้ารับราชการ ต่อมาในตอนปลายแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา โดยนายหยงได้เป็นตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองตากและได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น"นายสิน" ส่วนนายด้วงก็รับราชการด้วยดีจนได้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี
บันทึกว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเคยเป็นพ่อค้าเกวียนผู้ทรงปัญญาเฉลียวฉลาด และมีความสามารถด้าน กฎหมายเป็นพิเศษ ได้ช่วยกรมการเมืองชำระถ้อยความของราษฎรทางภาคเหนืออยู่เนืองๆ เนื่องจากได้ทำ ความดีมีความชอบต่อแผ่นดิน จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าเมืองตากในเวลาต่อมา การรับราชการ ตำแหน่งราชการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงไว้วางพระทัยโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติมีอยู่หัวมากมาย อาทิ ตำแหน่งมหาดเล็กรายงาน ซึ่งเป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้น ไปชำระความตามหัวเมืองเหนือ เพราะทรงมีความรู้ด้านกฏหมายเป็นอย่างดี และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตาก ตามลำดับ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร อันเป็นตำแหน่งสูงสุดฝ่ายพลเรือนแต่บ้านเมืองเกิดศึกสงครามเสียก่อน จึงต้องอยู่ช่วยราชการไม่ทันได้เดินทางไปรับตำแหน่ง ฝ่าวงล้อมทหารพม่า ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309 ซึ่งตรงกับวัยเสาร์ ขึ้น 4 คํ่าเดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจอ อัฐศก พระยาวชิรปราการ ( ยศในขณะนั้น ) เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงต้องเสียทีแก่พม่า จึงตัดสินใจ รวบรวมทหารกล้าราว 500 คน ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่า โดยตั้งใจว่า จะกลับมากู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนให้ได้โดยเร็ว พระยาวชิรปราการ ต้องการยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นที่มั่น เพื่อรวบรวมพลังกลับมาตีพม่า จึงสั่งทหารทุกคนว่า "เมื่อกินข้าวปลาอาหารอิ่มแล้ว ให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงทิ้งเสีย คืนนี้เราจะตีเมืองจันทบุรีให้ได้ แล้วพรุ่งนี้เราจะกินข้าวเช้ากัน ในเมืองจันท์ " กู้ชาติ กรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 คํ่าเดือน 8 ปีกุน นพศก จุลศักราช 1129 ตรงกับ พ.ศ. 2310 และสมเด็จพระเจ้าตากสิน สามารถกู้กลับคืนมาได้ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 15 คํ่าเดือน 12 จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก ซึ่งตรง กับวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 รวมใช้เวลารวบรวมผู้คน จนเป็นทัพใหญ่กลับมากู้ชาติ ด้วยระยะเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น ตั้งราชธานีใหม่ พระเจ้าตากสินทรงเห็นว่า กรุงศรีอยุธยาเสียหายมากมายยากที่จะปฏิสังขรณ์ จึงให้ย้ายมาสร้างเมืองหลวงใหม่ ที่กรุงธนบุรี เพราะเห็นว่าไม่ใหญ่โตเกินกำลัง มีป้อมปราการที่แข็งแรงสามารถ ป้องกันข้าศึกศัตรูได้ เนื่องจากมีป้อมกันข้าศึกถึง 3 ป้อม อีกทั้งมีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยพืชพันธ์ธํญญาหาร และเป็นเมืองใก้ลทะเล สามารถติดต่อค้าขายกับต่างประเทศได้สะดวก ปราบดาภิเษก หลังจากสร้างพระราชวัง บนฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยาแล้ว เมื่อทรงจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยพอสมควร บรรดาแม่ทัพ นายกอง ขุนนาง ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดทั้งสมณะพราหมณาจารย์ และอาณาประชาราษฎร์ ทั้งหลาย จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงปราบดาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ ณ วันพุธ เดือนอ้าย แรม 4 คํ่า จุลศักราช 1130 ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ 4 แต่เรียกขานพระนามของพระองค์ติดปากว่า พระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่เรียกขานพระนามของพระองค์ติดปากว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินหรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

พระราชกรณียกิจ
ที่สำคัญๆ นอกจากพระราชกรณียกิจในด้านกู้ชาติแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสิน ยังได้ปราบอริราชศัตรู ที่มักจะล่วงลํ้าเขตแดน เข้ามาซํ้าเติมไทยยามศึกสงครามอยู่เสมอ จนในสมัยของพระองค์ ได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างไพศาล กล่าวคือทิศเหนือ ได้ดินแดนหลวงพระบาง และเวียงจันทน์
ทิศใต้ ได้ดินแดนกะลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี
ทิศตะวันออก ได้ดินแดนลาว เขมร ทางฝั่งแม่นํ้าโขงจดอาณาเขตญวน
ทิศตะวันตก ได้ดินแดนเมาะตะมะ ได้ดินแดน เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี
พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการฟื้นฟู และสร้างวรรณกรรม นาฏศิลป์ และการละครขึ้นใหม่ แม้ว่าจะมีศึกสงคราม ตลอดรัชกาล กระนั้นก็ยังทรงพระราชนิพนธ์ เรื่องรามเกียรติ์ถึง 4 เล่มสมุดไทย ในปี พ.ศ. 2312 นับว่าทรงมีอัจฉริยภาพสูงส่ง เป็นอย่างมาก ในรัชสมัยของพระองค์ มีกวีที่สมควรได้รับการยกย่อง 2 ท่าน คือ นายสวน มหาดเล็ก ซึ่งแต่งโครงสี่สุภาพ แต่งขึ้นเพื่อยอพระเกียรติ และสรรเสริญสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มี 45 บท เป็นสำนวนที่เรียบง่าย แต่ทรงคุณค่าด้วยเป็นหลักฐานที่คนรุ่นต่อมา ได้ทราบถึงสภาพบ้านเมือง และความเป็นไปในยุคนั้น หลวงสรวิชติ (หน) ซึ่งต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาพระคลัง (หน) งานประพันธ์ของท่าน เป็นที่รู้จักและแพร่หลาย จนถึงปัจจุบัน เช่น สามก๊ก เป็นต้น

พระเจ้าตากสิน ยังโปรดให้มีการทำนุบำรุงการพระพุทธศาสนา การติดต่อการค้ากับต่างประเทศ ในด้านการปกครอง หลังจากสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว ทรงจัดวางตำแหน่งหน้าที่ข้าราชการ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ทรงสอดส่องทุกข์สุขของราษฎร์ และหลังจากกอบกู้แผ่นดินได้แล้ว พระองค์ได้ทรงอัญเชิญ พระบรมศพสมเด็จเอกทัด มาจัดถวายพระเพลิงอย่างสมเกียรติ และยังทรงรับอุปการะบรรดา เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า พระราชโอรส ตลอดทั้งพระเจ้าหลานเธอ ของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทุกพระองค์ ด้วยความกตัญญูกตเวที เหตุการณ์ช่วงปลายรัชกาล ในปี พ.ศ. 2324 เกิดศึกทางกัมพูชา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพไปปราบ พร้อมกันนั้น ยังได้ทรงทอดฉลองพระองค์พระราชทานให้ด้วย เหมือนกับจะเป็นบุพนิมิตว่า สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไปในภายหน้า และการก็เป็นจริงดังนั้น ด้วยเพราะเกิดการจลาจลขึ้นมนกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระสติฟั่นเฟือน เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับสู่พระนคร บรรดาเหล่าข้าราชการ และราษฎรทั้งปวง จึงอัญเชิญให้ขึ้นเป็น พระเจ้าแผ่นดิน องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เพื่อปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์สืบต่อไป ถวายพระนามมหาราชและการสร้างพระราชอนุสาวรีย์ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ตามที่กล่าวมาแล้ว ประชาชนทุกหมู่เหล่าจึงพร้อมใจกันถวายพระนาม " มหาราช " "สมเด็จพระเจ้าตากสิน " และรัฐบาลอันมี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรคณะนั้น เป็นผู้ออกแบบ ทางราชการได้ประกอบพระราชพิธีเปิด และถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497 และในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2497 จึงมีรัฐพิธีเปิด เป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงวาง พวงมาลา ถวายราชสักการะ ต่อมาทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 28 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวัน เสวยราชย์ปราบภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ไทย เป็นวันถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระราชปณิธาน
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
แด่พระศาสดา สมณะ พระพุทธโคดม

ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
สมณะพราหมณ์ชี ปฏิบัติ ให้พอสม
เจริญสมถะ วิปัสสนา พ่อชื่นชม
ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา

คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า
ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
พุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน

เมื่อประมาณปี พ.ศ.2539 ผมนำวงดนตรีคาราบาว ไปแสดงที่ราชบุรี เวทีตั้งอยู่ใกล้กับพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความจริง ผมไม่ทราบมาก่อนว่า ที่นี่มีพระบรมราชานุสาวรีย์พระองค์ท่าน ประดิษฐานอยู่ ขณะผมกำลังเตรียมตัว จะขึ้นเวทีคอนเสิร์ตอยู่นั้น ปรากฏว่า ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ว. (ขณะยังเป็น ส.ส.) ได้มาพบผมที่หลังเวที แล้วพูดกับผมอย่างเป็นกันเองว่า จะพาคุณแอ๊ดไปข้างนอก ใช้เวลาสัก 10 นาทีก็เสร็จแล้ว เดี๋ยวจะพามาส่ง เพื่อแสดงดนตรีต่อไป
ตอนแรก ผมว่าจะไม่ออกไปกับท่าน เพราะตามปกติแล้วเมื่อใกล้เวลาแสดงนั้น นักดนตรีทุกคน ต้องตั้งสมาธิอยู่กับงาน และต้องอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อความมั่นใจในระบบทีมเวิร์ค แต่ท่านก็คะยั้นคะยอจนผมต้องยอมเดินตามต้อยๆ ออกไปข้างนอก ซึ่งก็ไม่ไกลอย่างที่ท่านพูดไว้
ท่านให้ผมจุดธูปเทียนพร้อมทั้งดอกไม้บูชาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 1 โดยมีท่านยืนอยู่ข้างๆ ผมนั้นไม่เคยรู้จักท่านเชาวรินเป็นการส่วนตัวมาก่อน รู้เห็นก็แต่เพียงว่า ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีสไตล์ในการอภิปรายในสภาตามแบบฉบับของตัวเอง ที่ชาวบ้านร้านถิ่นมักชอบอกชอบใจ จนได้รับฉายา "ส.ส.สากกระเบือ" เพิ่งได้พบหน้าค่าตากันและกันก็วันนั้น และท่านยังมาในชุดเครื่องแบบข้าราชการเช่นเคย
เมื่อผมบูชารัชกาลที่ 1 เสร็จ ท่านเชาวรินก็เริ่มเล่าถึงเรื่องราวที่ท่านรู้มาให้ผมฟัง...
""...พระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้มีสติฟั่นเฟือน และถูก:-)ด้วยการจับใส่กระสอบแล้วทุบด้วยท่อนจันทน์ตามที่ร่ำเรียนกันมา อันความจริงนั้น ในสมัยกรุงธนบุรีกำลังก่อร่างสร้างตัว พระองค์ได้ฟันฝ่าอุปสรรคมานานัปการ กว่าจะรวมพลังกอบกู้บ้านเมืองได้ เมื่อถึงคราวต้องบูรณะบ้านเมือง ก็มีอยู่ทางเดียวที่จะทำได้ คือ ต้องไปกู้เงินจากเมืองจีน เนื่องด้วยพระองค์มีเชื้อจีน และมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับเมืองจีนมาโดยตลอด จึงทำให้จีนไว้ใจ และยอมให้กู้มาเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ทำนุบำรุงบ้านเมืองที่บอบช้ำจากศึกสงครามอันยาวนาน ให้กลับคืนสู่สภาพดี และพัฒนาให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้น... ""ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจทั้งปวง พระเจ้าตากฯ กลับมิสามารถนำเงินไปใช้หนี้ประเทศจีนได้ จึงได้ร่วมกับรัชกาลที่ 1 วางแผนกันเบี้ยวหนี้จีน โดยสร้างเรื่องขึ้นมาว่า พระองค์ทรงกรำจากศึกสงคราม ฆ่าคนมามาก หลังจากบ้านเมืองเข้าสู่ความสงบ กลับทรงมีสติฟั่นเฟือน จนไม่สามารถปกครองประเทศได้ แม้กระทั่งอยู่ไปก็จะเป็นอันตรายต่อแผ่นดิน จึงต้องโดนประหารชีวิตในที่สุด...
""เมื่อสิ้นพระองค์แล้ว หนี้สินที่พระองค์สร้างไว้ก็ย่อมหมดสิ้นไปด้วย ขณะที่บ้านเมืองก็สถาปนาให้พระสหายของพระองค์ คือ รัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์แทน แต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นเมืองหลวงแทนกรุงธนบุรี ส่วนพระเจ้าตากสินก็เสด็จไปพำนักอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช...""
เรื่องราวทั้งหมดที่ท่านเชาวรินเล่าให้ผมฟังตอนนั้น นับเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับนักเรียนผู้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์จากตำราของกระทรวงศึกษาธิการอย่างผม ถ้าพิจารณากันในแง่ของความเป็นไปได้ ก็น่าจะเป็นจริงเช่นกัน แต่มีข้อคิดที่ผมเฉลียวใจ คือ การกู้เงินเพื่อทำนุบำรุงบ้านเมือง น่าจะเป็นการตกลงกันในระดับประเทศต่อประเทศ ไม่น่าจะใช่เรื่องส่วนตัวแบบที่เรายืมเงินเพื่อนหรือพ่อแม่ การรับรู้หรือการทำสัญญาตกลงกัน จะต้องรัดกุมมากกว่าระดับบุคคลต่อบุคคลอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ต่อให้พระเจ้าตากจะสิ้นพระชนม์หรือหายตัวไปด้วยวิธีใดก็ตาม ผู้นำคนใหม่ของชาติสยาม ย่อมจะต้องรับผิดชอบหนี้สินต่อไปอย่างไม่มีข้อยกเว้น นี่คือสิ่งที่ผมเห็นขัดแย้งกับเรื่องเล่าเรื่องนี้ ผมยังได้นำความรู้สึกนี้ ขึ้นพูดบนเวทีคอนเสิร์ตคืนนั้นว่า ผมไม่เห็นด้วยที่จะให้ศักดิ์ศรีของพระเจ้าตาก วีรบุรุษของคนไทย ต้องมาเสื่อมเสีย เป็นแค่คนหนีหนี้ ซึ่งตามประวัติศาสตร์ที่บ่มเพาะกันมา จะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ พวกเราก็ยังรู้สึกภูมิใจ และเห็นใจที่ท่านต้องตรากตรำจนพระสติเพี้ยนแล้วถูกทุบด้วยท่อนจันทน์ โดยมีทหารคู่ใจ คือ พระยาพิชัยดาบหัก ยอมตายตามไปด้วย ประวัติศาสตร์แบบนี้ทำให้ท่านดูเป็นชายชาติอาชาไนยดีกว่าเป็นแค่คนหนีหนี้ เกียรติยศที่สั่งสมมาคงถูกลดลงไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมถึงไม่ยอม จึงต้องขึ้นพูดปาวๆ ๆ อยู่หลายครั้งถึงเรื่องนี้บนเวทีคอนเสิร์ต และที่ผมยังจำได้ไม่ลืม คือ เมื่อผมพูดจบ อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี มือขลุ่ยประจำวงคาราบาว จะต่อด้วยว่า ""ประวัติศาสตร์คือประวัติศาสตร์ แต่ความเป็นจริง อาจจะไม่เห็นต้องเหมือนที่เขาเขียนกัน เพราะนั้นเขาเอาไว้สอนกันในโรงเรียน ในชีวิตจริงอาจจะแตกต่างออกไปบ้างพอสมควร
คุณละเชื่อใหม?