วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

เส้นทางเดินทัพ พระเจ้าตาก เลียบทะเลตะวันออก

เส้นทางเดินทัพ พระเจ้าตาก เลียบทะเลตะวันออก
กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐
แต่ก่อนหน้านั้นราว ๓ เดือนกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อยังเป็นพระยาตาก ได้พาสมัครพรรคพวกไพร่พลไทยจีนจำนวนหนึ่ง ตีฝ่ากองทัพพม่ามุ่งหน้าไปทางชายทะเลตะวันออกพระยาตากไม่ใช่ทั้งคนแรกและคนสุดท้าย ที่ได้ละทิ้งหน้าที่หลบหนีไป เพราะระบบการเมืองและสังคมของราชอาณาจักรศรีอยุธยาได้ล่มสลายลงก่อนที่พม่าจะระเบิดป้อมทลายกำแพงแล้วแต่นานไม่ถึง ๙ เดือนหลังจากเสียกรุง พระยาตากได้ประกาศพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ ที่คนทั่วไปเรียกกันภายหลังว่าพระยาตาก ยกกองทัพเรือจากเมืองจันทบุรีมายึดกรุงศรีอยุธยาคืน แล้วฟื้นฟูราชอาณาจักรศรีอยุธยาขี้นมาใหม่ ชื่อกรุงธนบุรี พระเจ้าตาก อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี นักธรรมชาติวิทยาชาวเดนมาร์กผู้เคยพบเห็นพระองค์และรายงานไว้ว่า ทรงเป็น "ชายร่างเล็ก" แต่พระราชประวัติและวีรกรรมของพระองค์ยิ่งใหญ่นัก เป็นเหตุให้มีผู้แต่งเติมเสริมต่อเรื่องราวของพระองค์ออกไปจนดูราวกับ "นิยาย" ทั้งๆ ที่สาระสำคัญของพระราชประวัติสั้นนิดเดียว ดังนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชสมภพในฐานะสามัญชนลูกชาวจีน มีอาชีพค้าขายทางเกวียน และแม้ยังมีถิ่นฐานบ้านช่องและญาติพี่น้องอยู่ในภาคกลาง โดยเฉพาะที่พระนครศรีอยุธยาและลพบุรี แต่ก็ได้ทำการค้าอยู่ในหัวเมืองเหนือชายแดนเมื่อสบโอกาสก็ได้เข้ารับราชการในหัวเมืองไกล คือ ตาก-ระแหง และในที่สุดก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองตากทรงเสกสมรสกับสามัญชนด้วยกัน ซึ่งมิได้มาจากตระกูลใหญ่นัก
ในสงครามครั้งเสียกรุง ได้กวาดต้อนไพร่พลหลบพม่าลงมาเป็นกำลังแก่กรุงศรีอยุธยา ได้บำเหน็จความชอบจากการนั้นระหว่างที่พม่าล้อมกรุงอยู่ก็ได้ทำการต่อสู้ จนปรากฏชื่อว่าเป็นนายทัพที่เข้มแข็งคนหนึ่ง ไพร่พลที่นำมาจากเมืองตาก-ระแหงก็ยังคุมกันติดเป็นกองของตนเอง ซึ่งปฏิบัติงานตามคำสั่งของรัฐบาล ในที่สุดก่อนที่กรุงจะเสียแก่พม่า ก็ได้นำกำลังคนจำนวนน้อยของตนเอง และอาจรวมผู้อื่นที่เข้าสวามิภักดิ์เพิ่มขึ้นบ้าง ประกอบด้วยไพร่พลทั้งไทยและจีน พากันตีแหกพม่ามุ่งไปยังหัวเมืองฝั่งตะวันออก และเริ่มหน้าใหม่ให้แก่ประวัติศาสตร์ของตนเองและของประเทศไทย
เส้นทางพระเจ้าตากหนี วันเสาร์ ตอนเที่ยงคืน ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๑๒๘ หรือ พ.ศ. ๒๓๐๙ เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในพระนคร ไหม้ตั้งแต่ท่าทรายติดลามมาถึงสะพานช้างวงคลองข้าวเปลือก แล้วข้ามมาติดป่ามะพร้าว ป่าโทน ป่าถ่าน ป่าทอง ป่ายา วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ วัดฉัททันต์ ติดกุฎีวิหารและบ้านเรือนมากกว่าหมื่นหลังไฟไหม้ในพระนครยังไม่ดับ พระยาตากก็ยกสมัครพรรคพวกไพร่พลไทยจีนออกจากค่ายวัดพิชัย เดินทัพไปทางบ้านหันตราพม่ายกพลติดตามทัน ได้ต่อรบกันเป็นสามารถ พม่าต่อต้านมิได้ก็ถอยกลับไปพระยาตากเดินทัพต่อไปทางบ้านข้าวเม่า จนถึงบ้านสามบัณฑิต เวลาสองยามเศษ เมื่อมองกลับไปเห็นแสงไฟรุ่งโรจน์โชตนาการยังไหม้กรุงอยู่ ก็ให้หยุดพักทัพ วันอาทิตย์ รุ่งเช้า พระยาตากเดินทัพไปถึงบ้านโพสามหาว หรือโพสาวหาญ หรือโพสังหาร พม่ายกพลติดตามไปอีก ได้ต่อรบกันเป็นสามารถ ทัพพม่าแตกกระจัดกระจายพ่ายแพ้ไปพระยาตากให้เดินทัพต่อไป ตอนเย็นถึงบ้านพรานนก หยุดพักแรม ให้ทแกล้วทหารออกไปลาดเลี้ยวเที่ยวหาอาหาร พบกองทัพพม่ายกมาจากบางคาง (ปราจีนเก่า) พม่าไล่ติดตามมา พระยาตากจึงขึ้นม้าพร้อมไพร่พลออกรบพม่าก่อน กองทัพพม่าแตกพ่ายกระจายไปทแกล้วทหารเห็นกำลังบุญฤทธิ์พระยาตากเป็นอัศจรรย์ ก็ยกย่องว่าเป็น "จอมกษัตริย์สมมุติวงศ์" เท่ากับแสดงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นพระมหากษัตริย์ รุ่งขึ้นขุนชำนาญไพรสณฑ์และนายกองช้างเมืองนครนายกมีจิตสวามิภักดิ์ เอาช้างมาถวาย ๖ ช้าง นำเสด็จถึงบ้านบางดง เข้าหยุดประทับในที่นั้น แล้วสั่งให้ขุนหมื่นพันทนายบ้านยอมอ่อนน้อม แต่ไม่สำเร็จ กลับท้าทายอีก แล้วตั้งค่ายจะสู้รบ
รุ่งขึ้น พระเจ้าตากยกเข้าตีค่ายได้ช้าง ๗ ช้างพระเจ้าตากยกพลไปประทับที่ตำบลหนองไม้ซุง ตามทางเมืองนครนายก แล้วประทับรอนแรมไปอีกสองวันก็ถึงบ้านนาเริ่งออกจากบ้านนาเริ่งวันหนึ่งถึงเมืองปราจีนบุรี ข้ามแม่น้ำที่ด่านกบ (แจะ) (ประจันตคาม ปราจีนบุรี) ให้พักรี้พลหุงอาหาร กินเสร็จแล้วเดินทัพข้ามทุ่งไปจนตกเย็น หยุดพักทัพรอสมัครพรรคพวกที่ตามไม่ทันอยู่ ๓ วัน (เอกสารบางเล่มบอกว่าอยู่ชายดงศรีมหาโพธิ์)ฝ่ายพม่าเกณฑ์ทัพเรือให้ขึ้นมาสมทบกับทัพบกตั้งอยู่ปากน้ำเจ้าโล้ (โจ้โล้) ยกไปขึ้นที่ท่าข้าม ติดตามกองทัพพระเจ้าตากได้รบกันหนักจนพม่าแตกกระจัดกระจายพ่ายไปจากนั้นพระเจ้าตากยกพลนิกายไปทางบ้านทองหลาง บ้านสะพานทอง (อ.พานทอง?) บางปลาสร้อย ก็เป็นอันพ้นกองทัพพม่า

ทำไมต้องหนี?
พระยาตาก ทำไมต้องหนีจากกรุงศรีอยุธยา? อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายไว้ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังต่อไปนี้ราว ๓ เดือนก่อนกรุงแตก พระยาตากซึ่งขณะนั้นออกมาตั้งอยู่ในค่ายวัดพิชัยนอกกำแพงเมือง ก็ได้พาสมัครพรรคพวกไพร่พลไทยจีนจำนวนไม่มากนัก ตีฝ่าพม่าออกไปในนาทีนั้น พระยาตากก็ขาดออกไปจากรัฐบาลราชอาณาจักรอยุธยาในราชวงศ์บ้านพลูหลวงโดยเด็ดขาดพระยาตากไม่ใช่ทั้งคนแรกและคนสุดท้าย ในบรรดาข้าราชการที่รักษาพระนครครั้งนั้น ซึ่งได้ละทิ้งหน้าที่หลบหนีไป มีทั้งข้าราชการและประชาชนพากันหลบหนีออกจากพระนครอยู่ตลอดมา ทั้งเพราะความอดอยาก และทั้งเพราะรู้อยู่แล้วว่ากรุงศรีอยุธยาจะไม่รอดจากเงื้อมมือพม่า เนื่องจากราชอาณาจักรศรีอยุธยาได้ล่มสลายลงก่อนที่พม่าจะระเบิดป้อมทลายกำแพงแล้วสิ่งที่ล่มสลายไปก่อนคือ ระบบการเมืองและสังคมของกรุงศรีอยุธยาเอง พระยาตากไม่มีฐานกำลังของตนเองในพระนครศรีอยุธยา ผู้คนที่นำลงมาด้วยจากเมืองตากก็เป็นขุนนางบ้านนอกด้วยกัน ยิ่งเมื่อไปตั้งอยู่ในค่ายวัดพิชัยนอกเมืองแล้ว ก็คงขาดเสบียงอาหารอย่างหนัก เพราะไม่มีใครคิดจะส่งเสบียงให้ ถึงแม้จะกลับเข้าเมือง ก็คงไม่มีโอกาสได้เสบียงเลี้ยงกองทัพ เพียงด้วยเหตุผลเรื่องเสบียงอย่างเดียว โดยยังไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ก็เห็นได้ชัดแล้วว่าพระยาตากจะอยู่ในพระนครต่อไปไม่ได้ ไพร่พลที่อยู่ด้วยนั้นจะคุมไว้ก็คงลำบาก เพราะต่างก็จะต้องหลบเร้นหนีหายเพื่อหาอาหารประทังชีวิต มีเหลืออยู่ทางเดียวเท่านั้นคือตีฝ่าพม่าออกไปทั้งกอง หนีไปตายเอาดาบหน้า โดยวิธีนี้ก็จะสามารถคุมกำลังกันติด อันจะเป็นเหตุให้สามารถหาเสบียงอาหารได้สะดวกกว่าปล่อยไพร่พลหนีหายกระจัดกระจายไม่เป็นทัพเป็นกองแล้วพระยาตากก็ตีฝ่าพม่ามุ่งหน้าไปยังหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก
ทำไมต้องมุ่งตะวันออก?
ทำไมพระยาตากต้องไปหัวเมืองชายทะเลตะวันออก?ประการแรก จะตีฝ่าพม่ากลับไปเมืองตาก เป็นสิ่งที่เป็นไปเกือบไม่ได้ เพราะพม่ายึดไว้หมดแล้ว ฐานกำลังถ้าจะมีอยู่บ้างก็คงแตกกระจัดกระจายหนีไปหมดแล้ว ใช้อะไรไม่ได้ประการที่สอง ทางด้านตะวันออกยังค่อนข้างปลอดภัยจากกองทัพพม่ามากกว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชาธิบายว่า พ้นจากเมืองชลบุรีไปทางตะวันออกก็พ้นพม่าเสียแล้วประการที่สาม หัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออกเป็นศูนย์กลางของการติดต่อกับส่วนอื่นๆ ของราชอาณาจักร เช่น เมืองจันทบูรเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเรือข้ามอ่าวไทยลงสู่ปักษ์ใต้ ทั้งอาจติดต่อกับเขมรและพุทไธมาศได้สะดวก ถ้าถึงที่สุดแล้วเมืองจันทบูรยังเป็นปากทางที่จะหนีไปที่อื่นๆ ได้ง่ายประการที่สี่ มีชาวจีนสายแต้จิ๋วตั้งถิ่นฐานอยู่แล้ว ย่อมมีโอกาสและกาสมัครพรรคพวกได้อีก มุ่งหน้ายึดเมืองระยองเมื่อเสด็จถึงบ้านนาเกลือ (บางละมุง) นายกล่ำเป็นนายชุมนุมคุมไพร่พลอยู่ที่นั่น คอยสกัดคิดประทุษร้าย พระเจ้าตากเสด็จทรงช้างทรงพระแสงปืนต้นรางแดงกับหมู่พลโยธาหาญ เข้าไปในหว่างพลทหารซึ่งนายกล่ำอยู่นั้น นายกล่ำกับพรรคพวกเกรงกลัวอานุภาพ วางอาวุธถวายบังคมอ่อนน้อมวันรุ่งขึ้นนายกล่ำคุมไพร่นำเสด็จไปถึงพัทยา หยุดประทับแรมรุ่งขึ้นไปประทับแรมที่นาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ แห่งละคืนรุ่งขึ้นเดินทัพทางริมทะเลถึงหินโด่ง และน้ำเก่า เข้าแขวงเมืองระยองผู้รั้งเมืองระยองและกรมการทั้งปวงชวนกันมาต้อนรับเสด็จ ถวายธัญญาหารเกวียนหนึ่ง เสด็จไปประทับอยู่วัดลุ่ม ๒ วัน รับสั่งให้จัดลำเลียงอาหารขุดค่ายคูขณะนั้นมีผู้แจ้งเหตุว่า กรมการเมืองระยองมีขุนรามหมื่นส้อง นายทองอยู่นกเล็ก ขุนจ่าเมือง เป็นต้น คบคิดกันคุมพรรคพวกจะยกเข้าทำประทุษร้าย
พระเจ้าตากจึงทรงวางแผนปราบปรามจนราบคาบล้มตายแตกยับเยิน จึงตรัสให้ยับยั้งอยู่บำรุงทแกล้วทหารให้มีกำลังอยู่เมืองระยองประมาณ ๗-๘ วันเมื่อเสด็จสถิตอยู่เมืองระยอง พระเจ้าตากมีพระราชดำริให้ข้าหลวงไปเกลี้ยกล่อมพระยาจันทบูรให้ยอมอ่อนน้อม เพื่อไม่ให้เกิดสงคราม พระยาจันทบูรทำอุบายผัดผ่อนเรื่อยมาระหว่างรอเวลาให้พระยาจันทบูรยอมอ่อนน้อม พวกขุนรามหมื่นส้องกับนายทองอยู่นกเล็กที่แตกไปจากเมืองระยองลอบเข้ามาลักโคกระบือช้างม้าไปเนืองๆ
พระเจ้าตากจึงเสด็จกรีธาทหารออกจากเมืองระยอง ไปบ้านประแส บ้านไข้ บ้านคา บ้านกล่ำ บ้านแกลง ที่อ้ายขุนรามหมื่นส้องตั้งอยู่นั้นเพื่อปราบปราม ขุนรามหมื่นส้องแตกหนีไปอยู่กับพระยาจันทบูรเมื่อได้ครอบครัวช้างม้าโคกระบือล้อเกวียนที่ถูกขุนรามหมื่นส้องลักพาคืนมาแล้ว ก็เสด็จยกพลนิกรกลับมาเมืองระยอง บำรุงทแกล้วทหารรวบรวมเครื่องสรรพาวุธปืนใหญ่น้อย เกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎร์อันแตกตื่นออกไปอยู่ป่าดงได้เป็นอันมาก พระเจ้าตากก็เสด็จรอท่าพระยาจันทบูรอยู่

เลียบเมืองชลบุรี
เมื่อทรงทราบว่านายทองอยู่นกเล็ก ตั้งอยู่เมืองชลบุรี ประพฤติพาลทุจริต คอยทำร้ายข่มเหงอาณาประชาราษฎร์ พระเจ้าตากจึงรับสั่งให้ยกโยธาหาญไปปราบเสด็จไปทางบ้านหนองมน แล้วหยุดประทับที่วัดหลวง ดำรัสให้สหายนายทองอยู่นกเล็กไปว่ากล่าวเกลี้ยกล่อมก่อน นายทองอยู่นกเล็กก็ยอมอ่อนน้อมโดยดี เข้ามาเฝ้าที่วัดหลวง แล้วนำเสด็จเข้าไปในเมืองชลบุรี ประทับอยู่เก๋งจีน
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พรรณนาต่อไปว่า
"แล้วนายทองอยู่นกเล็ก จึงนำเสด็จทรงช้างพระที่นั่ง นายบุญมีมหาดเล็กเป็นควาญท้าย เสด็จเลียบทอดพระเนตรเมืองชลบุรี แล้วนายทองอยู่นกเล็กจึงพาขุนหมื่นกรมการถวายบังคม ทรงพระกรุณาให้นายทองอยู่นกเล็กเป็น พระยาอนุราชบุรีศรีมหาสมุทร..."
เหตุการณ์ตอนนี้ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายไว้ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่าข้ามลำน้ำบางปะกงมาทางฝั่งตะวันออกตามชายทะเลนั้น ชุมชนใหญ่ที่มีกำลังมากมีอยู่ ๒ แห่ง คือ ชลบุรีหรือบางปลาสร้อยแห่งหนึ่ง และจันทบุรีแห่งหนึ่งบางปลาสร้อยนั้นมีกำลังกล้าแข็งเสียจนกระทั่งพระเจ้ากรุงธนบุรีหลบหลีกไปเสียเมื่อเสด็จไประยองแม้ภายหลังทรงสามารถเกลี้ยกล่อมให้นายทองอยู่นกเล็กเข้าเป็นพวกได้ ก็ต้องทรงประนีประนอมกับนายทองอยู่อย่างมาก นอกจากทรงยกย่องนายทองอยู่ไว้สูง คือเป็นพระยาอนุราชบุรีศรีมหาสมุทรแล้ว ยังพระราชทานสิ่งของเครื่องยศที่สูงค่าด้วยที่สุดเท่าที่ได้พระราชทานผู้นำท้องถิ่นทั้งหมดที่เข้าสวามิภักดิ์แล้วยังมีข้อตกลงที่เกือบเหมือนการยอมให้นายทองอยู่เป็นชุมนุมอิสระอีกชุมนุมหนึ่ง เพียงแต่ขึ้นกับพระองค์ซึ่งตั้งอยู่ที่ระยองเพียงในนามเท่านั้น
ตีเมืองจันทบูร
เมื่อพระเจ้าตากเสด็จกลับไปประทับอยู่เมืองระยอง ฝ่ายพระยาจันทบูรเชื่อคำยุยงของขุนรามหมื่นส้อง แต่งอุบายให้พระสงฆ์มาเชิญเสด็จไปเมืองจันทบูร แล้วจะจับกุมพระองค์พระเจ้าตากเสด็จพร้อมพหลพลนิกายตามพระสงฆ์ไปถึงบ้านพลอยแหวน พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พรรณนาว่า... "ฝ่ายพระยาจันทบูรก็ให้หลวงปลัดกับคนที่ชื่อ, ออกมานำทัพเป็นกลอุบาย, ให้กองทัพหลวงเลี้ยวไปทางใต้เมือง จะให้ข้ามน้ำไปอยู่ฟากตะวันออก จะคอยทำร้ายเมื่อพลทหารข้ามน้ำนั้น พระองค์ทรงทราบ จึงให้นายบุญมีมหาดเล็กขึ้นม้าควบไปห้ามทหารกองหน้ามิให้ไปตามทางหลวงปลัดนำนั้น ให้กลับมาตามทางขวาง ตรงเข้าประตูท่าช้าง เสด็จประทับ ณ วัดแก้ว ริมเมืองจันทบุรี จึงให้พลทหารตั้งล้อมพระวิหารวัดแก้ว แล้วเสด็จประทับอยู่ที่นั้น..."
พระยาจันทบูรให้กรมการเมืองออกมาเชิญเสด็จ แต่พระเจ้าตากปฏิเสธ มีพระมหากรุณาตรัสให้ไปบอกว่า พระยาจันทบูรควรออกมาอ่อนน้อม แล้วส่งตัวขุนรามหมื่นส้องผู้เป็นปัจจามิตรคืนมา จึงจะเข้าไปในเมืองพระยาจันทบูรมิได้ทำตามรับสั่ง ซ้ำมิหนำยังมีพิรุธหลอกล่อหลายครั้ง พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พรรณนาว่า... "จึงตรัสว่าพระยาจันทบูรมิได้ตั้งอยู่ในสัตยภาพแล้ว และเห็นว่าขุนรามหมื่นส้องจะช่วยป้องกันเมืองไว้ได้ ก็ให้ตกแต่งการไว้ให้มั่นคงเถิด เราจะตีเอาให้จงได้ แล้วจึงตรัสสั่งโยธาหาญทั้งปวงให้หุงอาหารรับพระราชทานแล้ว เหลือนั้นสั่งให้เทเสีย ต่อยหม้อข้าวหม้อแกงให้จงสิ้น ในเพลากลางคืนวันนี้ตีเอาเมืองจันทบูรให้ได้ไปหาข้าวกินเช้าเอาในเมือง ถ้ามิได้ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด" ราวตีสามคืนนั้น พระเจ้าตากเสด็จทรงช้างพระที่นั่งเข้าทลายประตูใหญ่ พร้อมทแกล้วทหารไทยจีนบุกเข้าเมืองได้ทุกด้านพระยาจันทบูรก็พาบุตรภรรยาหนีลงเรือไปสู่ปากน้ำพุทไธมาศฐานะของชลบุรีกับจันทบูรเมืองชลบุรีกับเมืองจันทบูรสมัยนั้นมีฐานะอย่างไรแน่? อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายไว้ในหนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่านอกจากเมืองชลบุรีหรือบางปลาสร้อย เมืองจันทบูรก็เป็นเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่ง เกินกว่าที่กำลังของพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยึดได้ง่ายๆ พระองค์เสด็จออกจากอยุธยาได้ ๑๗ วันก็มาถึงพัทยา อีก ๓ วันต่อมาก็เสด็จไปถึงสัตหีบ และพระระยองก็ได้มาเชิญเสด็จเข้าระยองในเวลาต่อมาหมายความว่ารวมเวลาไม่ถึงเดือนก็สามารถได้เมืองระยองไว้ในพระราชอำนาจ แต่จำเป็นที่พระองค์ต้องรอเวลาอีกกว่า ๔ เดือนจึงจะสามารถยึดจันทบูรได้นี่อาจเป็นเหตุผลที่ในระยะแรก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงพยายามใช้การเจรจากับผู้นำเมืองจันทบูร เพื่อให้ได้รับความร่วมมือแทนที่จะใช้กำลัง และทรงปล่อยให้การเจรจายืดเยื้ออยู่เป็นเวลานานบางปลาสร้อยกับจันทบูร มีร่องรอยและพยานหลักฐานชัดเจนว่า ผู้นำไม่ได้เป็นเจ้าเมืองเก่าที่อยุธยาตั้งขึ้น หากเป็นคนที่ตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ในท้องถิ่นเอง โดยอาศัยความวุ่นวายปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของตน และความอ่อนแอของรัฐบาลกลางที่ถูกข้าศึกล้อมไว้

ตีเมืองตราด
เมื่อได้เมืองจันทบูรแล้ว พระเจ้าตากให้ยกทัพทั้งทางบกและทะเลไปถึงบ้านทุ่งใหญ่ เมืองตราด อันเป็นที่ชุมนุมพ่อค้าวาณิชนายสำเภาทั้งปวงฝ่ายจีนเจียมผู้เป็นใหญ่กว่าชาวสำเภาทั้งปวงยอมสวามิภักดิ์ จึงพาธิดามาถวายพระเจ้าตากต่อเรือรบพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีจดว่า เมื่อได้เมืองตราดแล้วพระเจ้าตากเสด็จกลับมาประทับอยู่เมืองจันทบูร "ยับยั้งอยู่ต่อเรือรบได้ ๑๐๐ ลำเศษ"
บริเวณปากแม่น้ำจันทบูรมีซากเรือจมอยู่ริมตลิ่ง เชื่อกันว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นอู่ต่อเรือรบหรือซ่อมเรือของพระเจ้าตาก เตรียมที่จะยกเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาคืนให้จงได้นโยบายทางการเมืองของพระเจ้าตากการที่พระเจ้าตากประสบความสำเร็จได้หัวเมืองชายทะเลตะวันออกไว้ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ก็เพราะกลุ่มของพระเจ้าตาก หรืออย่างน้อยตัวพระเจ้าตากเอง มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเด่นชัดว่าจะรื้อฟื้นพระราชอาณาจักรศรีอยุธยาขึ้นมาใหม่ และประกาศนโยบายนี้ตั้งแต่เริ่มออกจากค่ายวัดพิชัยที่อยุธยา แต่กลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่ม เพียงแต่รวมตัวกันเพื่อป้องกันตนเองหรือปล้นสะดมผู้อื่น หรือถ้าจะมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองก็เพียงรักษาหัวเมืองหรือท้องถิ่นของตนให้ปลอดภัย อาจถึงขนาดตั้งตนเป็นใหญ่คือตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ไม่มีนโยบายชัดเจนจนเปิดเผยว่าจะรื้อฟื้นพระราชอาณาจักรศรีอยุธยาขึ้นมาใหม่ประเด็นนี้ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายไว้ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่า พระยาตากประกาศนโยบายทางการเมืองนี้ ตั้งแต่เริ่มออกจากพระนครศรีอยุธยา แต่ก็ประกาศด้วย "ภาษาทางการเมือง" ที่เข้าใจได้ในยุคนั้น นั่นก็คือประกาศพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ไทยการประกาศตนเป็นพระมหากษัตริย์ ทำให้กองกำลังของพระยาตากกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่ติดอาวุธไปทันที ไม่ใช่เป็นแต่เพียงกลุ่มโจรผู้ร้ายซึ่งคงมีอยู่ชุกชุมทั่วไปในขณะนั้น กลุ่มของพระยาตากจึงแตกต่างจากกลุ่มโจรอย่างเห็นได้ชัด
แม้จะแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ ทั่วไปในภาคกลางขณะนั้นในด้านนโยบายการเมือง แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่สู้จะแตกต่างกันเท่าใดนัก เพราะต้องอาศัยการปล้นสะดมเพื่อสั่งสมกำลังและเสบียงอาหารอยู่นั่นเอง แต่กลุ่มพระยาตากมีความแตกต่าง ตรงที่เมื่อปล้นได้ทรัพย์สินเงินทองและเสบียงอาหารแล้วก็เดินทัพต่อไป เพราะมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่ใหญ่กว่าการเกาะกลุ่มกันเพื่อเอาชีวิตรอด
แต่กองโจรอื่นๆ ปล้นแล้วก็วนเวียนอยู่ถิ่นเดิมที่คุ้นเคยและปลอดภัย เพื่อจะปล้นอีกเมื่อขาดแคลน เพราะมีจุดหมายการปล้นเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ใช่อย่างอื่น การประกาศเช่นนี้ทำให้กลุ่มของพระองค์อาจได้รับความร่วมมือหรือการถวายตัวของขุนนางอย่างน้อยก็ระดับชั้นผู้น้อยบ้าง เช่น ขุนชำนาญไพรสณฑ์ พระเชียงเงิน ส่วนขุนนางชั้นผู้ใหญ่ขึ้นไปกว่าหัวหมื่นพันทนายบ้านเล็กๆ เหล่านี้ คงยังมิได้ตัดสินใจจะเข้าสวามิภักดิ์จนกระทั่งเมื่อได้ระยองแล้ว และกลุ่มของพระยาตากกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่มีกำลังและอนาคตอยู่บ้างแล้วเท่านั้น นโยบายประกาศตนเป็นกษัตริย์ เพื่อยืนยันถึงนโยบายรื้อฟื้นพระราชอาณาจักรอยุธยานั้น ย่อมมีเสน่ห์แก่ขุนนางและเชื้อสายขุนนางในส่วนกลางเป็นธรรมดา เพียงแต่ว่าปูมหลังของพระยาตากอาจเป็นที่เหยียดหยามของเหล่าตระกูลขุนนางอยุธยา และในระยะแรกกลุ่มของพระยาตากก็ยังไม่มีความสำเร็จที่เห็นได้ชัด ว่าจะสามารถทำได้ตามนโยบาย นอกจากนี้ ก่อนกรุงแตกพระยาตากคือกบฏ ย่อมเป็นที่น่ารังเกียจแก่ขุนนางชั้นสูงเป็นธรรมดากิตติศัพท์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี ในฐานะผู้มีนโยบายจะรื้อฟื้นกรุงศรีอยุธยา ระบือออกไปกว้างขวางยิ่งเมื่อได้ทรงตั้งมั่นในเมืองระยองแล้วเมื่อหลังเสียกรุงแล้ว โอกาสของการรักษาพระราชอาณาจักรก็ยิ่งริบหรี่ลง ชุมนุมของพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ทางหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก จึงเป็นความหวังเดียวของขุนนางส่วนกลาง เพราะหัวหน้าชุมนุมนี้ได้ประกาศนโยบายนี้อย่างชัดเจนมาแต่ต้น จึงไม่ประหลาดที่พวกเชื้อสายตระกูลขุนนางส่วนกลางจำนวนหนึ่งพากันเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระองค์กันมากขึ้นกิตติศัพท์การ "กู้กรุงศรีอยุธยา" ของพระเจ้ากรุงธนบุรี ย่อมล่วงรู้อย่างดีถึงสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่บ้านบางช้าง (อัมพวา) เมืองราชบุรี จึงได้แนะนำนายบุญมาซึ่งเป็นพระราชอนุชาให้เข้าถวายตัวกับพระเจ้ากรุงธนบุรี เพราะมีผู้นับถือมาก การกู้กรุงศรีอยุธยาก็มีทางจะสำเร็จได้มีหลักฐานการตั้งตนเป็นกษัตริย์ของชุมนุมกลุ่มอื่นๆ อยู่บ้าง แต่ล้วนทำขึ้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกแล้ว และไม่มีกษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวงเหลืออยู่เป็นประธานของราชอาณาจักรอีก การตั้งตนเป็นกษัตริย์จึงหมายถึงการแยกตัวออกจากราชอาณาจักร ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีชุมนุมใดเดือดร้อนใจที่จะยกกำลังเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาจากชุมนุมของนายทองสุก สุกี้เชื้อมอญที่พม่าตั้งไว้การตั้งตนเป็นกษัตริย์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงมีเนื้อหาที่แตกต่างจากชุมนุมอื่น และเป็นที่เข้าใจได้พอสมควรในท้องที่ภาคกลางและภาคตะวันออก

ยกทัพเรือเข้ากรุง
เมื่อถึงเวลาพร้อมแล้ว พระเจ้าตากจึงทรงพระราชอุตสาหะ ยกพลทหารพร้อมสรรพด้วยเครื่องศาสตราวุธเป็นอันมาก ออกมาจากเมืองจันทบุรีมาโดยทางทะเลฆ่าเจ้าเมืองชลบุรีพระเจ้าตากทรงทราบว่า พระยาอนุราชเมืองชลบุรีกับพรรคพวกมิได้ละพยศอันร้าย กลับกระทำโจรกรรมออกตีชิงสำเภาและเรือลูกค้าวาณิชอีก จึงให้หยุดทัพเรือประทับที่เมืองชลบุรี แล้วให้หาพระยาอนุราชลงมาเฝ้า ณ เรือพระที่นั่ง มีพระราชบริหารให้พิพากษาโทษประหารชีวิตเสีย พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาพรรณนาว่า...
"พระยาอนุราชคงกระพันในตัว แทงฟันหาเข้าไม่ เพราะด้วยสะดือเป็นทองแดง จึงให้พันธนาการแล้วเอาลงถ่วงน้ำเสียในทะเลก็ถึงแก่กรรม" ยึดค่ายโพธิ์สามต้นพระเจ้าตากยกทัพเรือเข้าปากน้ำเมืองสมุทรปราการ แล้วให้เร่งเข้าตีเมืองธนบุรีฝ่ายกรมการพวกที่อยู่รักษาเมืองธนบุรีหนีขึ้นไปโพธิ์สามต้นกรุงเก่า แจ้งเหตุแก่สุกี้ผู้เป็นพระนายกอง พระนายกองก็ให้จัดพลทหารพม่า มอญ ไทย เป็นทัพเรือตั้งสกัดอยู่เพนียด แต่แล้วก็แตกหนีไปพระเจ้าตากยกเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้น แล้วเข้าควบคุมค่ายไว้ได้ นี่เท่ากับประสบความสำเร็จในการยึดกรุงศรีอยุธยาคืน พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พรรณนาว่า... "แล้วจึงให้เชิญเสด็จพระบรมศพพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์แห่แหนมา ณ โพธิ์สามต้น ถวายพระเพลิง..."เมืองธนบุรีเมื่อตีค่ายโพธิ์สามต้นได้ก็เท่ากับยึดราชอาณาจักรศรีอยุธยาสำเร็จ แต่แทนที่พระเจ้าตากจะประทับอยู่อยุธยา พระองค์กลับเสด็จลงไปประทับอยู่เมืองธนบุรี
ทำไมพระเจ้าตากเสด็จลงไปประทับอยู่เมืองธนบุรี?
คำถามนี้มีคำอธิบายหลายอย่าง แต่คำอธิบายที่น่าเชื่อถือมีว่า "มีรายงานบางฉบับว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ถึงกับชนะที่ค่ายโพธิ์สามต้นอย่างเด็ดขาด เพราะขณะนั้นกองทัพของพระองค์ยังไม่สู้ใหญ่นัก การจะเอาชนะชุมนุมมอญที่โพธิ์สามต้นอย่างเด็ดขาด น่าจะเป็นเรื่องยากและต้องเสียรี้พลสูง เพราะชุมนุมนี้ได้ตั้งมาก่อนกรุงแตกแล้ว เนื่องจากเป็นที่ตั้งทัพใหญ่ของพม่า อีกทั้งได้อาญาสิทธิ์จากผู้พิชิตอีกด้วย ก็คงสามารถเก็บรวบรวมผู้คนหรือแม้แต่ขุนนางเก่าไว้ได้ไม่น้อย..." "และเพราะไม่มีพระราชอำนาจเด็ดขาดในท้องที่แถบอยุธยานี้เอง ที่ทำให้ตัดสินพระทัยในอันที่จะเสด็จมาอยู่ ณ เมืองธนบุรีแทน" พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งเขียนในสมัยกรุงธนบุรี กล่าวถึงการเสด็จมาประทับที่เมืองธนบุรีแต่เพียงว่า เมื่อตีค่ายโพธิ์สามต้นได้แล้ว "จึงให้รับบุราณขัตติยวงศาซึ่งได้ความลำบากกับทั้งพระบรมวงศ์ลงมาทะนุบำรุงไว้ ณ เมืองธนบุรี" ข้อความทั้งเล่มในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ ไม่มีตอนใดบอกว่าพระเจ้าตาก "ย้ายราชธานี" ลงมาอยู่เมืองธนบุรี พระเจ้าตากต้องการสร้างเมืองธนบุรีให้เป็นราชธานีหรือเปล่า? เรื่องนี้มีคำอธิบายน่าสนใจว่า "อาจกล่าวได้ว่าตลอดรัชกาลไม่ปรากฏหลักฐานที่ชี้ชัดว่า ทรงมีพระราชดำริในการยกเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีถาวรเลย... ด้วยเหตุฉะนั้นจึงยากที่จะตัดสินได้แน่ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชดำริในการสร้างเมืองธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่อย่างจริงจังหรือไม่"

การรบพม่าที่บางกุ้ง
เมื่อเจ้าตากตีกรุงศรีอยุธยาคืนกลับมาได้ กิตติศัพท์ก็เลื่องลือออกไป มีผู้มาอ่อนน้อมด้วยเป็นอันมาก พวกชาวต่างประเทศที่มาค้าขาย เห็นว่าเจ้าตากได้เป็นใหญ่ในราชธานี ก็พากันนับถือว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินไทย เมื่อเจ้าตากมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองธนบุรีแล้ว จึงทำพิธีราชาภิเษก เมื่อปีกุน พ.ศ. 2310 ประกาศพระเกียรติยศเป็น พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามหากษัตริย์แทนโบราณราชแต่ก่อน แล้วปูนบำเหน็จ นายทัพ นายกอง ที่มีความชอบ แต่งตั้งให้มียศศักดิ์ตามทำเนียมราชการ ครั้งกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้น นายสุดจินดาได้เป็นที่พระมหามนตรี เจ้ากรมตำรวจ แล้วได้ไปชวนหลวงยกบัตรเมืองราชบุรีผู้เป็นพี่ คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ในเวลาต่อมา เข้ามารับราชการเป็นที่พระราชนรินทร์ เจ้ากรมตำรวจด้วย ราชอาณาเขตของพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อราชาภิเษก อยู่ในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน ด้านเหนือสุดถึงเขตเมืองนครสวรรค์ ตั้งแต่ปากน้ำโพลงมา ด้านตะวันออกถึงเมืองตราดจดแดนเขมร ด้านใต้ถึงเขตเมืองชุมพร คิดเป็นพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของราชอาณาจักรครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่บรรดาเมืองต่าง ๆ นอกจากหัวเมืองทางด้านตะวันออก ถูกพม่าย่ำยีจนเป็นเมืองร้างอยู่เกือบทั้งหมด เกิดการขาดแคลนอาหาร เพราะราษฎรไม่ได้ทำนาถึง 2 ปี พระเจ้ากรุงธนบุรีต้องใช้วิธีซื้อข้าวสารจากพ่อค้าต่างเมือง ซึ่งเรียกราคาสูงมากตกถังละ 4 ถึง 5 บาท รวมทั้งเครื่องนุ่งห่ม นำมาแจกจ่ายราษฎรที่ขาดแคลน ทำให้ผู้คนกลับเข้ามาอยู่ตามภูมิลำเนา เป็นเหตุให้พวกเจ้ากรุงธนบุรีมีกำลังคนมากขึ้น ด้านการปกครองหัวเมือง พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงตั้งข้าราชการออกไปปกครอง ซึ่งน่าจะมีอยู่ 11 เมือง คือ ลพบุรี อ่างทอง กรุงเก่า ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด นครชัยศรี สมุทรสงคราม และเพชรบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีต้องแบ่งทหารออกไป ตั้งประจำอยู่ตามหัวเมืองหลายแห่ง เช่นให้ทหารจีน ไปตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง ที่ต่อแดนระหว่างเมืองสมุทรสงครามกับเมืองราชบุรี เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นมาตีกรุงศรีอยุธยา เพื่อขับไล่พม่าออกไปนั้น ทางพม่าพระเจ้าอังวะทราบข่าวจากเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เมืองเวียงจันทน์ แต่เนื่องจากขณะนั้น พระเจ้าอังวะกำลังกังวลอยู่กับการที่จะเกิดสงครามกับจีน ประกอบกับเห็นว่าเมืองไทยถูกย่ำยีอย่างยับเยิน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าจะร้ายแรงอะไร ดังนั้น จึงเป็นแต่ให้มีท้องตราสั่งแมงกี้มารหญ่า เจ้าเมืองทวาย ให้คุมกำลังมาตรวจตราดูสถานการณ์และรักษาความสงบ ราบคาบในเมืองไทย พระยาทวายจึงเกณฑ์ กำลังพล 20,000 คน ยกกำลังเข้ามาทางเมืองไทรโยค เมื่อฤดูแล้ง ปลายปีกุน พ.ศ. 2310 ในเวลานั้น เมืองกาญจนบุรี และเมืองราชบุรี ซึ่งอยู่ในเส้นทางเดินทัพของพม่า จึงยังคงเป็นเมืองร้างอยู่ทั้งสองเมือง เรือรบของพม่ายังอยู่ที่เมืองไทรโยค ค่ายคูของพม่าที่ตั้งอยู่ตามริมน้ำเมืองราชบุรีก็ยังคงอยู่ เมื่อพระยาทวายยกกองทัพเข้ามา จึงเดินทัพมาได้โดยสดวก ปราศจากการขัดขวางใด ๆ จนล่วงเข้ามาถึงบางกุ้ง เห็นค่ายทหารของพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งอยู่ จึงให้กองทัพเข้าล้อมไว้ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทราบข่าวทัพพม่ายกเข้ามา ก็จัดกำลังให้พระมหามนตรี เป็นแม่ทัพหน้า พระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นทัพหลวง ยกกำลังทางเรือออกไปเมืองสมุทรสงคราม เมื่อถึงบางกุ้ง ก็ให้ยกกำลังเข้าโจมตีข้าศึกในวันนั้น ทหารไทยใช้อาวุธสั้นเข้าไล่ตะลุมบอนข้าศึกล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือตายก็แตกหนี พระยาทวายเป็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ ก็ถอยกำลังกลับไปเมืองทวายทางด่านเจ้าขว้าว ซึ่งเป็นด่านทางเมืองราชบุรี กองทัพไทยยึดได้เรือรบของพม่าทั้งหมด และได้เครื่องศัตราวุธ รวมทั้งเสบียงอาหารอีกด้วยเป็นอันมาก

ปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก
ครั้นถึงปีชวด พ.ศ. 2311 เมื่อย่างเข้าฤดูฝน สงครามทางด้านพม่าสงบลง พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ให้เตรียมเรือรบ และกำลังพล เพื่อจะขึ้นไปตีเมืองพิษณุโลกให้ได้ในปีนั้น ครั้นถึง เดือน 11 อันเป็นฤดูน้ำนอง พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกกำลังทางเรือขึ้นไปเมืองเหนือ เมื่อเจ้าพิษณุโลกทราบข่าว จึงให้หลวงโกษา ชื่อยัง คุมกำลังมาตั้งรับที่ตำบลบางเกยชัยซึ่งอยู่ในแขวงเมืองนครสวรรค์ อยู่เหนือปากน้ำโพขึ้นไปเล็กน้อย เมื่อกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรียกไปถึง ก็ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ ฝ่ายข้าศึกยิงปืนมาถูกพระชงฆ์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี กองทัพกรุงธนบุรีเห็นว่าจะรบพุ่งต่อไปไม่สำเร็จ ก็ถอยทัพกลับคืนมาพระนคร ฝ่าย เจ้าพระยาพิษณุโลก ครั้นทราบว่า กองทัพของตนทำให้ฝ่ายกรุงธนบุรีล่าถอยกลับไปก็ได้ใจเชื่อว่าฝ่ายตนชนะแล้ว คงจะตั้งตัวเป็นใหญ่กว่าชุมนุมทั้งปวงได้ จึงตั้งพิธีราชาภิเษกตั้งตัวขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แต่พอราชาภิเษกแล้วได้ 7 วัน ก็เกิดโรคฝีขึ้นในลำคอถึงพิราลัย พระอินทร์อากรผู้เป็นน้องชายจึงขึ้นครองเมืองแทน แต่ไม่กล้าตั้งตัวเป็นเจ้า ตั้งแต่นั้นมา ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกก็อ่อนแอลง เพราะผู้คนพลเมืองไม่นิยมนับถือพระอินทร์อากร เหมือนเจ้าพิษณุโลก เมื่อเหตุการณ์นี้ทราบไปถึงเจ้าพระฝาง เจ้าพระฝางเห็นเป็นโอกาสที่จะขยายอำนาจของตน จึงยกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลก ตั้งล้อมเมืองอยู่ 2 เดือน ชาวเมืองก็ลอบเปิดประตูเมือง ให้กองทัพเจ้าพระฝางเข้าเมือง เจ้าพระฝางก็จับพระอินทร์อากรประหารชีวิต แล้วกวาดต้อนผู้คนและเก็บทรัพย์สมบัติในเมืองพิษณุโลก พากลับไปเมืองสวางคบุรี บรรดาชาวเมืองพิษณุโลก และเมืองพิจิตร ที่หลบหนีการกวาดต้อนได้ ก็พากันอพยพครอบครัวมาพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นอันมาก

ปราบชุมนุมเจ้าพิมาย
พระเจ้ากรุงธนบุรี เห็นว่าการรวมเมืองไทยนั้น ควรจะปราบชุมนุมเล็ก ๆ ก่อน ชุมนุมที่จะไปปราบครั้งนี้คือชุมนุมเจ้าพิมาย พระองค์จึงให้พระมหามนตรี กับพระราชวรินทรยกกำลังไปตีด่านกระโทก ซึ่งทางฝ่ายเจ้าพิมายให้พระยาวรวงศาธิราชเป็นผู้รักษาด่านอยู่ ส่วนพระองค์ยกไปตีด่านจอหอ ซึ่งมีพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้รักษาด่าน ทั้งสองทัพตีได้ด้านทั้งสองในเวลาใกล้เคียงกัน กรมหมื่นเทพพิพิธเห็นว่าจะสู้ไม่ได้ จึงเตรียมหนีไปกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่ถูกขุนชนะกรมการเมืองพิมายจับตัวไว้ได้เสียก่อน แล้วนำตัวมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี ในตอนแรกพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นว่าเป็นโอรสกษัตริย์คิดจะเลี้ยงไว้ แต่กรมหมื่นเทพพิพิธมีขัตติยมานะ ไม่ยอมอ่อนน้อมด้วย พระองค์จึงให้ประหารเสีย แล้วตั้งให้ขุนชนะเป็นพระยาคำแหงสงคราม ครองเมืองนครราชสีมาต่อ
เมื่อเลิกทัพกลับกรุงธนบุรีแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงพระราชทานความดีความชอบแก่แม่ทัพนายกองทั้งหลาย ที่สำคัญตั้งพระราชวรินทร์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ และตั้งพระมหามนตรีเป็นพระยาอนุชิตราชา ในตำแหน่งจางวางกรมตำรวจ ทั้ง 2 คน
การรักษาขอบขัณฑสีมาด้านเขมร
เมื่อต้น ปีฉลู พ.ศ. 2312 หลังจากได้พื้นที่ทางด้านตะวันออกได้บริบูรณ์ เหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยปราบปรามชุมนุมเจ้าพิมายได้แล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เตรียมกำลังเพื่อยกไปตีชุมนุมเจ้านคร ขณะที่เตรียมการอยู่นั้น ทางเมืองจันทบุรีได้มีใบบอกเข้ามาว่า ญวนได้ยกกำลังทางเรือมาที่เมืองบันทายมาศ เล่าลือกันว่าจะเข้ามาตีกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้เตรียมรักษาปากน้ำทั้ง 4 ทาง และให้พระยาพิชัยนายทหารจีนซึ่งเป็นข้าหลวงเดิม เลื่อนขึ้นเป็นพระยาโกษาธิบดี มีหน้าที่รักษาปากน้ำ แต่ต่อมาได้ทราบความว่า ที่ญวนยกมาครั้งนี้มิใช่มาตีเมืองไทย แต่มาด้วยเหตุภายในของกัมพูชา เนื่องจากนักองนนท์ (หรือนักองโนน) ซึ่งเป็นพระรามราชาชิงราชสมบัติกับ นักองตนซึ่งเป็นสมเด็จพระนารายณ์ราชาเจ้ากรุงกัมพูชา นักองตนไปขอกำลังญวนมาช่วย นักองนนท์สู้ไม่ได้ จึงหนีมาพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี ขอให้ช่วยในฐานะที่เป็นข้าขอบขันฑสีมาเหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีศุภอักษรไปยังสมเด็จพระนารายณ์ราชาว่า กรุงศรีอยุธยาได้เป็นปกติเช่นเดิมแล้ว ให้ทางกรุงกัมพูชา ส่งต้นไม้ทองเงิน กับเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย ตามราชประเพณีดังแต่ก่อน แต่สมเด็จพระนารายณ์ราชาตอบมาว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีมิใช่เชื้อพระวงศ์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา จึงไม่ยอมถวายต้นไม้ทองเงิน พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ขัดเคือง จึงมีรับสั่งให้จัดกำลัง ยกไปเมืองเขมร โดยแบ่งออกเป็นสองกองทัพ ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ กับ พระยาอนุชิตราชา คุมกำลัง 2,000 คน ยกไปจากเมืองนครราชสีมาลงทางช่องเสม็ดไปตีเมืองเสียมราฐทางหนึ่ง ให้พระยาโกษาธิบดี คุมพล 2,000 ยกไปทางเมืองปราจีณบุรี เพื่อไปตีเมืองพระตะบองอีกทางหนึ่ง ทั้งสองเมืองนี้อยู่คนละฝั่งของทะเลสาบเขมร และสามารถเดินทางต่อไปถึงกรุงกัมพูชาได้ทั้งสอง การทำศึกครั้งนี้ จะเห็นว่ากำลังที่ยกไปไม่มาก เมื่อฝ่ายไทยยึดเมืองทั้งสองได้แล้ว ก็จะดูทีท่าของสมเด็จพระนารายณ์ราชา ว่าจะยอมอ่อนน้อมหรือไม่ ถ้าไม่ยอมอ่อนน้อม ก็คงจะต้องรอกองทัพหลวง ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีจะได้เสด็จยกตามลงไป ตีกรุงกัมพูชาในฤดูแล้ง เนื่องจากเวลานั้น ไทยทำศึกอยู่สองด้าน คือได้ส่งกำลังไปตีชุมนุมเจ้านครด้วย ดังนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงต้องรอผลการปราบปรามชุมนุมเจ้านครอยู่ที่กรุงธนบุรี ก่อนที่จะให้มีการปฏิบัติการขั้นต่อไป เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่า กองทัพเจ้าพระยาจักรีถอยกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองไชยา ทรงพระดำริเห็นว่าลำพังกองทัพ เจ้าพระยาจักรีคงจะตีเอาเมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้ และโอกาสที่จะตีเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในฤดูฝน มีเวลาพอที่จะทำสงครามเสร็จในฤดูแล้ง จากนั้นจะได้เสด็จไปกรุงกัมพูชาต่อไป ดังนั้น เมื่อทราบว่าทางกองทัพที่ยกไปตีกรุงกัมพูชา ยึดได้เมืองเสียมราฐ และพระตะบองได้แล้ว พระองค์จึงเสด็จทางเรือ เมื่อเดือน 8 ปีฉลู พร้อมกองทัพหลวง จากกรุงธนบุรีลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช และได้ทรงยับยั้งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชจนถึง เดือน 4 ปีฉลู
ฝ่ายพระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชา ได้ยกกำลังเข้าตีเมืองเสียมราฐได้เมื่อต้นฤดูฝน สมเด็จพระนารายณ์ราชา เจ้ากรุงกัมพูชาให้ออกญากลาโหม คุมกองทัพยกมาเพื่อตีเมืองเสียมราฐกลับคืน โดยยกกำลังมาทางน้ำมาตามทะเลสาบเขมร พระยาทั้งสองของไทยก็ตีกองทัพเขมรแตกกลับไป ออกญากลาโหมบาดเจ็บสาหัสในที่รบ ครั้นแม่ทัพฝ่ายไทย คือพระยาทั้งสองได้รับท้องตราว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีจะเสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราชในฤดูฝน และเมื่อถึงฤดูแล้ง จะเสด็จยกทัพหลวงไปตีกรุงกัมพูชา จึงได้ตั้งรอกองทัพหลวงอยู่ที่เมืองเสียมราฐ ครั้นล่วงถึงฤดูแล้ง ยังไม่ได้ยินข่าวว่า กองทัพหลวงจะยกไปตามกำหนด ก็แคลงใจ ด้วยไม่ทราบว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีติดมรสุมอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ทราบแต่เพียงว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ตั้งแต่เดือน 10 ครั้นเห็นเงียบหายไปนานหลายเดือน ก็เกิดข่าวลือว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปสิ้นพระชนม์ที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อข่าวนี้ทราบไปถึงพระยาทั้งสองก็ตกใจ เกรงจะเกิดความไม่สงบขึ้นที่กรุงธนบุรี จึงได้ปรึกษากัน แล้วตกลงให้ถอนกำลังกลับมาทางเมืองนครราชสีมา ส่วนพระยาอนุชิตราชาได้ยกล่วงมาถึงเมืองลพบุรี เมื่อทราบว่าข่าวนั้นไม่เป็นความจริง จึงหยุดกำลังรออยู่ ฝ่ายพระยาโกษาธิบดี ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองพระตะบอง เมื่อทราบว่ากองทัพไทยทางเมืองเสียมราฐถอนกำลังกลับไป ก็เกรงว่าถ้าตนตั้งอยู่ที่พระตะบองต่อไป เขมรจะรวบรวมกำลังมาเข้าโจมตีได้ จึงได้ถอนกำลังกลับมาทางเมืองปราจีนบุรี แล้วมีใบบอกกล่าวโทษพระยาทั้งสองที่ได้ถอนทัพกลับมา เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีกลับมาถึงกรุงธนบุรี ได้ทราบความตามใบบอกของพระยาโกษาธิบดี จึงมีรับสั่งให้ข้าหลวง หาตัวพระยาอนุชิตราชามาถามความทั้งหมด พระยาอนุชิตราชาก็กราบทูลไปตามความเป็นจริง พระเจ้ากรุงธนบุรีทราบความแล้ว ก็ตรัสสรรเสริญว่าเป็นการกระทำที่สมควรแล้ว แล้วพระองค์จึงตรัสสั่งให้กองทัพไทยที่ยกไปตีเขมรทั้งหมด กลับคืนพระนคร ให้ระงับการตีกรุงกัมพูชาไว้ก่อน

ปราบชุมนุมเจ้านคร
การยกกำลังไปปราบปรามชุมนุมเจ้านครนั้น เป็นเวลาเดียวกันกับที่เกิดเหตุการณ์ทางเขมร ดังที่กล่าวมาแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีจำเป็นต้องแบ่งกำลังออกไปปฏิบัติการสองทาง แต่เนื่องจากพระองค์ได้เตรียมการไปปราบปรามชุมนุมเจ้านครไว้แล้ว เหตุการณ์ทางเขมรเป็นเหตุการณ์ที่แทรกซ้อนขึ้นมา แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในระดับหนึ่ง เพื่อรักษาเกียรติภูมิของไทย ที่กรุงกัมพูชาเคยเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของไทยมาก่อน แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นในด้านเขมรจึงส่งกำลังไปเพียงเล็กน้อย เพื่อยึดฐานปฏิบัติการขั้นต้นไว้ก่อน คอยเวลาที่กำลังส่วนใหญ่ ที่เสร็จภารกิจการปราบปรามชุมนุมเจ้านครแล้ว มาดำเนินการขยายผลต่อไป การดำเนินการชุมนุมเจ้านคร พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้เจ้าพระยาจักรี (แขก) เป็นแม่ทัพใหญ่ พระยายมราช พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาเพชรบุรี เป็นนายกอง คุมกำลังทางบกมีกำลังพล 5,000 คน ยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อประมาณเดือน 4 ปีฉลู พ.ศ. 2312 เมื่อกองทัพยกไปถึงเมืองชุมพร เมืองไชยา ตามลำดับกรมการเมืองทั้งสอง ก็เข้ามาอ่อนน้อมแต่โดยดี แต่เนื่องจากแม่ทัพนายกองที่ยกไปครั้งนั้น ไม่สามัคคีกัน เมื่อกองทัพยกลงไปถึงแดนเมืองนครศรีธรรมราช ข้ามแม่น้ำหลวง (แม่น้ำตาปี) ไปถึงท่าหมาก แขวงอำเภอลำพูน พบข้าศึกตั้งค่ายสกัดอยู่ กองทัพกรุงธนบุรีเข้าตีค่ายข้าศึกไม่พร้อมกัน จึงเสียทีข้าศึก พระยาศรีพิฒน์ และพระยาเพชรบุรีตายในที่รบ พระยาจักรีก็ถอยทัพกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองไชยา ส่วนพระยายมราชก็มีใบบอก กล่าวโทษพระยาจักรีว่า มิได้เป็นใจด้วยราชการ
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบ ก็ทรงพระดำริเห็นว่า ลำพังกองทัพข้าราชเห็นจะตีเอาเมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้ เมื่อทรงประมาณสถานการณ์แล้วเห็นว่า ทางด้านเขมรกองทัพไทยตีได้เมืองเสียมราฐ และพระตะบองแล้ว โอกาสที่จะตีเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในฤดูฝน และจะทำศึกด้านนี้เสร็จทันในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสมในการไปตีกรุงกัมพูชา ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จโดยกระบวนเรือ ออกจากกรุงธนบุรี เมื่อเดือน 8 ปีฉลู พร้อมกองทัพหลวงมีกำลังพล 10,000 คน ลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช กระบวนทัพไปถูกพายุที่บางทะลุ แขวงเมืองเพชรบุรี (บริเวณหาดเจ้าสำราญ ปัจจุบัน) ต้องหยุดซ่อมแซมเรือระยะหนึ่ง จากนั้นจึงยกกำลังไปยังเมืองไชยา แล้วจัดกำลังทางบก ให้พระยายมราชเป็นกองหน้า ให้เจ้าพระยาจักรีกับพระยาพิชัยราชา คุมกำลังทัพหลวงยกลงไปทางหนึ่ง พระเจ้ากรุงธนบุรีคุมกำลังลงไปอีกทางหนึ่ง กำหนดให้เข้าตีเมืองนครศรีธรรมราชพร้อมกันทั้งสองทาง ครั้งนั้น เจ้านครสำคัญว่ากองทัพกรุงธนบุรี ยกลงไปแต่ทางบกทางเดียวเช่นคราวก่อน จึงไม่ได้เตรียมการต่อสู้ทางเรือ กำลังทางเรือของพระเจ้ากรุงธนบุรียกไปถึงปากพญา อันเป็นปากน้ำเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 6 ค่ำ เดือน 10 พอเจ้านครทราบก็ตกใจ ให้อุปราชจันทร์นำกำลังไปตั้งค่ายต่อสู้ที่ท่าโพธิ อันเป็นท่าขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 30 เส้น พระเจ้ากรุงธนบุรียกกำลังเข้าตีค่ายท่าโพธิแตก จับอุปราชจันทร์ได้ เจ้าเมืองนครเห็นสถานการณ์เช่นนั้น ก็ไม่คิดต่อสู้ต่อไป จึงทิ้งเมือง แล้วพาครอบครัวหนีไปเมืองสงขลา พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้เมืองนครศรีธรรมราช ส่วนเจ้าพระยาจักรียกกำลังไปทางบก ไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากพระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองได้ 8 วัน จึงถูกภาคทัณฑ์โทษที่ไปไม่พ้นตามกำหนด และให้เจ้าพระยาจักรีกับพระยาพิชัยราชา คุมกำลังทางบก ทางเรือ ไปตามจับเจ้านครเป็นการแก้ตัว จากนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ยกกองทัพหลวงออกจากเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 11 ตามลงไปยังเมืองสงขลา กองทัพเจ้าพระยาจักรีกับพระยาอภัยราชายกไปถึงเมืองสงขลา ได้ทราบความว่าพระยาพัทลุงกับหลวงสงขลา พาเจ้านครหนีลงไปทางใต้ ก็ยกกำลังไปถึงเมืองเทพา อันเป็นเมืองขึ้นของสงขลาอยู่ต่อแดนเมืองมลายู สืบทราบว่าเจ้านครหนีไปอาศัยพระยาปัตตานีศรีสุลต่านอยู่ที่เมืองปัตตานี เจ้าพระยาจักรีจึงมีศุกอักษรไปยังพระยาปัตตานี ขอให้ส่งตัวเจ้านครมาให้ พระยาปัตตานีเกรงกลัว จึงจับเจ้านครพร้อมสมัคพรรคพวกส่งมาให้ เจ้าพระยาจักรีนำกำลังมาเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เมืองสงขลา เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีจัดการเมืองสงขลาและพัทลุงเรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จกลับมาเมืองนครศรีธรรมราช มาถึงเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 12 แต่เนื่อจากในห้วงเวลานั้นเป็นมรสุมแรงทะเลมีคลื่นใหญ่ และฝนตกชุกยังเดินทางไม่ได้ จึงยับยั้งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชจนถึง เดือน 4 ปีฉลู สิ้นมรสุมแล้วจึงตั้งเจ้านราสุริยวงศ์ผู้เป็นหลานเธอ ให้ครองเมืองนครศรีธรรมราช แล้วให้เลิกทัพกลับพระนคร

ปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง
ล่วงมาถึงปีขาล พ.ศ. 2313 มีข่าวมาถึงกรุงธนบุรีว่า เมื่อเดือน 6 ปีขาล เจ้าพระฝางให้ส่งกำลังลงมาลาดตระเวณถึงเมืองอุทัยธานี และเมืองชัยนาท เป็นทำนองว่าจะคิดลงมาตีกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้เตรียมกองทัพ จะยกไปตีเมืองเหนือในปีนั้น ขณะนั้นพวกฮอลันดาจากเมืองยะกะตรา (จาร์กาตา) ส่งปืนใหญ่มาถวาย และแขกเมืองตรังกานู ก็นำปืนคาบศิลาเข้ามาถวาย จำนวน 2,000 กระบอก พอเหมาะแก่พระราชประสงค์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่จะใช้ทำศึกต่อไปในครั้งนี้ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จโดยกระบวนทัพเรือ ยกกำลังออกจากกรุงธนบุรี เมื่อวันเสาร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 8 ไปประชุมพล ณ ที่แห่งใดไม่ปรากฎหลักฐาน จัดกำลังเป็น 3 ทัพ ทัพที่ 1 พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปโดยขบวนเรือมีกำลังพล 12,000 คน ทัพที่ 2 พระยาอนุชิตราชา ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยายมราช ถือพล 5,000 คน ยกไปทางบกข้างฟากตะวันออกของแม่น้ำแควใหญ่ กองทัพที่ 3 พระยาพิชัยราชา ถือพล 5,000 คน ยกไปทางข้างฟากตะวันตก ฝ่ายเจ้าพระยาฝาง เมื่อทราบว่ากองทัพกรุงธนบุรียกกำลังขึ้นไปดังกล่าว จึงให้หลวงโกษา ยังคุมกำลังมาตั้งรับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก กองทัพหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลก เมื่อ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 9 พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้เข้าปล้นเมืองในค่ำวันนั้น ก็ได้เมืองพิษณุโลก หลวงโกษา ยัง หนีไปเมืองเมืองสวางคบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีได้เมืองพิษณุโลกแล้ว กองทัพที่ยกไปทางบกยังขึ้นไปไม่ถึงทั้งสองทัพ ด้วยเป็นฤดูฝนหนทางลำบาก พระองค์ประทับที่เมืองพิษณุโลกอยู่ 9 วัน กองทัพพระยายมราชจึงเดินทางไปถึง และต่อมาอีก 2 วัน กองทัพพระยาพิชัยจึงยกมาถึง เมื่อกำลังพร้อมแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงให้กำลังทางบก รีบยกตามข้าศึกที่แตกหนีไปยังสวางคบุรี พร้อมกันทั้งสองทาง รับกำลังทางเรือให้คอยเวลาน้ำเหนือหลากลงมาก่อน ด้วยทรงพระราชดำริว่า ในเวลานั้นน้ำในแม่น้ำยังน้อย หนทางต่อไปลำน้ำแคบ และตลิ่งสูง ถ้าข้าศึกยกกำลังมาดักทางเรือจะเสียเปรียบข้าศึก ทรงคาดการณ์ว่าน้ำจะหลากลงมาในไม่ช้า และก็เป็นจริงตามนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรี ก็เสด็จยกกำลังทางเรือขึ้นไปจากเมืองพิษณุโลก กองทัพพระยายมราชกับพระยาพิชัยราชา เมื่อยกไปถึงเมืองสวางคบุรีแล้วก็ล้อมเมืองไว้ เจ้าพระฝางรักษาเมืองไว้ได้ 3 วัน ก็นำกำลังยกออกจากเมือง ตีฝ่าวงล้อมหนีขึ้นไปทางเหนือ ชุมนุมเจ้าพระฝางก็ตกอยู่ในอำนาจกรุงธนบุรี เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบชุมนุมเจ้าพระฝางได้แล้ว ก็เท่ากับได้เมืองเหนือกลับมาทั้งหมด พระองค์ได้ประทับจัดการปกครองเมืองเหนืออยู่ตลอดฤดูน้ำ เกลี้ยกล่อมราษฎรที่แตกฉานซ่านเซ็น ให้กลับมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม จัดการสำรวจไพร่พลในเมืองเหนือทั้งปวง พบว่า เมืองพิษณุโลกมีพลเมือง15,000 คน เมืองสวรรคโลก มี 7,000 คน เมืองพิชัย รวมทั้งเมือง สวรรคบุรี มี 9,000 คน เมืองสุโขทัย มี 5,000 คน เมืองกำแพงเพชร และเมืองนครสวรรค์ มีเมืองละ 3,000 คนเศษ จากนั้นได้ทรงตั้งข้าราชการซึ่งมีบำเหน็จความชอบในการสงครามครั้งนั้นคือ
พระยายมราช ให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช อยู่สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก
พระยาพิชัยราชา ให้เป็นเจ้าพระยาพิชัยราชา สำเร็จราชการเมืองสวรรคโลก
พระยาสีหราชเดโชชัย ให้เป็นพระยาพิชัย
พระยาท้ายน้ำ ให้เป็นพระยาสุโขทัย
พระยาสุรบดินทร์ เมืองชัยนาท ให้เป็นพระยากำแพงเพชร
พระยาอนุรักษ์ภูธร ให้เป็นพระยานครสวรรค์
เจ้าพระยาจักรี (แขก) นั้นอ่อนแอในสงคราม มีรับสั่งให้เอาออกเสียจากตำแหน่งสมุหนายก
พระยาอภัยรณฤทธิ์ ให้เป็นพระยายมราช และให้บัญชาการกระทรวงมหาดไทยแทนสมุหนายกด้วย เมื่อจัดการหัวเมืองเหนือเสร็จแล้ว จึงเสด็จกลับกรุงธนบุรี

พม่าตีเมืองสวรรคโลก
ในเวลานั้นพม่ายังปกครองเมืองเชียงใหม่อยู่ พระเจ้าอังวะตั้งอภัยคามณี ซึ่งได้เลื่อนยศเป็นโปมะยุง่วน มาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พม่า เมื่อกองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไปตีเมืองสวางคบุรี พวกเจ้าพระฝางหนีไปพึ่งพม่าทางเชียงใหม่ โปมะยุง่วน เห็นเป็นโอกาสที่จะแผ่อาณาเขตต่อลงมาทางใต้ จึงยกกองทัพลงมาตีเมืองสวรรคโลก เมื่อเดือน 3 ปีขาล พ.ศ. 2313 ขณะนั้น เจ้าพระยาพิชัยราชาเพิ่งไปอยู่เมืองสวรรคโลกยังไม่ถึง 3 เดือน กำลังรี้พลยังน้อยอยู่ แต่เมืองสวรรคโลกมีป้อมปราการสร้างไว้แต่โบราณ ยังมั่นคงแข็งแรงดีอยู่ เจ้าพระยาพิชัยราชาจึงรักษาเมืองมั่นไว้ แล้วบอกหัวเมืองใกล้เคียง ขอกำลังมาช่วยรบพม่า กองทัพเชียงใหม่ก็ตั้งล้อมเมืองไว้ ครั้นเจ้าพระยาสุรสีห์ พระยาพิชัย พระยาสุโขทัย ยกกองทัพไปถึง จึงเข้าตีกระหนาบ กองทัพพม่าก็แตกพ่ายกลับไปโดยง่าย
ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก
ครั้งพม่ายกมาตีเมืองสวรรคโลกนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีเพิ่งเสด็จยกทัพกลับจากเมืองเหนือไม่นาน ครั้นได้ทราบความตามใบบอกว่า โปมะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ยกทัพลงมาทางใต้ ก็ทรงกังวลด้วยเมืองเหนือยังไม่เป็นปึกแผ่น พระองค์จึงรวบรวมผู้คนเข้าเป็นกองทัพหลวง เสด็จยกกองทัพกลับขึ้นไปเมืองเหนืออีก ในเดือน 4 ปีขาล เมื่อเสด็จไปถึงเมืองนครสวรรค์ จึงทราบว่าพวกเจ้าเมืองทางเหนือ ได้ยกกำลังมาช่วยเมืองสวรรคโลก ตีกองทัพข้าศึกแตกกลับไปแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นเป็นโอกาสอันควร ที่จะยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ พระองค์จึงยกกองทัพหลวงไปตั้งที่เมืองพิชัย แล้วเรียกกองทัพหัวเมืองเข้ามาสมทบ จากนั้นจึงยกกำลังขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อต้นปี เถาะ พ.ศ. 2314 ด้วยกำลังพล 15,000 คน ให้เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นนายทัพหน้า คุมพลพวกหัวเมืองยกขึ้นไปก่อน พระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นจอมทัพยกทัพหลวงตามไป เดินทัพไปทางเมืองสวรรคโลก เมืองเถิน เมืองลี้ ครั้งนั้น เจ้าเมืองรายทาง มีพระยาแพร่มังชัยเป็นต้น เข้ามาสวามิภักดิ์ ส่วนที่ไม่ได้เข้ามาสวามิภักดิ์ก็ไม่ได้ต่อสู้ กองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไปถึงเมืองลำพูนโดยสดวก โปมะยุง่วนไม่ได้จัดกำลังมาต่อสู้ระหว่างทาง เป็นแต่แต่งกองทัพ ออกมาตั้งค่ายอยู่นอกเมือง พอกองทัพหน้าของเจ้าพระยาสุรสีห์ไปถึง ก็เข้าโจมตีค่ายข้าศึก แตกหนีกลับเข้าไปในเมือง โปมะยุง่วนก็ให้กองทัพตั้งรักษาเมืองไว้อย่างมั่นคง กองทัพกรุงธนบุรีไปถึง ก็ให้เข้าล้อมเมืองไว้ แล้วเข้าตีเมืองครั้งหนึ่ง รบกันอยู่เกือบครึ่งคืน ตั้งแต่ เวลา 3 นาฬิกาจนรุ่งสว่าง ไม่สามารถเข้าเมืองได ้ ต้องถอนกำลังกลับออกมา พระเจ้ากรุงธนบุรีมีดำรัสว่า เมืองเชียงใหม่มีป้อมปราการมั่นคงนัก พระมหากษัตริย์ พระองค์ใดเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกคงตีไม่ได้ ต้องตีครั้งที่ 2 จึงจะได้ ดังนั้น เมื่อพระองค์ประทับล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่ 9 วัน จึงดำรัสสั่งให้ถอยทัพกลับลงมา ฝ่ายโปมะยุง่วน เห็นไทยถอย จึงให้กองทัพออกติดตามตี จนกองหลังของกองทัพกรุงธนบุรีระส่ำระสาย มาจนถึงกองทัพหลวง พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นดังนั้น จึงเสด็จลงไปคุมกองหลัง ทรงพระแสงดาบนำทหารเข้าต่อสู้ข้าศึกด้วยพระองค์เอง ทำให้ทหารพากันฮึกเหิม กลับเข้าต่อสู้ข้าศึกถึงตะลุมบอน ข้าศึกต้านทานไม่ไหวก็ถอยหนีกลับไป เมื่อกองทัพถอนกลับมาที่เมืองพิชัยแล้วเดินทางกลับกรุงธนบุรี



การได้เขมรมาอยู่ในขัณฑสีมา
ฝ่ายกรุงกัมพูชา สมเด็จพระนารายณ์ราชา เมื่อได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพลงมาทางเมืองเหนือ เห็นเป็นโอกาสที่จะซ้ำเติมไทย จึงให้นักพระโสทศเจ้าเมืองเปียม ยกกองทัพมาตีเมืองตราด และเมืองจันทบุรี เมื่อปลายปีขาล ซึ่งในห้วงนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ กองทัพเมืองจันทรบุรีตีกองทัพเขมรแตกกลับไป พอเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับจากการทัพเชียงใหม่ ทรงทราบพฤติกรรมซ้ำเติมไทยของเขมรครั้งนี้ ก็ทรงขัดเคือง ครั้นพักรี้พลพอสมควรแล้ว พอถึงปลายฤดูฝน ก็ทรงให้เตรียมทัพไปตีกรุงกัมพูชา ทรงตั้งพระยายมราชซึ่งรั้งตำแหน่งสมุหนายก เป็นเจ้าพระยาจักรี แทนเจ้าพระยาจักรีแขก ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมครั้งไปสงครามเมืองเหนือ และตั้งพระยาราชวังสัน บุตรเจ้าพระยาจักรีแขก เป็นพระยายมราช แล้วดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพบกคุมกำลัง 10,000 คน ยกไปทางเมืองปราจีนบุรี และได้พาพระรามราชาไปในทางกองทัพด้วย เพื่อจะได้ให้เกลี้ยกล่อมพวกเขมรด้วยกัน ให้กองทัพบกเข้าตีเมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ เข้าไปจนถึงเมืองบันทายเพชร ซึ่งเป็นราชธานีของกรุงกัมพูชา ส่วนกำลังทางเรือมีจำนวนเรือรบ 100 ลำ เรือทะเล 100 ลำ กำลังพล 15,000 คน ให้พระยาโกษาธิบดีเป็นกองหน้า พระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นจอมพลในกองหลวง ยกออกจากกรุงธนบุรี เมื่อวันแรม เดือน 11 ไปประทับที่ปากน้ำเมืองจันทบุรี แล้วให้พระยาโกษาธิบดีกองหน้ายกกำลังไปตีเมืองกำพงโสมก่อน ต่อมาอีก 6 วัน พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยกกองทัพหลวงตามลงไป พระองค์เสด็จถึงปากน้ำเมืองบันทายมาศ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 ให้เกลี้ยกล่อม พระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองบันทายมาศ ให้มาอ่อนน้อม แต่พระยาราชาเศรษฐีไม่ยอมมาอ่อนน้อม จึงมีรับสั่งให้เข้าตีเมืองบันทายมาศ และตีได้เมื่อวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 11 พระยาราชาเศรษฐีลงเรือ หนีออกทะเลไปได้ เมื่อได้เมืองบันทายมาศแล้ว ก็ให้กระบวนทัพเรือ เข้าคลองขุดไปยังเมืองพนมเปญ ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี ยกกำลังทางบกตีได้เมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ และเมืองบริบูรณ์ได้โดยลำดับ ยังแต่จะถึงเมืองบันทายเพชร สมเด็จพระนารายณ์ราชาเห็นว่าจะสู้ไม่ได้ จึงทิ้งเมืองบันทายเพชร อพยพครอบครัว หนีไปเมืองบาพนม เมื่อเจ้าพระยาจักรีได้เมืองบันทายเพชรแล้ว ก็ลงไปเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่เมืองพนมเปญ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่ง ให้เจ้าพระยาจักรียกกำลังตามไปยังเมืองบาพนม แล้วพระองค์จึงเสด็จยกทัพหลวงตามไป เมื่อได้ความว่า สมเด็จพระนารายณ์ราชา หนีต่อไปยังเมืองญวนแล้ว จึงเสด็จกลับมาที่เมืองพนมเปญ เจ้าพระยาจักรีเมื่อยกกำลังไปถึงเมืองบาพนมแล้วไม่มีการต่อสู้ เมื่อจัดการบ้านเมืองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็กลับมาเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เมืองพนมเปญ ฝ่ายพระยาโกษาธิบดีตีได้เมืองกำพงโสมแล้ว เตรียมการจะเข้าตีเมืองกำปอดต่อไป แต่พระยาปังกลิมา เจ้าเมืองกำปอดมายอมอ่อนน้อมก่อน จึงได้พามาเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่เมืองพนมเปญ พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมอบกรุงกัมพูชา ให้พระรามราชาปกครอง แล้วเลิกทัพกลับในเดือนอ้าย ปีเถาะ พ.ศ. 2314 เมื่อกองทัพกรุงธนบุรีถอนกำลังกลับแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ราชา ก็ขอกำลังญวน มาป้องกันตัว แล้วกลับมาอยู่ที่แพรกปรักปรัด ไม่กล้าเข้าไปอยู่ที่เมืองบันทายเพชรอย่างเดิม ฝ่ายพระรามราชาก็ตั้งอยู่ที่เมืองกำปอด เมืองกัมพูชาจึงแยกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายใต้ขึ้นอยู่กับสมเด็จพระนารายณ์ราชา ฝ่ายเหนือขึ้นกับพระรามราชา ต่อมาเมื่อญวนเกิดกบฏไกเซิน ราชวงศ์ญวนพ่ายแพ้พวกกบฏ สมเด็จพระนารายณ์ราชาขาดญวนมาสนับสนุน จึงได้ขอปรองดองกับพระรามราชา โดยให้พระรามราชาครองกรุงกัมพูชา ส่วนพระนารายณ์ราชาขออยู่ในฐานะรองลงมา พระรามราชาจึงบอกเข้ามายังกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้อภิเษกนักองนนท์ เป็นสมเด็จพระรามราชา เจ้ากรุงกัมพูชา ทรงตั้งนักองตนซึ่งเป็นสมเด็จพระนารายณ์ ให้เป็นที่มหาอุปโยราช และให้นักองธรรมเป็นที่มหาอุปราช ตั้งแต่นั้นมา กรุงกัมพูชาก็เป็นประเทศราช ขึ้นต่อกรุงธนบุรี เช่นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา



พม่าตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 1

เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2314 ในแว่นแคว้นกรุงศรีสัตนาคนหุต เจ้าสุริยวงศ์ เจ้าเมืองหลวงพระบางเกิดวิวาทกับ เจ้าบุญสาร เจ้าเมืองเวียงจันทน์ เจ้าสุริยวงศ์ยกกำลังไปตีเมืองเวียงจันทน์ เจ้าบุญสารเกรงว่าจะสู้ไม่ได้ จึงขอให้ พระเจ้าอังวะส่งกำลังมาช่วย ขณะนั้นทางอังวะเสร็จศึกจีนแล้ว พระเจ้ามังระเจ้ากรุงอังวะจึงส่งกำลัง 5,000 คน มีโปสุพลาเป็นแม่ทัพ ยกมาช่วยเมืองเวียงจันทน์ เจ้าสุริยวงศ์ทราบเรื่อง จึงต้องถอยกำลังมารักษาเมืองหลวงพระบาง เพราะอยู่บนเส้นทางที่กองทัพพม่าจะยกไปเวียงจันทน์ โปสุพลาเข้าตีเมืองหลวงพระบางได้แล้ว ก็ไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ เพื่อคอยป้องกันไทยยกกำลังขึ้นไป เมื่อกองทัพยกผ่านเมืองน่าน จึงแบ่งกำลังให้ชิกชิงโบ นายทัพหน้ายกเข้ามายึดได้เมืองลับแล แล้วเลยไปตีเมืองพิชัยเมื่อฤดูแล้ง ปลายปีมะโรง พ.ศ. 2315 พระยาพิชัยรักษาเมืองไว้มั่น และขอกำลังจากเมืองพิษณุโลกไปช่วย กองทัพเมืองพิษณุโลกไปถึงก็เข้าตีค่ายพม่า พระยาพิชัยก็ยกกำลังออกตีกระหนาบ ได้รบพุ่งกันถึงขั้นตะลุมบอน ฝ่ายพม่าสู้ไม่ได้ก็แตกหนีไป

พม่าตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 2
เมื่อต้นปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 พวกเมืองเวียงจันทน์เกิดวิวาทกันเอง พวกหนึ่งจึงไปขอกำลังจากโปสุพลาที่เชียงใหม่ไปช่วย โปสุพลายกกำลังไประงับเหตุเสร็จสิ้นแล้ว ได้ค้างฤดูฝนอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ แล้วบังคับให้เจ้าบุญสารส่งบุตรธิดา กับเสนาบดีผู้ใหญ่ไปเป็นตัวจำนำอยู่ที่เมืองอังวะ เมื่อสิ้นฤดูฝนโปสุพลาก็ยกกองทัพกลับจากเมืองเวียงจันทน์ เลยถือโอกาสมาตีเมืองพิชัย เพื่อทดสอบกำลังของฝ่ายไทย หรือมิฉะนั้นก็เป็นการแก้มือที่แพ้ไทยไปครั้งก่อน ครั้งนี้ เจ้าพระยาสุรสีห์ และพระยาพิชัย คอยระมัดระวังติดตามการเคลื่อนไหวของข้าศึกอยู่ก่อนแล้ว จึงได้วางแผนการรบ โดยยกกำลังไปตั้งซุ่มสกัดข้าศึก ณ ชัยภูมิบนเส้นทางเดินทัพของข้าศึก ฝ่ายไทยก็ตีทัพโปสุพลาแตกกลับไป เมื่อวันแรม 7 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 การรบครั้งนี้ เมื่อเข้ารบประชิดพระยาพิชัยถือดาบสองมือ นำกำลังเข้าประจัญบาญกับข้าศึกอย่างองอาจกล้าหาญ จนดาบหัก กิตติศัพท์ครั้งนี้เป็นที่เลื่องลือ จึงได้ชื่อว่า พระยาพิชัยดาบหัก ตั้งแต่นั้นมา
ไทยตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2
พระเจ้ามังระเสร็จศึกกับจีนเมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2314 และทราบว่าพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เกรงว่าไทยจะแข็งแกร่งขึ้น จึงคิดมาตีเมืองไทยให้ราบคาบอีกครั้งหนึ่ง การดำเนินสงครามก็ใช้วิธีที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วคือ ยกกำลังลงมาจากเชียงใหม่ทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ กำลังทั้งสองส่วนนี้จะยกมาบรรจบกันที่กรุงธนบุรี ดังนั้นจึงส่งกำลังเพิ่มเติมเข้ามาให้โปสุพลา แล้วให้โปสุพลาเป็นแม่ทัพ ยกลงมาจากเชียงใหม่ ส่วนกำลังที่จะยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์นั้น พระเจ้าอังวะให้ปะกันหวุ่น ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ ตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลหัวเมืองมอญฝ่ายได้เป็นแม่ทัพ
ปะกันหวุ่นได้เตรียมการตั้งแต่ปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 โดยให้เกณฑ์มอญตามหัวเมืองที่ต่อแดนไทย 3,000 คน มอบภารกิจให้แพกิจาคุมกำลัง 500 คน มาทำทางที่จะยกกองทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ วางแผนตั้งยุ้งฉางไว้ตามเส้นทาง ตั้งแต่เชิงเขาบันทัดด้านแดนพม่า มาจนถึงตำบลสามสบ ท่าดินแดงในแดนไทย
ครั้งนั้นมีพระยามอญเป็นหัวหน้า 4 คน คือพระยาเจ่ง เจ้าเมืองเตริน เป็นหัวหน้ามาทำทางอยู่ในป่าเมืองเมาะตะมะ พม่าได้ทำทารุณกรรมพวกมอญด้วยประการต่าง ๆ พวกมอญโกรธแค้นจึงคบคิดกัน จับแพกิจากับทหารพม่าฆ่าเสีย แล้วรวมกำลังกันยกกลับไป มีพวกมอญมาเข้าด้วยเป็นอันมาก เมื่อเห็นเป็นโอกาส จึงยกไปตีเมืองเมาะตะมะได้ แล้วขยายผลยกขึ้นไปตีเมืองสะโตง และเมืองหงสาวดี ได้ทั้งสองเมือง แล้วขยายผลต่อไปโดยเข้าตีเมืองย่างกุ้ง รบพุ่งติดพันกับพม่าอยู่
พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ทรงเห็นว่าพม่าจะต้องปราบปรามมอญอยู่นาน เป็นโอกาสที่ไทยจะชิงตีเมืองเชียงใหม่ ตัดกำลังพม่าเสียทางหนึ่งก่อน จึงมีรับสั่งให้เกณฑ์กำลังหัวเมืองฝ่ายเหนือมีจำนวน 20,000 คน ไปรวมพลรออยู่ที่บ้านระแหงแขวงเมืองตาก แล้วให้เกณฑ์คนในกรุงธนบุรี และหัวเมืองชั้นในเป็นกองทัพหลวงมีจำนวน 15,000 คน พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จโดยกระบวนเรือ ออกจากพระนคร เมื่อวันอังคาร แรม 11 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย พ.ศ. 2317 ขึ้นไปทางเมืองกำแพงเพชร แล้วให้ประชุมทัพที่บ้านระแหง ตรงที่ตั้งเมืองตากปัจจุบันนี้
ในขณะที่ฝ่ายไทยประชุมทัพอยู่ที่เมืองตากนั้น ก็ได้ข่าวมาว่า พระเจ้าอังวะให้อะแซหวุ่นกี้ ยกกำลังไปปราบพวกมอญ ที่ขึ้นไปตีเมืองย่างกุ้งเป็นผลสำเร็จ พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชดำริว่า โอกาสที่จะตีเมืองเชียงใหม่เหลือน้อยแล้ว พม่าคงติดตามมอญมาเมืองเมาะตะมะ และเมื่อพวกมอญหนีเข้ามาอาศัยเมืองไทย เช่นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา พม่าก็จะยกกำลังติดตามมา ถ้าตีเชียงใหม่ได้ช้าหรือไม่สำเร็จ ก็อาจถูกพม่ายกเข้ามาตีตัดด้านหลัง ทั้งทางด้านเมืองกาญจนบุรี และด้านเมืองตาก เมื่อพระองค์ได้ทรงปรึกษากับแม่ทัพนายกองแล้วเห็นว่า มีเวลาพอจะตีเมืองเชียงใหม่ได้ นับว่าเป็นการเสี่ยงที่ใคร่ครวญแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีดำรัสให้เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกองทัพหัวเมืองเหนือ ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่กับเจ้าพระยาสุรสีห์ ส่วนกองทัพหลวงตั้งรอฟังข่าวทางเมืองเมาะตะมะอยู่ที่เมืองตาก เพื่อคอยแก้สถานการณ์ กองทัพเจ้าพระจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกำลังขึ้นไปทางเมืองนครลำปาง
ฝ่ายโปสุพลาจึงให้โปมะยุง่วนอยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ แล้วจัดกองทัพให้พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละคุมกำลังชาวเมือง 1,000 คน เป็นกองหน้า โปสุพลายกกำลัง 9,000 คน ยกตามมาหมายจะไปตั้งต่อสู้ที่เมืองนครลำปาง พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละเป็นไทยชาวลานนา รู้ว่าไทยข้างเมืองใต้พอเป็นที่พึ่งได้ ก็พาพวกกองหน้ามาสามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาจักรีจึงให้ทั้งสองพระยาถือน้ำกระทำสัตย์ แล้วจึงให้นำทัพไทยยกขึ้นไปเชียงใหม่ เมื่อโปสุพลาทราบเรื่อง จึงรีบถอยกำลังกลับไปรักษาเมืองเชียงใหม่ ให้วางกำลังตั้งค่ายสกัดทาง อยู่ริมฝั่งแม่น้ำพิงเก่าข้างเหนือเมืองลำพูนกองหนึ่ง ส่วนโปสุพลากับโปมะยุง่วนไปเตรียมต่อสู้ที่เมืองเชียงใหม่
ขณะเมื่อเจ้าพระยาจักรีได้เมืองลำปางนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่ามอญเสียที แตกหนีพม่าลงมาเมืองร่างกุ้ง อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพติดตามลงมา พวกมอญกำลังอพยพครอบครัวหนีเข้ามาอยู่เมืองไทยเป็นอันมาก พระองค์จึงดำรัสสั่งลงมาทางกรุงธนบุรี ให้พระยายมราชแขก คุมกองทัพออกไปตั้งกักด่านที่ตำบลท่าดินแดง แขวงเมืองท่าขนุน ในลำน้ำไทรโยค คอยรับครัวมอญ ที่จะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ให้พระยากำแหงวิชิต คุมกำลัง 2,000 คน ตั้งอยู่ที่บ้านระแหง คอยรับครัวมอญที่จะเข้ามาทางด่านเมืองตาก แล้วพระองค์เสด็จยกทัพหลวง ออกจากบ้านระแหง เมื่อวันศุกร์ แรม 5 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมีย พ.ศ. 2317 ตามกองทัพเจ้าพระยาจักรีขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่
กองทัพเจ้าพระยาจักรี ยกขึ้นไปจากเมืองนครลำปางถึงเมืองลำพูน พบกองทัพพม่าตั้งค่ายสกัดอยู่ที่ริมน้ำพิงเก่า ก็ให้เข้าโจมตีค่ายพม่า ได้รบพุ่งติดพันกันอยู่หลายวัน กองทัพหลวงพระเจ้ากรุงธนบุรียกไปถึงเมืองลำพูน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 2 ค่ำ เดือนยี่ แล้วตั้งทัพอยู่ที่เมืองลำพูน เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ และเจ้าพระยาสวรรค์โลก ระดมตีค่ายพม่าแตกกลับไปเมืองเชียงใหม่ แล้วก็ไล่ติดตามไปล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ โดยให้ตั้งค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่จำนวน 34 ค่าย ชักปีกกาตลอดถึงกัน 3 ด้าน คือด้านตะวันออก ด้านใต้ และด้านตะวันตก คงเหลือแต่ด้านเหนือ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของเจ้าพระยาสวรรค์โลก ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีรับสั่งให้ขุดคู วางขวากและวางปืนจุกช่องเตรียมไว้ทุกค่าย แล้วให้ขุดคูทางเดินเข้าไปประชิดตัวเมือง สำหรับให้คนเดินบังทางปืนเข้าไป ถ้าหากว่าข้าศึกยกออกมาตี ก็ให้ไล่คลุกคลีติดพันตามเข้าเมืองไป
โปสุพลา โปมะยุง่วน เห็นฝ่ายไทยตั้งค่ายล้อมเมืองดังกล่าว จึงคุมกำลังออกมาตั้งค่ายประชิด แล้วยกกำลังเข้าปล้นค่ายไทยหลายครั้ง แต่ถูกฝ่ายไทยตีโต้ถอยกลับเข้าเมืองไปทุกครั้ง สุดท้ายจึงได้แต่รักษาเมืองมั่นไว้ ขณะนั้นพวกชาวเมืองเชียงใหม่ ที่หลบหนีพม่าไปซุ่มอยู่ในป่าเขา เห็นฝ่ายไทยไปตั้งค่ายล้อมพม่าอยู่ ก็พากันออกมาเข้ากับกองทัพไทยเป็นอันมาก พวกที่อยู่ในเมือง ก็พากันหลบหนีเล็ดลอดออกมาเข้ากับฝ่ายไทยอยู่ไม่ขาดสาย จนได้ครอบครัวชาวเชียงใหม่ ที่มาเข้ากับกองทัพไทยมีจำนวนกว่า 5,000 คน
ขณะนั้น เหตุการณ์ข้างเหนือกับข้างใต้ ได้เกิดกระชั้นกันเข้าทุกขณะ กล่าวคือมีข่าวว่า พม่ายกกำลังตามครัวมอญ เข้ามาทางด่านบ้านนาเกาะดอนเหล็ก แขวงเมืองตากมีกำลังประมาณ 2,000 คน พระเจ้ากรุงธนบุรี จึงดำรัสสั่งให้เจ้ารามลักษณ์ หลานเธอแบ่งพลจากกองทัพหลวง 1,800 คน ยกลงมาทางบ้านจอมทองเพื่อรับมือกับข้าศึกที่ยกเข้ามาทางด้านนี้ แต่ต่อมาเมื่อทรงทราบว่ากำลังพม่ามีปฏิบัติการไม่เข้มแข็ง จึงทรงให้ยกเลิกภารกิจนี้ แล้วดำรัสให้มีตราถึงพระยากำแหงวิชิต ให้แบ่งกำลังที่เมืองตากออกไปตั้งรักษาด่านบ้านนาเกาะเหล็ก คอยรับครัวมอญที่จะตามเข้ามาทีหลังต่อไป
พระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จยกกองทัพหลวง จากเมืองลำพูนขึ้นไปเชียงใหม่ เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือนยี่ ตั้งค่ายหลวงประทับที่ริมน้ำใกล้เมืองเชียงใหม่ ในวันนั้น เจ้าพระยาจักรียกกำลังเข้าตีข้าค่ายพม่า ซึ่งออกมาตั้งรับอยู่นอกเมือง ข้างด้านใต้กับด้านตะวันตก ได้หมดทุกค่าย เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกกำลังเข้าตีค่ายพม่า ที่ออกมาตั้งรับตรงปากประตูท่าแพด้านตะวันออก ได้ทั้ง 3 ค่าย และในค่ำวันนั้นเอง โปสุพลากับโปมะยุง่วนก็ทิ้งเมืองเชียงใหม่ อพยพผู้คนหนีออกไปทางประตูช้างเผือกข้างด้านเหนือ ฝ่ายไทยยกกำลังออกไล่ติดตาม และชิงครอบครัวพลเมืองกลับคืนมาได้เป็นจำนวนมาก พระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จโดยขบวนพยุหยาตรา เข้าเหยียบเมืองเชียงใหม่ในวันรุ่งขึ้น ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ ทรงตั้งพระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้พระยากาวิละเป็นพระยานครลำปางให้พระยาลำพูนเป็นพระยาวัยวงศา ครองเมืองลำพูนตามเดิม
การตีได้เมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ ฝ่ายไทยยึดได้พาหนะและเครื่องศัตราวุธของข้าศึกเป็นอันมาก มีปืนใหญ่น้อยรวม 2,110 กระบอก กับม้า 200 ตัว เป็นต้น ต่อมาอีกสองวันได้มีใบบอกเมืองตากว่า มีกองทัพพม่ายกตามครัวมอญล่วงแดนเข้ามา พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรี คุมกองทัพอยู่จัดการเมืองเชียงใหม่ให้เรียบร้อย ส่วนพระองค์ก็เสด็จยกกองทัพหลวงลงมายังเมืองตาก เมื่อวันศุกร์ แรม 4 ค่ำ เดือนยี่ ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีก็ให้พวกท้าวพระยา ออกไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คนพลเมืองที่หนีภัย ไปหลบซ่อนอยู่ตามป่าเขา ให้กลับคืนถิ่นที่อยู่ตามเดิม ครั้งนั้น เจ้าฟ้าเมืองน่านได้เข้ามาสามิภักดิ์ เป็นข้าขอบขัณฑสีมาอีกเมืองหนึ่ง จึงได้เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองนครลำปาง เมืองน่าน และเมืองแพร่ กลับมาอยู่ในพระราชอาณาเขตไทย นับตั้งแต่ ปีมะเมีย พ.ศ. 2317 เป็นต้นมาตราบจนทุกวันนี้

1 ความคิดเห็น:

nashobahabig กล่าวว่า...

Slot machine game - JTM Hub
› casino › slot-machine-game 경기도 출장안마 › casino › slot-machine-game Oct 18, 2021 — Oct 18, 2021 Slot machine game. Free Slots. 보령 출장샵 With over 200+ free slots with bonus rounds, you can 상주 출장샵 play for real. The game features all 거제 출장샵 the 하남 출장마사지 amazing