วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

การรบพม่าที่บางแก้ว

การรบพม่าที่บางแก้ว
พระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จยกทัพหลวงกลับลงมาจากเชียงใหม่ถึงเมืองตาก เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 พอดีกองทัพพม่าที่ยกตามครัวมอญมาทางด่านแม่ละเมา ใกล้จะยกมาถึงเมืองตาก จึงมีรับสั่งให้หลวงมหาเทพ กับจมื่นไวยวรนาถ คุมกำลัง 2,000 คน ยกไปตีทัพพม่า และได้ปะทะกันในวันนั้น พอตกค่ำฝ่ายพม่าก็ถอยหนีไป จึงมีรับสั่งให้ยกกำลังสวนทางที่พม่าถอยหนีไปนั้น ให้พระยากำแหงวิชิตรีบยกกำลังออกไปก้าวสกัดตัดหลังกองทัพพม่า เพื่อตัดรอนกำลังส่วนนี้ให้หมดสภาพไป เมื่อทรงทราบว่า กองทัพพระยากำแหงวิชิต ตีทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา ให้ถอยหนีกลับไปโดยสิ้นเชิงแล้ว พอกรุงธนบุรีมีใบบอกขึ้นไปว่า มีครัวมอญเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์เป็นอันมาก ก็ทรงประมาณสถานการณ์ได้ว่า คงมีกองทัพพม่า ติดตามครัวมอญเข้ามาทางนั้นอีก ก็เสด็จยกกองทัพหลวงโดยชลมารค ลงมาจากบ้านระแหง เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 รีบมาทั้งกลางวันกลางคืน สิ้นเวลา 5 วันก็ถึงกรุงธนบุรี เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง พวกครัวมอญได้อพยพมาถึงกรุงธนบุรี ก่อนหน้านั้นแล้ว พระยามอญที่เป็นหัวหน้ามี 4 คน คือ พระยาเจ่ง พระยากลางเมือง ตละเซี่ยง และตละเกล็บ พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้ครัวมอญ ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ปากเกร็ด แขวงเมืองนนทบุรี และที่สามโคก แขวงเมืองปทุมธานี และสำรวจได้ชายฉกรรจ์ที่เข้ามาครั้งนั้น จำนวน 3,000 คนเศษ แล้วทรงตั้งพระยาบำเรอภักดิ์ครั้งกรุงเก่า มีเชื้อสายมอญ ให้เป็นที่พระยารามัญวงศ์ มียศเสมอจตุสดมภ์ เป็นหัวหน้าควบคุมกองมอญทั่วไป ส่วนพระยามอญ และพวกหัวหน้า ก็ทรงตั้งให้มียศศักดิ์เป็นข้าราชการทุกคน
ทางด้านพม่า อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพตามพวกมอญมาถึงเมืองเมาะตะมะ เมื่อเดือนอ้าย ปีมะเมีย พ.ศ. 2317 แล้วให้งุยอคงหวุ่น คุมกำลังพล 5,000 คน ยกกำลังตามครัวมอญมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ด้วยเห็นว่า เมื่อครั้งเป็นที่ฉับกุงโบ เคยรบชนะไทยครั้งที่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ครั้งยกมาถึงท่าดินแดงเห็นไทยตั้งค่ายอยู่ ก็เข้าตีค่ายไทย กองทัพของพระยายมราชมีกำลังน้อยกว่า ก็แตกถอยหนีมาอยู่ที่ปากแพรก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้รีบเกณฑ์กองทัพในกรุงธนบุรี ให้พระองค์เจ้าจุ้ยลูกเธอ กับพระยาธิเบศร์บดีจางวางมหาดเล็ก นำกำลังพล 3,000 คน ออกไปตั้งรักษาเมืองราชบุรี แล้วให้เจ้ารามลักษณ์หลานเธอนำกำลังพล 1,000 คน ยกขึ้นไปหนุน และให้มีตราขึ้นไปยังกองทัพหัวเมืองเหนือ ให้ยกลงมาด้วย แล้วมีรับสั่งให้เรือเร็ว ขึ้นไปเร่งกองทัพกรุงธนบุรี ที่กำลังเดินทางกลับจากเมืองเหนือ ให้รีบเดินทางกลับมาโดยเร็ว เนื่องจากยังไม่รู้ว่า กองทัพพม่าจะยกกำลังเข้ามามากน้อยเพียงใด
ครั้นถึงวันจันทร์ แรม 4 ค่ำ เดือน 3 พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่า กองทัพกรุง ฯ จะลงมาถึงในวันนี้ จึงเสด็จลงประทับอยู่ที่ตำหนักแพ แล้วให้ตำรวจลงเรือเร็วขึ้นไปคอยสั่งกองทัพ ให้เลยออกไปเมืองราชบุรีทีเดียว อย่าให้ผู้ใดแวะบ้านเป็นอันขาด เรือในกองทัพเมื่อมาถึง ได้ทราบกระแสรับสั่ง ก็เลยมาหน้าตำหนักแพ ถวายบังคมลา แล้วเลี้ยวเข้าคลองบางกอกใหญ่ไปทุกลำ มีพระเทพโยธาคนเดียวที่แวะเข้าที่บ้าน เมื่อทรงทราบก็ทรงพิโรธ และได้ทรงประหารชีวิตพระเทพโยธาด้วยพระหัตถ์ พวกกองทัพทั้งปวงก็เกรงพระราชอาชญา พากันรีบยกกำลังออกไปเมืองราชบุรีตามรับสั่ง
การที่พม่ายกกำลังเข้ามาครั้งนี้ อะแซหวุ่นกี้ประสงค์จะให้ตามมานำครัวมอญกลับไป แต่งุยอคงหวุ่นถือตัวว่าเคยชนะไทยมาก่อน ดังนั้น เมื่อตีกองทัพพระยายมราชแขกแตก ถอยลงมาทางท่าดินแดงแล้ว ก็ยกกำลังเข้ามาถึงปากแพรก พระยายมราชก็ถอยร่นมาตั้งอยู่ที่ดงรังหนองขาว งุยอคงหวุ่นจึงแบ่งกำลังออกเป็นสองส่วน ให้มองจายิด คุมกำลัง 2,000 คน ตั้งค่ายอยู่ที่ปากแพรก เที่ยวปล้นทรัพย์จับผู้คนในแขวงเมืองกาญจนบุรี เมืองสุพรรณบุรีและเมืองนครชัยศรี ตัวงูยอคงหวุ่นเองมีกำลัง 3,000 คน ยกลงมาทางฝั่งตะวันตก เพื่อไปปฏิบัติการในแขวงเมืองราชบุรี เมืองสมุทรสงคราม และเมืองเพชรบุรี ครั้นยกกำลังมาถึงบางแก้ว ทราบว่ามีกำลังของฝ่ายไทย ยกออกไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี จึงให้ตั้งค่ายมั่นลงที่บางแก้ว 3 ค่าย ชัยภูมิที่ตั้งค่ายนี้เป็นที่ดอน อยู่ชายป่าด้านตะวันตก ไม่ได้ลงมาตั้งทางริมแม่น้ำ เช่นที่บ้านลุกแก หรือตอกละออม เช่นที่พม่าเคยมาตั้งครั้งตีกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ เพื่อให้สะดวกต่อการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ และยังป้องกันตัวจากฝ่ายไทยได้ดีกว่า นอกจากนั้น ก็ยังสามารถตั้งอยู่ได้จนถึงฤดูฝน
ฝ่ายไทย พระองค์เจ้าจุ้ยตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี เมื่อทราบว่าพม่าตั้งค่ายอยู่ที่บางแก้ว ด้วยกำลังพล 3,000 คน จึงยกกำลังไปตั้งที่ตำบลโคกกระต่าย ในทุ่งธรรมเสน ห่างจากค่ายพม่าประมาณ 80 เส้น แล้วให้หลวงมหาเทพ คุมกองหน้า ไปตั้งค่ายโอบพม่าทางด้านตะวันตก และให้เจ้ารามลักษณ์นำกำลังยกไปตั้งค่าย โอบทางด้านตะวันออก แล้วบอกความเข้ามายังกรุงธนบุรี
ครั้นถึงวันอังคาร แรม 6 ค่ำ เดือน 3 เมืองนครชัยศรีบอกมาว่า มีพวกพม่ามาปฏิบัติการถึงแขวงเมืองสุพรรณบุรี เมืองนครชัยศรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ ผู้ว่าที่โกษาธิบดียกกำลัง 1,000 คน ไปรักษาเมืองนครชัยศรี จากนั้นให้เตรียมทัพหลวงมีกำลังพล 9,000 คน เมื่อทรงทราบว่า พม่ายกกำลังมาตั้งค่ายอยู่ที่แขวงเมืองราชบุรี จึงเสด็จยกกำลังออกจากพระนคร เมื่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเมีย พ.ศ. 2317 เมื่อเสด็จถึงเมืองราชบุรี ทรงทราบว่า พม่ากระทำการดูหมิ่นไทย ก็ทรงขัดเคือง เมื่อได้ข่าวว่า มีกำลังพม่าเพิ่มเติมมาที่ปากแพรกอีก 1,000 คน จึงมีรับสั่งให้พระยาสีหราชเดโชชัย กับพระยาวิเศษชัยชาญ ยกกำลัง 2,000 คน ขึ้นไปช่วย พระยายมราชแขกที่หนองขาว จากนั้นจึงเสด็จยกกองทัพหลวงจากเมืองราชบุรี ไปตามทางฟากตะวันตก ไปตั้งค่ายหลวงที่ตำบลเขาพระ เหนือค่ายโคกกระต่ายขึ้นไปประมาณ 40 เส้น ครั้นทราบว่ามีกำลังพม่ายกเข้ามาทางด่านประตูสามบาน ด่านประตูเจ้าขว้างอีกทางหนึ่ง จึงเกรงว่าข้าศึกจะตีตัดทางลำเลียงด้านหลัง จึงมีรับสั่งให้พระองค์เจ้าจุ้ย กับพระยาราชาเศรษฐี ยกกำลังลงมารักษาเมืองราชบุรี
ครั้นถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 พระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จไปทอดพระเนตรค่ายทหารไทย ที่ตั้งโอบทหารพม่าที่บางแก้ว เมื่อทรงพิจารณาภูมิประเทศแล้ว จึงมีรับสั่งให้ไปตั้งค่ายล้อมพม่าเพิ่มเติมอีกจนรอบ แล้วให็เจ้าพระยาอินทรอภัย ไปตั้งรักษาหนองน้ำที่เขาช่องพราน อันเป็นที่ข้าศึกอาศัยเลี้ยงช้างม้าพาหนะ และเป็นเส้นทางเดินลำเลียงเสบียงอาหารของข้าศึกแห่งหนึ่ง ให้พระยารามัญวงศ์คุมกองมอญที่เข้ามาใหม่ ไปรักษาหนองน้ำที่เขาชะงุ้ม ซึ่งอยู่ในเส้นทางลำเลียงของข้าศึก ด้านเหนือขึ้นไป ระยะทางประมาณ 100 เส้น
ฝ่ายงุยอคงหวุ่น เห็นการปฏิบัติการของฝ่ายไทยเข้มแข็งรัดกุม จะนิ่งเฉยอยู่ต่อไปไม่ได้ จึงให้ยกกำลังมาปล้นค่าย เจ้าพระยาอินทรอภัยที่เขาช่องพรานถึงสามครั้ง แต่ก็แตกกลับไปทุกครั้งในคืนเดียวกัน เห็นจะเป็นอันตราย จึงให้คนเร็วเล็ดลอดไปบอกกองทัพที่ปากแพรก ให้ยกมาช่วย
พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าล้อมค่ายบางแก้วไว้ ให้พม่าสิ้นเสบียงอาหาร ก็จะยอมแพ้ ออกมาให้จับเป็นเชลยทั้งหมด จึงมีรับสั่งมิให้เข้าตีค่ายพม่า แต่ให้ล้อมไว้ให้มั่น แล้วให้พระยาเทพอรชุน กับพระดำเกิงรณภพ คุมกองอาจารย์ และทนายเลือก รวม 745 คน เป็นกองโจร ไปช่วยเจ้าพระยาอินทรอภัย ตีตัดกำลังข้าศึกที่เขาช่องพรานอีกกองหนึ่ง
ด้านพม่า อะแซหวุ่นกี้คอยอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ เห็นกองทัพงุยอคงหวุ่นหายไปนาน จึงให้ตะแคงมรหน่อง ยกกำลัง 3,000 คน ตามเข้ามา เมื่อมาถึงปากแพรก ได้ทราบว่า งุยอคงหวุ่นถูกฝ่ายไทยล้อมไว้ที่บางแก้ว จึงให้มองจายิดยกกำลัง 2,000 คน ลงมาช่วยงุยอคงหวุ่นที่บางแก้ว ส่วนตนเองยกกำลังลงมาตีค่าย พระยายมราชแขกที่หนองขาว ไม่สามารถเอาชนะฝ่ายไทยได้ จึงถอยกำลังไปตั้งอยู่ที่ปากแพรก
ฝ่ายมองจายิด เมื่อมาถึงเขาชะงุ้ม เห็นกองมอญมีกำลังน้อยกว่า ก็เข้าล้อมไว้ พอตกค่ำ งุยอคงหวุ่นทราบว่า มีกำลังฝ่ายตนยกมาช่วย ก็ยกกำลังออกปล้นค่ายหลวงมหาเทพ หมายจะตีหักออกไป แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ต้องถอยกลับเข้าค่าย พระยาธิเบศร์บดีซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือ ก็ยกไปช่วยแก้กองมอญ ออกมาจากที่ล้อมได้ แต่กำลังไม่พอจะต่อสู้พม่าได้ ก็พากันล่าถอยลงมา มองจายิดจึงเข้าไปรวมกำลังกับฝ่ายตน ที่ค่ายเขาชะงุ้มได้ ในวันนั้น พระยานครสวรรค์ยกกำลังไปถึงเมืองราชบุรี จึงมีรับสั่งให้ขึ้นไปช่วยพระยาธิเบศร์บดีในค่ำวันนั้น แล้วให้กำลังทั้ง 3 กอง ไปตั้งค่ายล้อมพม่าทางด้านเหนือ ป้องกันพม่าทั้งสองพวกมิให้เข้าถึงกันได้
ในเดือน 4 เจ้าพระยาจักรียกกองทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่ และได้ตามออกไป พร้อมทั้งพาทูตเมืองน่าน มาถวายต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการของเจ้าฟ้าเมืองน่าน ซึ่งมาอ่อนน้อม ยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ออกไปเฝ้าด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีสรรเสริญความชอบเจ้าพระยาจักรี พระราชทานบำเหน็จ แล้วมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรี ถืออาญาสิทธิ์ไปบัญชาการล้อมพม่าที่บางแก้ว เจ้าพระยาจักรีจึงยกกำลังไปตั้งค่ายมั่นอยู่ที่เหนือพระมหาธาตุเขาพระ อยู่เหนือค่ายหลวงขึ้นไป ส่วนพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จถอยมาประทับอยู่ที่ค่ายโคกกระต่าย ด้วยเหมาะที่จะให้การสนับสนุนได้ทุกด้าน แล้วมีรับสั่งให้หลวงบำเรอภักดิ์ คุมกองกำลังทหารกองนอก 400 คน เป็นกองโจรไปคอยตีสะกัด ไม่ให้พม่าที่เขาชะงุ้ม ออกลาดตระเวณหาอาหารและน้ำใช้ได้สะดวก
ในคืนวันข้างขึ้น เดือน 4 พม่าในค่ายบางกุ้ง ยกกำลังออกปล้นค่ายพระยาพิพัฒน์โกษา แล้วปล้นค่ายหลวงราชนิกุลอีก แต่ก็ไม่เป็นผลเช่นเคย พม่าขัดสนเสบียงอาหาร ต้องกินเนื้อสัตว์พาหนะแต่น้ำในบ่อยังมีอยู่ พม่าต้องอาวุธปืนใหญ่น้อยของไทย เจ็บป่วยล้มตาย จนต้องขุดหลุมลงอาศัยกันโดยมาก ครั้นถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เวลาบ่าย พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จทรงม้าไปที่ค่ายหลวงมหาเทพ ซึ่งตั้งล้อมพม่าอยู่ทางด้านตะวันตก มีรับสั่งให้จักกายเทวะมอญเข้าไปร้องบอกแก่พม่าในค่าย ให้ออกมายอมอ่อนน้อมแต่โดยดี งุยอคงหวุ่นจึงขอเจรจากับ ตละเกล็บหัวหน้ามอญที่มาอยู่กับไทย และได้เป็นที่พระยาราม แต่ก็ยังไม่เป็นผล
เมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์กับพวกผู้ว่าราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ คุมกองทัพหัวเมืองลงไปถึง จึงรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์ คุมกองทัพหัวเมืองทั้งปวง ไปตั้งประชิดค่ายพม่าที่เขาชะงุ้มกันไว้ ไม่ให้เข้ามาช่วยพม่าที่ค่ายบางแก้วได้ ทั้งนี้เพื่อคิดจะจับพวกพม่าที่ค่ายบางแก้ว ให้ได้เสียก่อนภารกิจอื่น แม้จะมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวของข้าศึก ณ ที่แห่งอื่น ๆ เช่น เมืองคลองวาฬหรือเมืองกุย บอกเข้ามาว่า พวกพม่าที่ยกเข้ามาจากเมืองมะริด ตีบ้านทับสะแกได้แล้ว ลงไปตีเมืองกำเนิดนพคุณ ผู้รั้งกรมการเมืองนำกำลังราษฎรเข้าต่อสู้ ข้าศึกได้เผาเมืองกำเนิดนพคุณ แล้วยกเลยไปทางเมืองปะทิว ซึ่งขึ้นแก่เมืองชุมพร ในกรณีนี้ ได้มีรับสั่งให้มีตราตอบไปว่า ให้ทำลายหนองน้ำและบ่อน้ำ ตามเส้นทางที่จะขึ้นมาเมืองเพชรบุรีให้หมด แห่งใดทำลายไม่ได้ ก็ให้เอาของโสโครก และของที่มีพิษ ใส่ในแหล่งน้ำดังกล่าว อย่าให้ข้าศึกอาศัยใช้ได้
ต่อมา เมื่อทราบเรื่องจากเชลยที่จับมาได้ ว่าพม่าที่เขาชะงุ้มพยายามเล็ดลอด ขนเสบียงมาให้พม่าในค่ายบางแก้ว และได้บอกไปยังตะแคงมรหน่อง ขอกำลังมาเพิ่มเติมให้ทางค่ายเขาชะงุ้ม เพื่อจะได้ตีหักมาช่วยที่ค่ายบางแก้ว จึงมีรับสั่งให้เพิ่มเติมกองโจรให้มากยิ่งขึ้น แล้วให้หลวงภักดีสงคราม นายกองนอกซึ่งอยู่ในกองเจ้าพระยาอินทรอภัย คุมกำลังกองนอก ลอบขึ้นไปทำลายหนองและบ่อน้ำ ในเส้นทางที่จะมาจากปากแพรกเสีย อย่าให้ข้าศึกเพิ่มกำลังเข้ามาได้
ต่อมาพม่าในค่ายเขาชะงุ้ม ก็ทำค่ายวิหลั่น บังตัวออกมาปล้นค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ในเวลาเที่ยงคืน แต่ถูกฝ่ายไทยตีแตกกลับไป จากนั้นก็ไปปล้นค่ายจมื่นศรีสรรักษ์แต่ไม่เป็นผล ต้องถอยกลับเข้าค่ายไป ต่อมาเมื่อวันอังคาร แรม 5 ค่ำ เดือน 4 ก็ยกกำลังออกมาปล้นค่ายพระยานครสวรรค์ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ ตั้งแต่เวลา 3 นาฬิกาจนรุ่งสว่าง พระเจ้ากรุงธนบุรีรีบเสด็จขึ้นไป มีรับสั่งให้กองอาจารย์และทนายเลือก เข้าช่วยรบ จนถึงเวลา 8 นาฬิกา พม่าจึงถอยหนีกลับเข้าค่ายไป
งุยอคงหวุ่น เห็นสภาพการณ์เช่นนั้น จึงขอเจรจากับฝ่ายไทยอีก โดยให้นายทัพคนหนึ่งออกมาหาพระยาราม พระยารามจึงพาไปที่เจ้ารามลักษณ์ และเจ้าพระยาจักรี วิงวอนขอให้ปล่อยทัพพม่ากลับไป แต่ฝ่ายไทยไม่ยินยอม ฝ่ายพม่า จึงขอกลับไปปรึกษากันก่อน ต่อมาเมื่อวันศุกร์ แรม 8 ค่ำ เดือน 4 งุยอคงหวุ่นให้พม่าตัวนาย 7 คน ออกมาเจรจาอีกว่า พวกพม่าจะยอมอ่อนน้อม ถวายช้างม้าพาหนะ และเครื่องศัตราวุธทั้งหมด ของเพียงให้ปล่อยตัวกลับไป ทางฝ่ายไทยตอบว่า ถ้าออกมาอ่อนน้อมจะยอมไว้ชีวิต แต่จะปล่อยกลับไปไม่ได้ ในวันนั้นอุตมสิงหจอจัว ปลัดทัพของยุงอคงหวุ่น ได้พานายหมวดนายกองพม่ารวม 14 คน นำเครื่องศัตราวุธของตนออกมาส่งให้ไทย จึงได้นำไปเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรี อุตมสิงหจอจัวกราบทูลว่า จะขอถือน้ำทำราชการกับไทยต่อไปจนชีวิตจะหาไม่ จึงมีรับสั่งให้อุตมสิงหจอจัว ออกไปพูดเกลี้ยกล่อม ให้พวกพม่าออกมาอ่อนน้อม พวกพม่าในค่ายก็ขอปรึกษากันก่อน
ครั้นถึงวันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 4 พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้พระยานครราชสีมา ซึ่งยกกำลังเดินทางมาถึง ให้ไปตั้งค่ายประชิดพม่าที่เขาชะงุ้ม และมีการเจรจาอีกครั้งระหว่างยุงอคงหวุ่น กับอุตมสิงหจอจัว แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ จากการประมาณสถานการณ์เห็นว่า พม่าจะยังไม่ยกเข้ามาในปีนี้ ด้วยจวนจะเข้าฤดูฝน ยังไม่จำเป็นต้องเกณฑ์กองทัพหัวเมือง จึงเป็นแต่ให้มีตราเกณฑ์ข้าวสาร เมืองนครศรีธรรมราช 600 เกวียน เมืองไชยา เมืองพัทลุง และเมืองจันทบุรี เป็นข้าวสารเมืองละ 400 เกวียน ให้ส่งมาขึ้นฉางไว้สำรองราชการสงคราม ถ้าหาข้าวได้ไม่ครบตามจำนวนเกณฑ์ ก็ให้ส่งเป็นเงินแทน โดยคิดราคาข้าวสารเกวียนละ 40 บาท ข้าวเปลือกเกวียนละ 20 บาท
ในที่สุดเมื่อวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 งุยอคงหวุ่น และพวกนายทัพนายกองพม่าในค่ายบางแก้ว ก็ออกมายอมอ่อนน้อมทั้งหมด หลังจากที่ฝ่ายไทยล้อมค่ายพม่าได้ 47 วัน ก็ได้ค่ายพม่าทั้ง 3 ค่าย ได้เชลยรวม 1,328 คน ที่ตายไปเสียเมื่อถูกล้อมอีกกว่า 1,600 คน
เมื่อได้ค่ายพม่าที่บางแก้วแล้ว รุ่งขึ้น ณ วันเสาร์ ขึ้นค่ำ 1 เดือน 5 ปีมะแม พ.ศ. 2318 พระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีรับสั่งให้ พระยาอนุชิตราชายกกำลังพล 1,000 คน ขึ้นไปทางริมน้ำฟากตะวันตก ให้หลวงมหาเทพยกกำลังพล 1,000 ขึ้นไปทางริมน้ำฟากตะวันออก ให้ไปตีค่ายพม่าที่ปากแพรก พร้อมกับกองทัพของพระยายมราชแขก แล้วมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรีขึ้นไปตีค่ายพม่าที่เขาชะงุ้ม ในค่ำวันนั้นเวลาเที่ยงคืน พม่าในค่ายเขาชะงุ้ม ยกค่ายวิหลั่นออกมาปล้นค่ายพระมหาสงคราม หมายจะเข้ามาช่วยพวกของตนที่ค่ายบางแก้ว พม่าเอาไฟเผาค่ายพระมหาสงคราม เจ้าพระยาจักรีไปช่วยทันชิงเอาค่ายกลับคืนมาได้ พม่าย้ายไปปล้นค่ายจมื่นศรีสรรักษ์แต่ถูกฝ่ายไทยต่อสู้ จนต้องล่าถอยกลับเข้าค่าย
ต่อมาเมื่อวันอังคาร ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 5 เวลากลางคืน พม่าในค่ายเขาชะงุ้มก็ทิ้งค่ายหนีกลับไปทางเหนือ กองทัพไทยไล่ติดตามไปฆ่าฟันพม่าล้มตาย และจับเป็นเชลยได้เป็นอันมาก เมื่อหนีไปถึงปากแพรก ตะแคงมรหน่องรู้ว่ากองทัพพม่าเสียทีแก่กองทัพไทยหมดแล้ว ก็รีบยกกำลังหนีกลับไปเมืองเมาะตะมะ พระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีรับสั่งให้กองทัพยกติดตามไปจนสุดพระราชอาณาเขต แล้วก็ให้กองทัพกลับคืนมาพระนคร พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่แม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ผู้น้อย ตามสมควรแก่ความชอบ ที่มีชัยชนะพม่าครั้งนี้โดยทั่วกัน
การรบครั้งนี้ เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งพระทัยที่จะจับพม่า ให้ได้หมดทั้งกองทัพที่มาตั้งที่บางแก้ว ด้วยเหตุที่พม่าประกาศหมิ่นไทยประการหนึ่ง และทรงประสงค์จะปลุกใจคนไทย ให้กลับกล้าหาญดังแต่ก่อน หายครั้นคร้ามพม่า จึงทรงทนความลำบาก ใช้เวลาล้อมพม่าอยู่นาน โดยไม่รบแตกหัก ซึ่งถ้าจะทำก็ทำได้โ ดยใช้เวลาน้อยกว่านี้ แต่ผลที่ได้จะต่างกัน การจับพม่าเป็นเชลยได้เป็นจำนวนมากเช่นนี้ ให้ผลทางด้านจิตวิทยามากกว่า

อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ
ในปีมะเมีย พ.ศ. 2317 พระเจ้ามังระเสด็จมายกฉัตรยอดพระเกศธาตุ ที่เมืองร่างกุ้ง เมื่อกลางเดือน 4 ขณะนั้น อะแซหวุ่นกี้ปราบปรามพวกมอญเสร็จสิ้นแล้ว เป็นแต่ยังรอกองทัพพม่าที่เข้ามาตามครัวมอญ อยู่เมืองเมาะตะมะ จึงได้ขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าอังวะที่เมืองร่างกุ้ง พระเจ้ามังระเห็นว่า มีกองทัพใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตะมะแล้ว จึงมอบการที่จะตีเมืองไทย ให้อะแซหวุ่นกี้คิดอ่านดำเนินการต่อไป พอกองทัพตะแคงมรหน่องหนีไทยกลับไปถึง อะแซหวุ่นกี้เห็นว่าไทยทำศึกเข้มแข็งกว่าเก่า เห็นว่าแนวทางที่ใช้ครั้งก่อนไม่ได้ผล จึงคิดจะใช้แบบอย่างครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง คือยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีหัวเมืองเหนือ ตัดกำลังไทยเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วเอาเมืองเหนือเป็นที่มั่น ยกกำลังทั้งทางบก และทางเรือ ลงมาตีกรุงธนบุรีทางลำแม่น้ำเจ้าพระยา จึงพักบำรุงรี้พลอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ แล้วมีคำสั่งไปยังโปสุพลา โปมะยุง่วน ซึ่งถอยหนีไทยไปอยู่ที่เมืองเชียงแสน ให้ยกกลับมาตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้ ตั้งแต่ในฤดูฝน แล้วให้เตรียมเรือรบ เรือลำเลียง และรวบรวมเสบียงอาหาร ลงมาส่งกองทัพอะแซหวุ่นกี้ ซึ่งจะยกเข้ามาในต้นฤดูแล้ง โปสุพลา โปมะยุง่วน จึงรวบรวมกำลัง ยกลงมาตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อเดือน 10 ปีมะแม พ.ศ. 2318
พระเจ้ากรุงธนบุรี จึงดำรัสให้มีตราสั่งเจ้าพระยาสุรสีห์ ให้ยกกองทัพเมืองเหนือ ขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ ให้เจ้าพระยาจักรีคุมกองทัพกรุงธนบุรีหนุนขึ้นไป มอบภารกิจให้ตีพม่าถอยจากเชียงใหม่แล้ว ให้เลยตามขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงแสน ไม่ให้พม่ามาอาศัยอีกต่อไป
โปสุพลา โปมะยุง่วน ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่กองทัพไทยจะยกขึ้นไปถึง ครั้งได้ข่าวว่ากองทัพไทยยกขึ้นไป ก็ถอยหนีกลับไปตั้งอยู่ที่เชียงแสน แต่พงศาวดารพม่าว่าโปสุพลา ถอยกลับไปเมืองพม่าทางเมืองนาย หวังจะเข้ามาสมทบกับอะแซหวุ่นกี้ แต่มาไม่ทันทัพอะแซหวุ่นกี้
ครั้นถึงเดือน 11 ปีมะแม อะแซหวุ่นกี้ก็ให้กะละโบ่ กับมังแยยางู ผู้เป็นน้องชาย คุมกำลัง 20,000 คน เป็นกองทัพหน้า ยกออกจากเมืองเมาะตะมะ อะแซหวุ่นกี้คุมกำลัง 15,000 คน เป็นกองทัพหลวง ตามมากับตะแคงมรหน่อง และเจ้าเมืองตองอู เข้ามาทางด่านแม่ละเมา เข้ามาเมืองตาก มาถึงบ้านด่านลานหอย ตรงมาเมืองสุโขทัย ให้กองทัพหน้าตั้งอยู่ที่บ้านกงธานี ริมน้ำยมใหม่ ส่วนอะแซหวุ่นกี้ตั้งพักอยู่ที่เมืองสุโขทัย
ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ ตั้งทัพอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพใหญ่ เข้ามาทางด่านแม่ละเมา ก็รีบยกทัพกลับมาทางเมืองสวรรคโลก เมืองพิชัย ครั้นมาถึง เมืองพิษณุโลกจึงปรึกษากันถึงการสู้ศึก เจ้าพระยาจักรีเห็นว่าพม่ายกมาเป็นกองทัพใหญ่ กำลังฝ่ายไทยทางเมืองเหนือ มีน้อยกว่าทางพม่าอยู่มาก จึงควรตั้งรับศึกในเมืองพิษณุโลก คอยกองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไปช่วย ด้วยเมืองพิษณุโลกอยู่ทางลำแม่น้ำแควใหญ่ (แม่น้ำน่าน) ใช้เรือขึ้นล่องกับหัวเมืองข้างใต้ได้สะดวก แต่เจ้าพระยาสุรสีห์อยากจะยกไปตีพม่าก่อน จึงรวบรวมกองทัพหัวเมือง ให้พระยาสุโขทัย พระยาอักขรวงศ์เมืองสวรรคโลก และพระยาพิชัย เป็นกองหน้า ยกไปรบพม่าที่บ้านกงธานี เจ้าพระยาสุรสีห์ยกตามไปตั้งอยู่ที่บ้านไกรป่าแฝก พม่ายกมาตีกองทัพพระยาสุโขทัยแตกถอยมา แล้วยกติดตามมาถึงค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ สู้รบกันอยู่สามวัน เห็นว่าพม่ามีกำลังมากกว่ามากนัก เกรงว่าจะโอบล้อมกองทัพไว้ จึงถอยกลับมาเมืองพิษณุโลก
อะแซหวุ่นกี้ แบ่งกำลังให้อยู่รักษาเมืองสุโขทัย 5,000 คน แล้วคุมกำลังพล 30,000 คน ยกตามมาถึงเมืองพิษณุโลก ในเดือนอ้าย ข้างขึ้น ให้ตั้งค่ายรายล้อมเมืองทั้งสองฟากแม่น้ำ เจ้าพระยาทั้งสองก็จัดการป้องกันเมืองเป็นสามารถ เมืองพิษณุโลกนั้นแนวปราการตั้งทั้งสองฟาก เอาลำน้ำไว้กลาง จึงให้ทำสะพานเรือกข้ามแม่น้ำสองแห่ง สำหรับส่งกำลังไปมาให้ช่วยเหลือกันได้ กำลังที่อยู่รักษาเมืองพิษณุโลก ประมาณว่าไม่เกิน 10,000 คน อะแซหวุ่นกี้ออกเลียบค่าย เที่ยวตรวจหาชัยภูมิทุกวัน เจ้าพระยาสุรสีห์คุมพลออกโจมตี แต่ต้องถอยกลับมา เจ้าพระยาจักรีคุมพลออกโจมตีบ้าง พม่าต้องถอยหนีกลับเข้าค่ายหลายครั้ง
อะแซหวุ่นกี้ยกย่องฝีมือ เจ้าพระยาจักรี วันหนึ่งจึงนัดเจรจากัน เมื่อพบกันแล้วได้สอบถามอายุกัน ปรากฎว่า เจ้าพระยาจักรีอายุ 30 ปีเศษ อะแซหวุ่นกี้อายุ 72 ปี อะแซหวุ่นกี้สรรเสริญเจ้าพระยาจักรีว่า รูปก็งาม ฝีมือก็เข้มแข็ง สามารถสู้รบกับตนได้ ขอให้รักษาตัวไว้ ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์ ต่อไปภายหน้าพม่าจะตีเมืองไทยไม่ได้อีกแล้ว
ฝ่ายกรุงธนบุรี ได้ข่าวว่า อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาทางหัวเมืองเหนือ และขณะเดียวกัน ก็จะยกมาจากเมืองตะนาวศรี เข้ามาทางใต้อีกด้วย จึงมีดำรัสสั่งให้เกณฑ์กองทัพ ให้เจ้ารามลักษณ์หลานเธอ ซึ่งเป็นกรมขุนอนุรักษ์สงคราม คุมกำลังออกไปรักษาเมืองเพชรบุรี คอยป้องกันพม่าที่จะยกเข้ามาทางด่านสิงขร แล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกทัพหลวง มีกำลังพล 12,000 เศษ ออกจากกรุงธนบุรี เมื่อวันอังคาร แรม 11 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะแม ขึ้นไปรับศึกที่ยกมาทางหัวเมืองเหนือ


กระบวนศึกตอนที่ 1
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จขึ้นไปถึงเมืองนครสวรรค์ ในชั้นต้น ทรงจัดวางระบบการคมนาคม ที่จะให้กองทัพหลวง กับกองทัพที่เมืองพิษณุโลก ไปมาถึงกันได้สะดวก มีรับสั่งให้พระยาราชาเศรษฐี คุมกำลังชาวจีน จำนวน 3,000 คน ไปตั้งอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ คอยระวังรักษาเส้นทางลำเลียง และระวังข้าศึกที่จะยกมาทางลำน้ำโขง แล้วพระองค์เสด็จยกกองทัพหลวง ขึ้นไปทางลำน้ำแควใหญ่ ไปถึงปากพิง แขวงเมืองพิษณุโลก เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 3 ให้ตั้งค่ายหลวงอยู่ที่ปากพิง ด้วยเป็นปากคลองลัดทางเรือไปมา ระหว่างลำน้ำแควใหญ่ที่ตั้งเมืองพิษณุโลก กับลำน้ำยมที่ตั้งเมืองสุโขทัย อยู่ได้เมืองพิษณุโลกลงมาเป็นระยะทางเดินหนึ่งวัน แล้วให้แม่ทัพนายกอง คุมกำลังไปตั้งค่ายสองฟากลำแม่น้ำ เป็นระยะขึ้นไป แต่กองทัพหลวงถึงเมืองพิษณุโลก ดังนี้
ระยะที่ 1 ตั้งที่บางทราย มีพระยาราชสุภาวดี เป็นนายทัพ
ระยะที่ 2 ตั้งที่ท่าโรง มีเจ้าพระยา อินทรอภัย เป็นนายทัพ
ระยะที่ 3 ตั้งที่บ้านกระดาษ มีพระยาราชภักดี เป็นนายทัพ
ระยะที่ 4 ตั้งที่วัดจุฬามณี มีจมื่นเสนอในราช เป็นนายทัพ
ระยะที่ 5 ตั้งที่วัดจันทร์ ท้ายเมืองพิษณุโลก มีพระยานครสวรรค์ เป็นนายทัพ
ให้จัดกองตระเวณรักษาเส้นทางคมนาคมทุกระยะ และให้มีกองปืนใหญ่ ทหารเกณฑ์หัด เตรียมไว้เป็นกองหน้า สำหรับสนับสนุนทั่วไป ในเวลาที่ต้องการได้ทันท่วงที ให้พระศรีไกรลาศคุมพล 500 คน ทำทางริมลำน้ำ สำหรับเดินกองทัพแต่ปากพิง ผ่านไปตามค่ายที่ตั้งอยู่ ตลอดถึงเมืองพิษณุโลก
ครั้นถึงวันอังคาร ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 อะแซหวุ่นกี้ก็ให้กองทัพพม่ากองหนึ่ง มาตั้งค่ายตรงวัดจุฬามณีข้างฝั่งตะวันตกสามค่าย แล้วให้อีกกองหนึ่ง ยกลงมาลาดตระเวณทางฝั่งตะวันตก ได้รบกับไทยตั้งแต่ค่ายระยะที่สาม ที่บ้านกระดาษลงมา จนถึงค่ายระยะที่หนึ่งที่บางทราย ให้กองเกณฑ์หัดคุมปืนใหญ่รางเกวียน 30 กระบอก ขึ้นไปช่วยรักษาค่ายที่บางทราย พม่ารบพุ่งอยู่จนค่ำจึงถอยกลับไป
ครั้นถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 พระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระราชดำรัสให้พระยาธรรมไตรโลก พระยารัตนพิมล พระยาชลบุรี คุมพลอยู่รักษาค่ายหลวงที่ปากน้ำพิง แล้วพระองค์เสด็จยกกองทัพหลวง ขึ้นไปตั้งที่บางทราย ฝั่งตะวันออก ในค่ำวันนั้น พม่ายกมาทางฝั่งตะวันตก เข้าปล้นค่ายระยะที่สองที่ท่าโรง พระเจ้ากรุงธนบุรีให้กองเกณฑ์หัด 200 คน คุมปืนใหญ่ขึ้นไปช่วย พม่าต้องถอยกำลังกลับไป อะแซหวุ่นกี้จึงสั่งให้กองหนุนที่ตั้งอยู่ที่เมืองสุโขทัย ให้ยกกำลังลงมา ตีตัดเส้นทางลำเลียงของกองทัพกรุงธนบุรี 3,000 คน อีก 2,000 คน ให้ยกไปเสริมกำลังทางด้านเมืองพิษณุโลก

กระบวนศึกตอนที่ 2
พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเตรียมเข้าตีกองทัพพม่าที่ล้อมเมืองพิษณุโลก ครั้นถึงวันพุธ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 มีรับสั่งให้พระยารามัญวงศ์ คุมพลกองมอญผ่านทางในเมืองพิษณุโลก ขึ้นไปตั้งค่ายประชิดพม่าข้างด้านเหนือ ให้เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ เพิ่มกำลังออกไป ตั้งค่ายประชิดพม่าทางด้านตะวันออก ทางด้านใต้ ให้พระยานครสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดจันทร์ท้ายเมืองพิษณุโลก ตั้งค่ายชักปีกกาประชิดค่ายพม่า ออกไปเป็นหลายค่าย พม่าขุดคูเข้ามาเป็นหลายสาย เอาคูบังตัวเข้ามาตีค่ายไทย ฝ่ายไทยก็ขุดคูออกไป ให้ทะลุถึงคูพม่า รบพุ่งกันในคูทุกค่ายหลายวัน ไม่แพ้ชนะกัน
ครั้นถึงวันอังคาร แรม 2 ค่ำ เดือน 3 พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปถึงค่ายวัดจันทร์ เมื่อเวลา ค่ำ 22 นาฬิกา ให้กองทัพพระยายมราช พระยานครราชสีมา พระยาพิชัยสงครามยกหนุนไปช่วย พระยานครสวรรค์ด้านใต้ ครั้นถึงเวลาดึก 5 นาฬิกา ก็บอกสัญญาณให้กองทัพไทย เข้าระดมตีค่ายพม่า ที่ล้อมเมืองอยู่ทางด้านตะวันออก พร้อมกันทุกค่าย รบกันอยู่จนเช้าก็ยังเข้าค่ายพม่าไม่ได้ ต้องถอยกลับมา ครั้นวันรุ่งขึ้น จึงมีรับสั่งให้ประชุมแม่ทัพนายกอง เห็นว่าการเข้าตีประจัญหน้าไม่สำเร็จ ด้วยพม่ามีกำลังมากกว่า จึงตกลงในเปลี่ยนวิธีการรบ ให้เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ รวมกำลังในเมืองยกออกตีค่ายพม่า โดยให้ตีเฉพาะแต่ค่ายทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ และให้กำลังส่วนหนึ่งจากกองทัพหลวง ตีกระหนาบข้าศึกทางด้านหลัง ให้ข้าศึกแตกโดยกระบวนตีโอบ เป็นลำดับไป วันรุ่งขึ้นได้มีรับสั่งให้กองทัพพระยานครสวรรค์ ที่ตั้งอยู่ที่วัดจันทร์ ถอยลงมายังกองทัพหลวง และให้กองทัพพระยาโหราธิบดี และกองมอญ พระยากลางเมืองขึ้นมาจากค่ายบางทราย รวมกำลังจัดเป็นกองทัพเดียว มีกำลังพล 5,000 คน ในพระยานครสวรรค์เป็นกองหน้า พระยามหามณเฑียรเป็นแม่ทัพ หลวงดำเกิงรณภพหลวงรักษโยธา เป็นกองหนุน ยกกำลังไปซุ่มอยู่ด้านหลังค่ายพม่าทางฝั่งตะวันตก ถ้าเห็นข้าศึกรบพุ่งติดพัน กับกองทัพเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์เมื่อใดก็ให้ตีกระหนาบเข้าไป แล้วให้พระราชสงคราม ลงมาเอาปืนใหญ่ที่กรุงธนบุรี เพิ่มเติมขึ้นไปอีกด้วย
ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกำลังออกไปตีค่ายพม่า ที่ล้อมเมืองอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อวันเสาร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 3 เจ้าพระยาสุรสีห์ให้เอาไม้ทำคบ ปลายผูกผ้าชุบน้ำมันยาง เอาต้นคบยัดใส่ในกระบอกปืนใหญ่ เอาไฟจุดปลายคบ แล้วยิงเข้าไปในค่ายพม่า เผาค่ายพม่าไหม้ไปค่ายหนึ่ง และถูกหอรบไหม้ทำลายลงหลายหอ แต่ยังตีค่ายพม่าไม่ได้ เนื่องจากกองทัพที่จะยกไปช่วยตีกระหนาบ ยกไปไม่ถึงตามกำหนด เพราะไปพบข้าศึกต้องต่อสู้ติดพันกันอยู่

กระบวนศึกตอนที่ 3
ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้ เห็นกองทัพไทยตั้งค่ายตามริมแม่น้ำใต้เมืองพิษณุโลก ย้ายถอนออกไปหลายกอง ทำให้กำลังที่รักษาเส้นทางคมนาคม ระหว่างกองทัพหลวงกับกองทัพเมืองพิษณุโลกอ่อนลง จึงให้กะละโบ่ คุมกำลังมาตั้งสกัด ตัดทางลำเลียงเสบียงอาหาร ที่ส่งเข้าไปเมืองพิษณุโลก
ครั้นถึงวันศุกร์ แรม 12 ค่ำ เดือน 3 ได้มีใบบอกขึ้นไปจากกรุงธนบุรีว่า พม่ายกกำลังเข้ามาทางด่านสิงขร ขึ้นมาตีเมืองกุยเมืองปราณแตก กรมขุนอนุรักษ์สงครามซึ่งรักษาเมืองเพชรบุรี ส่งกำลังออกไปขัดตาทัพอยู่ที่ด่านช่องแคบแขวงเมืองเพชรบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบเรื่องก็ไม่ไว้พระทัย เกรงพม่าจะยกกำลังเข้ามาตีกรุงธนบุรีอีกทางหนึ่ง จึงมีรับสั่งให้เจ้าประทุมไพจิตร คุมกำลังกลับลงมารักษาพระนครส่วนหนึ่ง กองทัพหลวงก็ถอยกำลังลงไปอีก
ฝ่ายกองมอญที่พระยาเจ่งคุมไปดักพม่าที่เมืองกำแพงเพชร ได้ซุ่มสกัดทางพม่าที่ยกไปจากเมืองสุโขทัย พม่าไม่รู้ตัวก็แตกหนี ยึดได้เครื่องศัตราวุธของข้าศึกมาได้ แต่พม่ามีกำลังมากกว่า พอกองหลังตามมาทัน พระยาเจ่งก็ต้องล่าถอย กองทัพพม่าที่ยกมาเมืองกำแพงเพชรนั้น อะแซหวุ่นกี้สั่งให้ลงมาตีเมืองนครสวรรค์ อันเป็นที่รวบรวมเสบียงอาหารของกองทัพไทย และได้ตัดกำลังฝ่ายไทย ที่จะยกไปช่วย เมืองพิษณุโลกด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้กองทัพพระยาราชภักดี และพระยาพิพัฒน์โกษาถอยลงมาสมทบกองทัพพระยาราชาเศรษฐี รักษาเมืองนครสวรรค์ เมื่อกองทัพพม่าทราบว่า กองทัพไทยตั้งรักษาเมืองนครสวรรค์แข็งแรง จึงยับยั้งตั้งค่ายอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร แล้วแต่งกองโจรเดินลัดป่าด้านตะวันตก อ้อมหลังเมืองนครสวรรค์ ลงไปเมืองอุทัยธานี (เก่า)
พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบความเคลื่อนไหวของข้าศึกว่า พม่าที่เมืองกำแพงเพชร ตั้งค่ายอยู่ที่บ้านโนนศาลาค่ายหนึ่ง บ้านถลกบาตรค่ายหนึ่ง บ้านหลวงค่ายหนึ่ง แล้วแยกกำลังลงไปทางเมืองอุทัยธานีกองหนึ่ง ทรงเกรงว่าข้าศึกจะไปซุ่มดักทาง คอยตีกองลำเลียงข้างใต้เมืองนครสวรรค์ลงมา จึงโปรดให้แบ่งกำลังพลในกองทัพหลวง จำนวน 1,000 คน ให้เจ้าอนิรุทธเทวาบัญชาการทั่วไป แล้วแยกออกเป็นกองน้อยสามกอง กองที่หนึ่งให้ขุนอินทรเดช กองที่สองให้หลวงปลัด กับหลวงสรวิชิต นายด่านเมืองอุทัยธานีบังคับ กองที่สามให้เจ้าเชษฐกุมารบังคับ ยกกำลังลงมาคอยป้องกันการลำเลียงเสบียงอาหาร และเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ซึ่งส่งขึ้นไปจากทางใต้ แล้วแบ่งคนกองอาจารย์ ลงมาช่วยที่เมืองนครสวรรค์ กับให้ลงไปตั้งอยู่ที่บ้านคุ้งสำเภา แขวงเมืองชัยนาทอีกกองหนึ่ง ทางใต้เมืองพิษณุโลก ก็ให้ถอนกองทัพพระยาโหราธิบดี หลวงรักษ์มณเฑียรจากบ้านท่าโรง ลงมาตั้งค่ายที่โคกสลุตในแขวงเมืองพิจิตร ให้พระยานครชัยศรีลงมาตั้งที่โพธิประทับช้าง คอยป้องกันการลำเลียงที่จะขึ้นไปตามลำน้ำแขวงเมืองพิจิตร
ครั้นถึงวันอาทิตย์ แรม 13 ค่ำ เดือน 3 มีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ ลงมาเฝ้าที่ท่าโรง ทรงพระราชดำริจะเปลี่ยนวิธีการรบ คิดรักษาแต่ชัยภูมิที่สำคัญไว้ให้มั่น แล้วดำเนินการตัดเสบียงข้าศึกให้อดอยาก แล้วจึงเข้าตีซ้ำเติม ให้เจ้าพระยาทั้งสองรักษาเมืองพิษณุโลกไว้ ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้เห็นได้ท่วงที ด้วยไทยถอนกำลังลงมาข้างใต้เสียมาก จึงคิดเปลี่ยนวิธีการรบ โดยคิดรวบรวมกำลังลงมาโจมตีกองทัพกรุงธนบุรีให้แตก หรือให้ต้องทิ้งเมืองพิษณุโลก พม่าได้ยกมาตั้งค่ายประชิดค่ายพระยาธรรมา และพระยานครสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านแขก แล้วกรุยทางจะตั้งค่ายโอบต่อลงมา พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จตรวจแนวรบ ตั้งแต่ค่ายบ้านท่าโรงไปจนถึงบ้านแขก มีรับสั่งให้กองทัพพระยาสีหราชเดโชชัย กับกองจมื่นทิพเสนา ยกไปช่วยสมทบพระยานครสวรรค์รักษาค่าย มีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรีอยู่รักษาค่ายหลวง ส่วนพระองค์เสด็จยกกำลังทางเรือลงมาจากท่าโรง ลงมาช่วยรักษาค่ายปากพิง ที่ถูกพม่ายกกำลังเข้าปล้นค่าย ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี เมื่อเห็นว่าพม่าไม่ได้ยกกำลังมาตีค่ายหลวง จึงให้พระยาเทพอรชุน กับพระพิชิตณรงค์อยู่รักษาการ แล้วกลับขึ้นไปเมืองพิษณุโลก
ในห้วงเวลาตั้งแต่วันพุธ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 4 ถึงวันพฤหัสบดี แรม 10 ค่ำ เดือน 4 เป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือน ได้มีการต่อสู้ติดพันกันกับข้าศึกตลอดแนวรบ จากบ้านแขก ท่าโรง ปากพิง โดยเฉพาะที่ปากพิงที่ค่ายคลองกระพวง พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดกำลังลงไปช่วย ให้พระยาสุโขทัยยกหนุนไปตั้งค่ายชักปีกกาถึงกัน และขุดสนามเพลาะให้ติดต่อกับค่ายที่พม่าตี ให้พวกอาจารย์เก่าใหม่และให้หลวงดำเกิงรณภพ คุมกองเกณฑ์หัดไปสมทบพระยาสุโขทัย ให้กองหลวงรักษโยธา หลวงภักดีสงคราม ยกกำลังไปตั้งค่ายประชิดพม่าข้างปากคลองกระพวง ให้หลวงเสนาภักดีคุมพลกองแก้วจินดา ยกไปกระหนาบหลังข้าศึกอีกด้านหนึ่ง กองทัพพระยาสุโขทัย กองหลวงรักษโยธา กองหลวงเสนาภักดี ยกเข้าตีค่ายพม่าที่คลองกระพวงพร้อมกัน ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถไม่แพ้ชนะกัน พระเจ้ากรุงธนบุรีได้มีรับสั่งให้กองทัพเจ้าพระยาอินทรอภัย ซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าโรง และกองมอญพระยากลางเมือง ยกลงมาช่วยรบพม่าที่ปากพิงอีกสองกอง ให้ตั้งค่ายชักปีกกาออกไปจากค่ายใหญ่อีก เป็นระยะทาง 22 เส้น พม่ายกกำลังเข้าตีค่ายไทยแต่ไม่สำเร็จ ทั้งสองฝ่ายจึงตั้งประจัญหน้ากันอยู่ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้ พระยายมราชลงมาจากค่ายวัดจันทร์ โปรดให้ถืออาญาสิทธิ์ บังคับกองทัพไทยที่ตั้งรบกับข้าศึกที่คลองกระพวงทั้งหมด
อะแซหวุ่นกี้ ให้กะละโบ่คุมกำลังมาตีค่ายไทยที่ตั้งอยู่เหนือปากพิง ให้มังแยยางูน้องชาย คุมกำลังข้ามฟาก มาโอบหลังกองทัพหลวงที่ปากพิง ทางด้านตะวันออก ตั้งค่ายรายประชิดกองทัพหลวงหลายค่าย สู้รบกันอยู่หลายวัน พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริเห็นว่า ข้าศึกมีกำลังมากนัก จะตั้งสู้รบอยู่ที่ปากพิงต่อไปจะเสียที ครั้นถึงวันพฤหัสบดี แรม 10 ค่ำ เดือน 4 จึงให้ถอยทัพหลวงจากปากพิง มาตั้งมั่นอยู่ที่บางข้าวตอก แขวงเมืองพิจิตร กองทัพที่ตั้งรักษาตามระยะต่าง ๆ ก็ถอยตามทัพหลวงลงมาโดยสำดับหมดทุกกอง


กระบวนศึกตอนที่ 4
ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี กับ เจ้าพระยาสุรสีห์ เห็นว่าจะรักษาเมืองพิษณุโลกต่อไปไม่ได้ เพราะขัดสนเสบียงอาหาร ถ้าอยู่ช้าไปจะเสียทีแก่พม่า จึงตกลงให้เตรียมการทิ้งเมืองพิษณุโลก ให้ทหารที่ออกไปตั้งค่ายประชิดพม่า ถอยกลับเข้าเมือง ครั้นทราบว่ากองทัพหลวงล่าถอยไปแล้ว จึงให้เจ้าหน้าที่ระดมยิงปืนใหญ่น้อย หนาแน่นกว่าทุกวัน ตั้งแต่เช้าถึงค่ำของวันศุกร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 4 แล้วให้เอาปี่พาทย์ขึ้นไปประโคมตามป้อม ลวงข้าศึกว่าจะเตรียมต่อสู้ในเมืองให้นานวัน แล้วให้จัดกระบวนทัพเป็นสามกอง กองหน้าเลือกพลรบที่มีกำลังแข็งแรง สำหรับตีฝ่าข้าศึก กองกลางคุมครอบครัวราษฎรที่ฉกรรจ์ แม้ผู้หญิงก็ให้มีเครื่องศัตราวุธ สำหรับต่อสู้ทุกคน กองหลังไว้ป้องกันท้ายกระบวน
ครั้นเวลาค่ำ 21 นาฬิกา ให้เปิดประตูเมือง ยกกำลังออกตีค่ายพม่าทางด้านตะวันออก ตีหักออกไปได้แล้วรีบเดินกองทัพไปทางบ้านมุงดอนชมพู ยกกำลังข้ามเขาบรรทัดไปตั้งรวบรวมรี้พลอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์ พม่าล้อมเมืองพิษณุโลกอยู่ 4 เดือน จึงได้เมือง
อะแซหวุ่นกี้ก็ยกกำลังเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองพิษณุโลก และได้ออกประกาศแก่บรรดานายทัพนายกองทั้งปวงว่า ไทยเดี๋ยวนี้ฝีมือเข้มแข็งนัก ไม่เหมือนไทยแต่ก่อน การที่เมืองพิษณุโลกเสียครั้งนี้ จะเสียเพราะฝีมือแกล้วทหารแพ้เรานั้นหามิได้ เขาเหตุอดข้าวขาดเสบียงจึงเสียเมือง และการที่จะมารบเมืองไทยสืบไปภายหน้านั้น แม่ทัพที่มีสติปัญญาแลฝีมือ เพียงเสมอเราและต่ำกว่า อย่ามาทำสงครามตีเมืองไทยเลย จะเอาชนะเขามิได้ แม้นดีกว่าเรา จึงจะมาทำศึกกับไทยได้ชัยชนะ
เมื่ออะแซหวุ่นกี้ได้เมืองพิษณุโลกแล้ว เห็นว่าเสบียงอาหารอัตคัดมาก จึงจัดกำลังสองกอง ให้มังแยยางูคุมมาทางเมืองเพชรบูรณ์ทัพหนึ่ง ให้ไปรวบรวมเอาเสบียงอาหารที่เมืองเพชรบูรณ์ และเมืองหล่มศักดิ์ส่งไป ให้กะละโบ่คุมกำลังอีกกองหนึ่ง ยกมาทางเมืองกำแพงเพชร เพื่อแสวงหาเสบียงอาหารเช่นเดียวกัน เมื่อกำลังทั้งสองกองยกไปแล้ว อะแซหวุ่นกี้ได้รับท้องตราว่า พระเจ้ามังระสิ้นพระชนม์ จิงกูจาราชบุตรได้รับราชสมบัติ มีรับสั่งให้กองทัพกลับไปเมืองอังวะโดยเร็ว อะแซหวุ่นกี้จึงยกกองทัพกลับไปทางเมืองสุโขทัย เมืองตาก ไปออกทางด่านแม่ละเมา และสั่งให้กองทัพกะละโบ่ คอยกลับไปพร้อมกับมังแยยางู
พระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อทราบข่าวว่า อะแซหวุ่นกี้ได้เมืองพิษณุโลกแล้วเลิกทัพกลับไป ก็ทรงโทมนัสพระทัยยิ่งนัก คงเป็นเพราะหวังพระทัยว่า เมื่อทัพพม่าสิ้นเสบียงหมดกำลัง ก็เหมือนอยู่ในเงื้อมมือไทย พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ให้กองทัพติดตามตีข้าศึกเป็นหลายกอง ให้พระยาพิชัย กับพระยาพิชัยสงครามยกไปกองหนึ่ง ให้พระยาทุกขราษฎรเมืองพิษณุโลก หลวงรักษโยธา หลวงอัคเนศรเป็นกองหน้า พระยาสุรบดินทรเป็นกองหลวงยกไปกองหนึ่ง ให้พระยาเทพอรชุน พระยารัตนพิมล พระยานครชัยศรี ยกไปกองหนึ่ง ให้พระยาธิเบศรบดีคุมพลอาสาจาม ยกไปกองหนึ่ง ทั้ง 4 กองนี้ ให้ไปตามตีกองทัพอะแซหวุ่นกี้ ที่กลับไปทางเมืองตาก แล้วให้พระยาพลเทพ จมื่นเสมอใจราษฎร์ หลวงเนาวโชติ ยกไปกองหนึ่ง พระยาราชภักดี ยกไปกองหนึ่ง ไปตามกองทัพมังแยยางู ซึ่งยกไปทางเพชรบูรณ์ ให้พระยานครสวรรค์กับพระยาสวรรคโลก ยกไปตามกองทัพกาละโบ่ ซึ่งยกไปทางเมืองกำแพงเพชร ส่วนกองทัพหลวงอยู่รอรับครอบครัวราษฎร ที่หนีออกมาจากเมืองพิษณุโลก อยู่ 11 วัน แล้วมีรับสั่งให้พระยายมราช มารักษาค่ายที่บางข้าวตอก คอยรวบรวมครอบครัวราษฎรต่อไป ครั้นถึงวันพฤหัสบดี แรม 14 ค่ำ เดือนหก ปีวอก พ.ศ. 2319 ก็เสด็จยกทัพหลวงมาประทับอยู่ที่ค่ายบางแขม แขวงเมืองนครสวรรค์
กองทัพไทยที่ยกติดตามกองทัพมังแยยางูไปที่บ้านนายม ใต้เมืองเพชรบูรณ์ก็เข้าโจมตี ฝ่ายข้าศึกหนีขึ้นไปทางเหนือ เข้าไปในแดนล้านช้าง แล้วกลับพม่าทางเมืองเชียงแสน กองทัพเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ เมื่อทราบว่าพม่าเลิกทัพกลับไป ก็ยกกำลังจากเพชรบูรณ์ไปทางป่าพระพุทธบาท ผ่านแขวงลพบุรี ขึ้นไปตามตีพม่า พระเจ้ากรุงธนบุรีประทับอยู่ที่ค่ายหลวงตำบลบางแขม ครั้นถึงเดือน 7 ปีวอก พ.ศ. 2319 ทรงทราบว่ามีพม่าตั้งอยู่ที่กำแพงเพชร ประมาณ 2,000 คน จึงมีรับสั่งให้กองทัพพระยายมราช เดินบกไปทางฝั่งแม่น้ำด้านทิศตะวันตกกองหนึ่ง ให้กองทัพพระยาราชสุภาวดี ยกขึ้นไปทางฟากตะวันออกกองหนึ่ง ให้พระยานครสวรรค์ ซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ บ้านโคน ใต้เมืองกำแพงเพชร ยกกำลังขึ้นไปสมทบกัน ตีทัพพม่าที่เมืองกำแพงเพชร ส่วนพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปตั้งอยู่ที่ปากคลองขลุง ฝ่ายพม่าได้ยกหนีขึ้นไปทางเหนือ พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จกลับคืนพระนคร เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 7 กองทัพไทยไล่ตามตี กำลังพม่าที่ยังตกค้างอยู่ในไทยจนถึงเดือน 10 ปีวอก จึงขับไล่พม่าออกไปจากบ้านเดิมบางนางบวช แขวงเมืองสุพรรณบุรีต่อกับเมืองนครสวรรค์ หนีออกไปทางด่านเจดีย์สามองค์ สงครามครั้งนี้ได้รบกันตั้งแต่เดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. 2318 ถึงเดือน 10 ปีวอก พ.ศ. 2319 เป็นเวลา 10 เดือน

พม่าตีเมืองเชียงใหม่
ทางพม่า เมื่อพระเจ้าจิงกูจาขึ้นครองราชย์แล้ว เห็นว่าแคว้นลานนาไทย 57 หัวเมือง มีเมืองเชียงใหม่เป็นต้น ยังถือว่าเป็นเมืองขึ้นสำคัญของพม่า พม่าได้อาศัยแว่นแคว้นลานนาไทย จึงสามารถเอาเมืองหลวงพระบาง และเมืองเวียงจันทน์มาอยู่ในอำนาจได้ พระเจ้าจิงกูจาเห็นว่า ไทยชิงเอาหัวเมืองในแว่นแคว้นลานนามาเกือบหมด ยังเหลือเป็นของพม่าอยู่แต่หัวเมืองในลุ่มน้ำโขง คือหัวเมืองเชียงราย และเมืองเชียงแสนเป็นต้น พระเจ้าจิงกูจาจึงให้เกณฑ์กองทัพพม่ามอญ มีกำลังพล 6,000 คน ให้อำมลอกหวุ่นเป็นแม่ทัพ ให้ต่อหวุ่น กับพระยาอู่มอญเป็นปลัดทัพ ยกมาตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อปีวอก พ.ศ. 2319 ให้มาสมทบกับ กองทัพโปมะยุง่วนซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสน พร้อมกับลงมาตีเมืองเชียงใหม่
พระยาจ่าบ้าน ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยาวชิรปราการ เห็นกองทัพพม่ายกมามีมาก เหลือกำลังที่จะต่อสู้ได้ ดังนั้น เมื่อได้มีใบบอกมายังกรุงธนบุรีแล้ว ก็อพยพครอบครัวทิ้งเมืองเชียงใหม่ หนีลงมาเมืองสวรรคโลก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้มีตราสั่งเจ้าพระยาสุรสีห์ ให้คุมกองทัพหัวเมืองเหนือ ขึ้นไปสมทบกับพระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปาง ยกไปตีเอาเมืองเชียงใหม่คืน เมื่อได้เมืองเชียงใหม่คืนแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริว่า เมืองเชียงใหม่นั้นผู้คนมีไม่พอที่จะรักษาเมืองได้ เมื่อกองทัพไทยยกกลับลงมาแล้ว พม่ายกทัพกลับมา ก็จะเสียเมืองเชียงใหม่อีก จึงมีรับสั่งให้ทิ้งเมืองเชียงใหม่เสีย เมืองเชียงใหม่จึงถูกทิ้งร้างไปเป็นเวลา 15 ปี จนในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้กลับตั้งขึ้นอีก
สงครามครั้งนี้นับเป็นสงครามครั้งที่ 10 และเป็นครั้งสุดท้ายที่ไทยรบกับพม่าในสมัยกรุงธนบุรี ต่อมาไทยกับพม่าได้ว่างเว้นสงครามต่อกัน ถึง 8 ปี

การปราบปรามหัวเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
ในระหว่างที่พระเจ้ากรุงธนบุรี ติดรบพุ่งอยู่กับอะแซหวุ่นกี้นั้น พระยาเจ้าเมืองนางรอง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา เกิดวิวาทกับพระยานครราชสีมา แล้วเอาเมืองนางรองไปขอขึ้นกับเจ้าโอ เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งตั้งตัวเป็นอิสระอยู่ในสมัยนั้น พระยานครราชสีมาจึงบอกเข้ามายังกรุงธนบุรีว่า พระยานางรองเป็นกบฎ เมื่อเดือน 4 ปีวอก พ.ศ. 2319
พระเจ้ากรุงธนบุรี จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรี ยกกำลังไปปราบเมืองนางรอง เจ้าพระยาจักรีขึ้นไปถึงเมืองนครราชสีมา ให้กองทัพหน้ายกออกไปตีเมืองนางรอง จับตัวพระยานางรองได้ พิจารณาความเป็นสัตย์ ก็ให้ประหารชีวิตเสีย เมื่อปราบปรามเมืองนางรองเสร็จแล้ว เจ้าพระยาจักรีได้ทราบความว่า เจ้าโอกับเจ้าอินทร์อุปราชเมืองจำปาศักดิ์ เตรียมกองทัพมีกำลังพล 10,000 คนเศษ จะยกมาตีเมืองนครราชสีมา จึงบอกความเข้ามายังกรุงธนบุรี เมื่อต้นปีระกา พ.ศ. 2320 พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพหนุนขึ้นไป แล้วให้เจ้าพระยาทั้งสองไปปราบปรามเมืองนครจำปาศักดิ์เสียด้วย เจ้าโอกับเจ้าอินทร์สู้ไม่ได้ก็หนีลงไปทางใต้ กองทัพไทยตามไปจับได้ที่เมืองโขง (เมืองสีทันดรในปัจจุบัน) คนหนึ่ง ที่เมืองอัตปือ อีกคนหนึ่ง จึงได้เมืองโขลงและเมืองอัตปือมาเป็นของไทยในครั้งนั้น
เมื่อเจ้าพระยาทั้งสองได้เมืองนครจำปาศักดิ์แล้ว จึงให้ไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองเขมรป่าดง ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองนครจำปาศักดิ์ กับเมืองนครราชสีมาทางตอนใต้ ได้แก่ เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองขุขัน ทั้งสามเมืองได้พากันมาอ่อนน้อม ยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของไทยตั้งแต่นั้นมา เมื่อเสร็จราชการกองทัพกลับมาถึงกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปูนบำเหน็จแก่แม่ทัพนายกองที่มีความชอบ เลื่อนยศเจ้าพระยาจักรีขึ้นเป็นสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก มีเครื่องยศอย่างเจ้ากรม และคงตำแหน่งเป็นสมุหนายกอย่างเดิม

ตีกรุงศรีสัตนาคนหุต
ในปีจอ พ.ศ. 2321 พระวอ เสนาบดีเมืองเวียงจันทน์ เกิดวิวาทรบพุ่งกับเจ้าเวียงจันทน์ พระวอสู้ไม่ได้จึงหนีมาอาศัยอยู่กับเจ้านครจำปาศักดิ์ แล้วพาสมัคพรรคพวกมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ดอนมดแดงริมแม่น้ำมูล เหนือเมืองนครจำปาศักดิ์ อันเป็นที่ตั้งของจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน เมื่อไทยไปตีเมืองจำปาศักดิ์ พระวอได้มาอ่อนน้อมขอขึ้นต่อกรุงธนบุรี ครั้งกองทัพไทยยกทัพมาแล้ว เจ้าเวียงจันทน์ให้พระยาสุโพ ยกกำลังลงมาตีเมืองดอนมดแดง แล้วจับพระวอฆ่าเสีย พระเจ้ากรุงธนบุรีทราบก็ทรงขัดเคือง จึงมีรับสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ เมื่อเดือนอ้าย ปีจอ พ.ศ. 2321
กองทัพไทยยกออกจากกรุงธนบุรี ขึ้นไปตั้งประชุมพลที่เมืองนครราชสีมา รวบรวมกำลังพลได้ 20,000 คน สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกไปทางหนึ่ง ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ลงไปเกณฑ์กองทัพเรือที่กรุงกัมพูชา มีกำลังพล 10,000 คน ยกไปทางแม่น้ำโขงอีกทางหนึ่ง โดยขุดคลองอ้อมลีผี มาถึงนครจำปาศักดิ์แล้วเข้าตีเมืองนครพนม และเมืองหนองคาย ส่วนกำลังทางบกก็เข้าตีหัวเมืองรายทางที่ขึ้นกรุงศรีสัตนาคนหุต ไปตามลำดับ แล้วบรรจบกำลังกันที่เมืองเวียงจันทน์
ครั้งนั้น เจ้าหลวงพระบางได้ทราบว่าไทยยกกำลังทางบกทางเรือ ขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทน์ พิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้านิ่งเฉยอยู่ ถ้าไทยได้เมืองเวียงจันทน์แล้ว คงจะเลยไปตีเมืองหลวงพระบางด้วย และด้วยเหตุอีกประการหนึ่งคือ เจ้าหลวงพระบางนั้นเป็นอริกับเจ้าเวียงจันทน์มาแต่ก่อน ดังนั้นจึงได้แต่งทูตมาหาสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก รับอาสาจะให้กองทัพหลวงพระบาง ลงมาตีเมืองเวียงจันทน์ด้านเหนือ และจะขอเอากรุงธนบุรีเป็นที่พึ่งต่อไป สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก จึงให้กองกำลังของพระยาเพชรบูรณ์กำกับทัพเมืองหลวงพระบาง เข้าตีทางด้านเหนือของเมืองเวียงจันทน์
ฝ่ายเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ตั้งแต่ทราบว่ากองทัพไทยยกขึ้นไปก็เตรียมต่อสู้ โดยได้แต่งกองทัพ ให้มาคอยยับยั้งกองทัพไทย ตามหัวเมืองและตามด่านที่สำคัญหลายแห่ง แต่ก็พ่ายแก่ไทยแตกหนีไปตามลำดับ จนกองทัพกรุงธนบุรีขึ้นไปถึงเมืองเวียงจันทน์ แล้วเข้าล้อมเมืองไว้ ได้รบพุ่งกันอยู่ถึง 4 เดือน เห็นเหลือกำลังจะรักษาเมืองเวียงจันทน์ไว้ได้ จึงพาเจ้าอินท์เจ้าพรหมราชบุตร และคนสนิทหนีไปเมืองคำเกิด ทางต่อแดนญวน กองทัพไทยก็เข้าเมืองเวียงจันทน์ได้ จับได้เจ้าอุปราช เจ้านันทเสน และญาติวงศ์เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต กับทั้งผู้คนพาหนะเครื่องศัตราวุธ และทรัพย์สิ่งของทั้งปวงเป็นอันมาก
ฝ่ายชนะศึกครั้งนี้ได้เมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์กับหัวเมืองทั้งปวง มาเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ขยายพระราชอาณาเขตทางด้านทิศตะวันออก และด้านทิศเหนือออกไปจนจดเขตแดนญวน และเขตแดนเมืองตังเกี๋ย และเมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกกองทัพกลับมากรุงธนบุรี ก็ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร แก้วมรกตกับพระบาง จากเมืองเวียงจันทน์มายังกรุงธนบุรีด้วย




ตีกรุงกัมพูชา
ในปีชวด พ.ศ. 2323 กรุงกัมพูชาเกิดเป็นจลาจล เนื่องด้วยเดิมนักองตนกับองค์นนท์ ชิงราชสมบัติกัน ต่อมาปรองดองกันได้ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงตั้งนักองนนท์ เป็นสมเด็จพระรามราชาครองกรุงกัมพชา ให้นักองตนเป็นมหาอุปโยราช และให้นักองธรรมเป็นมหาอุปราช ต่อมามหาอุปราชถูกลอบฆ่าตาย และมหาอุปโยราช ก็เป็นโรคปัจจุบัน สิ้นชีพลงอีกองค์หนึ่ง บรรดาขุนนางเขมรที่เป็นพวกของมหาอุปโยราช พากันเข้าใจว่า สมเด็จพระรามราชาเป็นผู้ฆ่าทั้งสององค์นั้น จึงคบคิดกันเป็นกบฎ จับสมเด็จพระรามราชาถ่วงน้ำเสีย กรุงกัมพูชาก็สิ้นเจ้านายที่จะปกครอง คงเหลือแต่นักองเองบุตรของนักองตนที่เป็นมหาอุปโยราชยังเล็ก อายุได้ 4 ขวบ ฟ้าทะละหะชื่อมู จึงว่าราชการกรุงกัมพูชาแทนนักองเองต่อมา ในตอนแรก็ยอมขึ้นอยู่กับไทยเหมือนก่อน ครั้งต่อมา ฟ้าทะละหะตั้งตัวเป็นเจ้ามหาอุปราช แล้วฝักฝ่ายกับญวน ประสงค์จะเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาเสียเอง
พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริว่า จะปล่อยกรุงกัมพูชาไว้ไม่ได้ จึงมีรับสั่งให้เเกณฑ์กองทัพมีกำลังพล 10,000 คน ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ถืออาญาสิทธิเป็นแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นแม่ทัพหน้า เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์เป็นกองหนุน พระยากำแหงสงคราม พระยานครราชสีมา เป็นเกียกกาย พระยานครสวรรค์เป็นยกกระบัตร กรมขุนรามภูเบศรเป็นกองหลัง พระยาธรรมาเป็นกองลำเลียง ยกกำลังไปตีกรุงกัมพูชา และมีรับสั่งว่า เมื่อตีกรุงกัมพูชาได้แล้ว ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก อภิเษกเจ้าฟ้ากรมขุมอินทรพิทักษ์ ให้ครองกรุงกัมพูชาต่อไป
การเดินทัพไปครั้งนี้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก นำกำลังไปตั้งอยู่ที่เมืองเสียมราฐ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ยกกำลังไปทางทะเลสาบ ด้านตะวันตกไปตีเมืองบันทายเพชร อันเป็นราชธานีกรุงกัมพูชา ให้กองทัพเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ กองทัพพระยากำแหงสงครามยกหนุนไปด้วย ให้กองทัพกรมขุนรามภูเบศร์ กองทัพพระยาธรรมายกไปทางริมทะเลสาบฟากตะวันออก ไปตั้งอยู่ที่เมืองกำปงสวาย
ฝ่ายฟ้าทะละหะ รู้ว่ากองทัพไทยยกลงไป เห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ จึงทิ้งเมืองบันทายเพชร อพยพครอบครัวไปอยู่เมืองพนมเปญ แล้วไปขอกองทัพญวนที่เมืองไซ่ง่อน ญวนได้ยกทัพเรือมาที่เมืองพนมเปญ กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ยกตามลงไป ทราบว่ากองทัพญวนมาตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปญ จึงบอกมายังสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แล้วตั้งค่ายคอยคำสั่งแม่ทัพใหญ่อยู่ ยังไม่ได้รบกับญวน ส่วนเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ก็ยกกำลังไปตั้งอยู่ที่เมืองบันทายเพชร
การสงครามด้านเขมรได้หยุดอยู่เพียงนี้ ด้วยทางกรุงธนบุรีเกิดเป็นจลาจล สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ต้องเลิกทัพกลับมาปราบยุคเข็ญ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้อิสรภาพของไทยจากข้าศึกที่มาย่ำยีไทยอย่างยับเยินที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้ระยะเวลาอันรวดเร็ว นับเป็นพระอัจฉริยภาพอันสูงส่ง ทรงรวบรวมไทยให้กลับเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขยายขอบขัณฑสีมาออกไปทั่วทุกทิศเป็นที่คร้ามเกรงของบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่มีอาณาเขตติดต่อกับไทย เป็นรากฐานให้ไทยดำรงความยิ่งใหญ่ในแหลมทอง ตราบเท่าทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น: